×

ชัชชาติลงพื้นที่ชุมชนแออัดใจกลางทองหล่อ ตั้งเป้าพัฒนาคุณภาพชีวิต นำระบบออมเงินกลุ่มมาช่วย เพื่อจัดตั้งบ้านมั่นคง ยืนยันไม่ได้ช่วยคนผิด แต่ช่วงเปลี่ยนผ่านต้องดูแลกัน

โดย THE STANDARD TEAM
29.05.2022
  • LOADING...
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

วันนี้ (29 พฤษภาคม) ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) พร้อมด้วย ดร.ยุ้ย-เกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ลงพื้นที่ชุมชนหลังสถานีตำรวจนครบาล (สน.) ทองหล่อ เขตวัฒนา เพื่อสำรวจพื้นที่ชุมชนแออัดที่ไม่ได้รับการจดทะเบียนอย่างถูกต้อง และสำรวจคลองเป้ง ซึ่งอยู่ติดกับชุมชน พร้อมทั้งพบปะประชาชนที่มาฉีดวัคซีน

 

ชัชชาติระบุว่า ทองหล่อถือเป็นพื้นที่ใจกลางเมือง แต่กลับมีชุมชนแออัดที่ซ่อนอยู่ 3-4 แห่ง เช่น ชุมชนหลัง สน.ทองหล่อ ชุมชนริมคลองเป้ง ชุมชนลีลานุช มีประชากรรวมกันอยู่ 300-400 หลังคาเรือน ซึ่งหลักๆ หลายชุมชนอยู่อย่างผิดกฎหมาย ไม่มีโฉนด รุกล้ำพื้นที่ลำรางสาธารณะ และกลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนที่ขับเคลื่อนเมืองที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เอกมัย ทองหล่อ เช่น อาชีพแม่บ้าน พนักงานรักษาความปลอดภัย (รปภ.) 

 

ทั้งนี้ จะต้องพยายามปรับให้คนในชุมชนไปอยู่ในที่ที่ถูกกฎหมาย มีที่อยู่อาศัยที่มั่นคง โดยเริ่มจากการออมในชุมชน จากนั้นจึงขยับขยายไปหาที่ที่ถูกกฎหมาย

 

ชัชชาติระบุต่อว่า ช่วงเปลี่ยนถ่ายที่ชาวบ้านจะต้องหาพื้นที่ถูกกฎหมายให้คนในชุมชนก็ต้องดูแลคุณภาพชีวิตด้วย โดยได้เชิญนักวิชาการจากสถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาดูพื้นที่ เพราะสาธารณสุขใน กทม. มีความซับซ้อน มีหลายระดับ แต่หน้าที่ กทม. คือการทำงานขั้นปฐมภูมิ ซึ่งเป็นด่านแรกที่มาเผชิญปัญหา ตอนนี้ กทม. มีศูนย์สาธารณสุขที่มีอยู่ 69 แห่งทั่ว กทม. แต่ศูนย์สาธารณสุขก็อยู่ไกลชุมชน ดังนั้นแนวนโยบายคือจะต้องนำการให้บริการสาธารณสุขลงมาในพื้นที่ชุมชน โดยคนในชุมชนไม่ต้องไปที่สาธารสุข แต่ปัญหาคือบุคลากรของ กทม. ไม่ได้มีจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องมีเครือข่ายร่วมกับคลินิกชุมชนอบอุ่น แต่ที่ผ่านมาอาจมีปัญหาเรื่องการทุจริตอยู่บ้าง 

    

ทั้งนี้ ชัชชาติมองว่า หากจะให้บริการที่ทั่วถึงจะต้องมี 3 แนวทาง คือ มีเครือข่ายชุมชนอบอุ่น โดยร่วมกับภาครัฐ เอกชน และคนในชุมชน เพื่อมาดูแลสุขภาพในเบื้องต้น เช่น การฉีดวัคซีนในชุมชน ตรวจโควิด และหลังจากนี้จะหารือกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เพราะเป็นเจ้าของเงิน ว่าจะเบิกจ่ายอย่างไรให้สะดวก และ กทม. จะทำหน้าที่ร่วมได้อย่างไร โดยให้สำนักอนามัยเข้าไปดูแลในเรื่องของคุณภาพ

 

แนวทางที่ 2 คือใช้เทคโนโลยีเทเลเมดิซีน (Telemedicine) มาเชื่อมต่อในการดูแลผู้ป่วยจากระบบทางไกล

 

แนวทางที่ 3 คือการขยายเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข หรือ อสส. ให้เข้มแข็งขึ้นและเพียงพอกับพื้นที่และจำนวนประชากรของ กทม. ซึ่งถือเป็น 3 แนวทางในการบริหารสาธารสุขของ กทม. ได้

 

ชัชชาติเชื่อว่าจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการให้มากขึ้น ด้วยการลงพื้นที่ดูแลประชาชนให้ใกล้ชิดชาวบ้านมากขึ้น และปรับเปลี่ยนเวลาการให้บริการให้เหมาะสมกับชุมชนแต่ละพื้นที่ รวมถึงเพิ่มแพทย์เฉพาะทางที่ดูแลคนเมือง เช่น โรคซึมเศร้า โรคผู้สูงอายุ ออฟฟิศซินโดรม ให้มากขึ้น เพราะที่ผ่านมาประชาชนไม่มั่นใจระบบสาธารณสุขในด่านแรกของ กทม. จึงไปรักษาตามโรงพยาบาลขนาดใหญ่และโรงพยาบาลเอกชน

 

ชัชชาติยังย้ำด้วยว่า ต้องดูด้านคุณภาพชีวิต ขยะ น้ำ ของคนในชุมชนด้วย อย่างคุณภาพน้ำก็ต้องดูแล โดยใช้วิธีการบำบัดน้ำเสียและให้ชุมชนช่วยกันดูแล โดยหลังจากนี้จะมีการไปหารือ ทั้งนี้ ต้องร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน องค์การมหาชน หรือ พอช. และการเคหะแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้ชาวชุมชนแออัดเกิดการออมเงิน รวมตัวเป็นกลุ่มออมเงิน เพื่อจัดหาพื้นที่จัดตั้งหมู่บ้านมั่นคง โดยจะเริ่มต้นจากพื้นที่ของราชการที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ อาจไม่ได้ใกล้ทองหล่อ แต่ก็ขยับออกไปไม่ไกล แต่ยังไม่สามารถตอบได้ในเรื่องของกรอบระยะเวลา เพราะต้องแล้วแต่สถานการณ์ 

 

สำหรับการลงพื้นที่ของชัชชาติวันนี้ หนึ่งในชาวบ้านเป็นคุณยายอายุประมาณ 70 ปี ได้เดินออกมาร้องขอให้ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. ช่วย บอกว่าเธออยู่ใจกลางเมือง แต่กลับไม่มีน้ำใช้ ต้องอาศัยต่อท่อประปามาจาก สน.ทองหล่อ เข้าใจดีว่าพื้นที่ชุมชนไม่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงมาดูพื้นที่และช่วยเหลือ

 

ขณะที่ชาวบ้านบางคนที่ระบุว่าเป็นแฟนคลับ นำป้ายไวนิลมาติดไว้ที่ตัวบ้านตั้งแต่ช่วงการหาเสียง พร้อมระบุว่า อยากให้ชัชชาติช่วยหาทางออกให้กับชาวบ้านในชุมชน

 

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising