หลากหลายเหตุการณ์ในช่วงปีที่ผ่านมา สร้างความหวาดกลัวให้กับเหล่านักลงทุนในโลกคริปโตไม่น้อย ตั้งแต่กระแสโปรเจ็กต์ GameFi ที่เป็นการผนวกเอา DeFi และ Game เข้าด้วยกัน บวกกับการเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้เล่นด้วยระบบซื้อขาย NFT และให้ Reward Token ถือกำเนิดเป็น Play to Earn (P2E) Model ซึ่งได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ไม่สามารถรักษาความคงเส้นคงวาให้กับระบบได้ จนเกิดการล้มหายตายจากไป
หรือจะเป็นกระแส DeFi 2.0 ที่เป็นเหตุการณ์ไม่โปร่งใสของทีมผู้พัฒนาจาก Wonderland อย่าง Michael Patryn หรือ Sifu ผู้ดำรงตำแหน่ง Treasury Manager กับข้อหาที่เคยทุจริตกับโปรเจ็กต์ก่อนหน้า แต่กลับได้ดูแลเรื่องเงินๆ ทองๆ ของแพลตฟอร์ม แม้ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะลงความเห็นให้ปลด Sifu ออกจากการดูแลส่วนนี้ แต่ก็ถูกเพิกเฉยกลับมา จึงสร้างความไม่พอใจให้กับผู้ใช้งานเป็นอย่างมาก
ท้ายที่สุดแพลตฟอร์มก็ค่อยๆ ลดระดับความน่าสนใจลง จนไม่เป็นที่นิยมไปนั่นเอง หรือกระแสการทิ้งโปรเจ็กต์ไปเสียดื้อๆ ของ Andre Cronje ผู้ก่อตั้ง Yearn Finance ที่ประกาศวางมือจากโปรเจ็กต์ที่กำลังทำอยู่บนเครือข่ายของ Fantom และล่าสุด การระเบิดของ UST ที่เป็น Stablecoin ที่ตรึงราคาผ่านการใช้อัลกอริทึมของ Terra แต่ไม่สามารถตรึงราคาเอาไว้ได้ ส่งผลให้เหรียญแทบจะไร้มูลค่า โดยเหตุการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดสร้างผลลัพธ์ในเชิงลบให้กับโลก DeFi เป็นอย่างมาก สังเกตจาก TVL บนระบบที่ลดลงกว่าครึ่ง ประกอบกับสถานการณ์รอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นสงครามหรือแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ก็ยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ลงอีกทวีคูณ
ภาพแสดง TVL บนระบบ DeFi จาก DeFiPulse ที่เคยพุ่งสูงถึง 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ปัจจุบันเหลือ 5.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
DeFi ตอนนี้ยังน่าสนใจอยู่หรือเปล่า?
คำถามนี้อาจเกิดขึ้นในหัวของนักลงทุนหลายคน ต้นเหตุจากความเสียหายผ่านเหตุการณ์ข้างต้น ทำให้เรารู้สึกไม่ปลอดภัยกับการใช้ระบบนี้ รูปแบบนี้ พร้อมทั้งเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่อาจนำมาซึ่งกฎการควบคุมที่เข้มงวดและรุนแรงขึ้นด้วย สุดท้ายการกลับไป CeFi อาจดูมีความปลอดภัยมากกว่าหรือไม่?
คำถามข้างต้นต้องย้อนกลับไปช่วงที่เกิดระบบธนาคารขึ้นในยุคแรก ที่มีระบบฝากถอนเงิน ปล่อยกู้ และระบบการลงทุนในรูปแบบอื่นๆ คนจำนวนมากยังไม่เข้าใจถึงการทำธุรกรรมทางการเงินในรูปแบบดังกล่าว โดยก่อนหน้าจะมีระบบเหล่านี้มีการฉ้อโกงและหลอกลวงเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก จนถึงยุคที่เรามีธนาคาร สถาบันการเงินที่น่าเชื่อถือ มีชื่อเสียง ผู้คนเข้าใจถึงรูปแบบการทำธุรกรรม ทำให้การหลอกลวงเกิดได้ยากมากขึ้น ทั้งสองยุคต่างใช้เวลาในการเปลี่ยนถ่ายนานนับหลายทศวรรษ จนทุกวันนี้ระบบการเงินที่ถูกพัฒนาให้ใช้จ่ายเงินเหล่านั้นในรูปแบบของดิจิทัลผ่านการจ่ายในรูปแบบอื่นๆ อย่าง PayPal หรือที่สร้างความสะดวกอย่างมากในประเทศไทยอย่างระบบ QR Code เอง แต่กลับใช้ระยะเวลาเปลี่ยนถ่ายมาสู่ระบบนี้ด้วยระยะเวลาน้อยกว่ามาก เหตุผลอันดับต้นๆ มาจากความเข้าใจและความง่ายในการเข้าถึง ที่ผ่านยุคในการเกิดการยอมรับมาแล้ว ทำให้ผู้คนพร้อมที่จะเรียนรู้กลไกเหล่านี้ไปพร้อมกับการพัฒนาระบบให้ดีขึ้นไปด้วย
DeFi เองนั้นนับว่ายังอยู่ในช่วงวัยที่เป็นเด็กทารก การพัฒนาในยุคแรกเราจะเห็นหลายๆ โปรเจ็กต์ที่พัฒนาในลักษณะที่ต้องการ Quick Win ด้วยการเร่งสร้างแพลตฟอร์มให้เสร็จและใช้งานได้ รวมถึงออกแบบโมเดลที่ดึงดูดผู้ใช้งานให้ดูน่าสนใจ แต่กลับไม่สามารถคงอยู่ได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว ยกตัวอย่างเช่น GameFi หลายโปรเจ็กต์ที่ตัวเกมถูกสร้างจากคนบนโลกการเงินดั้งเดิม สร้างให้น่าสนใจ เล่นแล้วได้เงิน โดยที่เงินเหล่านั้นก็มาจากการที่เกมนั้นเสกขึ้นมาจ่ายเอง สุดท้ายเมื่ออุปทานของเงินเสกมีมหาศาลจนล้น แต่ไม่มีอุปสงค์มากพอรองรับ เงินก็หมดมูลค่า และเกมก็จะพังลงไป
ในยุคต่อจากนี้เราจะได้เห็นบริษัทเกมจริงๆ มาพัฒนาเกมบนโลก DeFi โดยที่มีความสนุกของเกมเป็นที่ตั้ง ซึ่งเป็นพื้นฐานของการสร้างเกมตั้งแต่ต้น โดยเราจะเพิ่มโมเดลอื่นๆ ที่เป็นคุณลักษณะเด่นในโลกบล็อกเชนเข้าไป ก็เป็นเพียงตัวเลือกเสริมความแข็งแกร่งของระบบ อันจะกลายเป็นการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนในระยะยาว นี่เป็นเพียงแค่ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการของโปรเจ็กต์บนโลก DeFi ซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดด
ความหวาดกลัวปกคลุม DeFi แล้ว Regulator ควรอยู่ตรงไหน?
เชื่อว่าหลายคนยังติดกับคำโปรยในเรื่องของ Decentralized Finance is killing Centralized Finance ซึ่งตามภาพความจริงมันเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากมาก จากระบบแบบดั้งเดิมบน CeFi เราจะคุ้นเคยกับผลิตภัณฑ์ที่มาจากระบบธนาคาร อย่างการฝาก ถอน กู้ ลงทุน เป็นต้น ซึ่งบน DeFi เองก็พยายามสร้างผลิตภัณฑ์เหล่านี้เช่นกัน เพียงแต่ดึงให้มาอยู่บนโลกสินทรัพย์ดิจิทัลและเทคโนโลยีของการกระจายศูนย์ แต่เพราะด้วยคำว่า Decentralized นี่เอง ทำให้ความรับผิดชอบทุกอย่างถูกผลักมาอยู่ที่ผู้ใช้ทั้งหมด ไม่เหมือนบน Centralized ที่ยังมีพนักงานและระบบกลางคอยช่วยเวลาเกิดปัญหา จึงทำให้ผู้ใช้ส่วนใหญ่พยายามผลักเอาอำนาจเก่าที่เกิดจากเหล่า Regulator ออก เพียงเพราะไม่ต้องการให้ตัวกลางมาคอยควบคุมผลประโยชน์ที่ควรจะได้รับ และผลกระทบก็เกิดกับนักลงทุนรายย่อยให้เจ็บหนักมานักต่อนัก
คำถามนี้เราต้องแยกก่อนว่าระบบ ณ ปัจจุบัน เราไม่ได้ถูกแยกออกจากระบบเดิมอย่างเป็นเอกเทศ เรายังต้องพึ่งความสะดวกจากระบบเก่าค่อนข้างมาก เพราะฉะนั้น Regulator จะยังคงบทบาทในลักษณะเดิม ไม่เปลี่ยนแปลง เพียงต้องเพิ่มกฎให้ครอบคลุมไปถึงผลิตภัณฑ์บนโลก DeFi เท่านั้นเอง ซึ่งหน่วยงานเหล่านั้นกระทำตามหน้าที่ได้ถูกต้อง แต่การออกกฎบนโลกของ DeFi ยังคงเป็นเรื่องที่ทำได้ยากและต้องศึกษาหลายขั้นตอน อีกทั้งปัจจุบันยังไม่มีกฎเกณฑ์การควบคุมในมาตรฐานเดียวกัน ทำได้เพียงออกกฎเกณฑ์ตามสถานการณ์และตามพื้นที่ที่เกิดผลกระทบเท่านั้น โดยหากกฎเกณฑ์ถูกควบคุมด้วยหลักเดียวกับ CeFi ระบบ DeFi คงไม่ต่างอะไรจากระบบเดิม เพียงแค่เปลี่ยนโครงสร้างเท่านั้น แต่ถ้าเพิ่มคุณสมบัติบางประการ ช่วยให้กฎเกณฑ์มีความยืดหยุ่น เพื่อเอื้อต่อการสร้างนวัตกรรมทางการเงินร่วมกันระหว่างนักพัฒนาและนักเศรษฐศาสตร์การเงิน การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จะไม่ใช่เรื่องยาก
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานในการกำกับดูแลไม่ควรจะกำกับดูแลเพียงอย่างเดียว ถ้าเป้าหมายหลักของหน่วยงานมุ่งเน้นเรื่องการกำกับดูแลโดยไม่ส่งเสริมให้เกิดการเติบโต จะเป็นการทำลายโอกาสของการพัฒนาในเชิงเทคโนโลยีและนวัตกรรมไปโดยปริยาย
สำหรับคำตอบที่เขียนไว้ข้างต้น DeFi ยังคงเป็นนวัตกรรมที่น่าสนใจที่มาพร้อมทั้งโอกาสและความเสี่ยงที่สูง อีกทั้งยังต้องพึ่งระบบ Centralized ที่มีเหล่า Regulator คอยดูแลอยู่ ฉะนั้นสิ่งที่จะทำให้ DeFi ไปได้ดี ไปได้ไกล ไม่ใช่เพราะนวัตกรรมที่ถูกพูดถึงกันว่าสุดยอด แต่เป็นการยอมรับและร่วมมือจากทั้งฝั่งผู้เชื่อในระบบ Decentralized และมีผู้เชี่ยวชาญจากระบบ Centralized หาทางแก้อย่างประนีประนอมร่วมกัน จึงจะสามารถทำให้ระบบเหล่านี้เติบโตไปได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืนในอนาคต