×

‘ยูโอบี’ แนะนักลงทุนกระจายความเสี่ยงในสินทรัพย์ที่หลากหลาย เลี่ยงความผันผวนจากวิกฤตยูเครน

28.05.2022
  • LOADING...
UOB

ยูโอบีมองความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนเสี่ยงยืดเยื้อ สร้างความผันผวนในสินทรัพย์เสี่ยง แนะนักลงทุนเร่งกระจายการลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Multi-Asset) เพื่อคว้าโอกาสในยามที่ตลาดฟื้นตัว 

 

ยุทธชัย เตยะราชกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บุคคลธนกิจ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย กล่าวว่า แม้ว่าสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ผลกระทบส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับรัสเซีย เนื่องจากพันธมิตรชาติตะวันตกส่วนใหญ่ใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ แต่ผู้ได้รับผลกระทบรองลงมาคือยุโรป เนื่องจากยุโรปต้องพึ่งพาน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย ซึ่งมีแนวโน้มที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และเศรษฐกิจชะลอตัวในประเทศแถบยุโรป

 

ขณะที่สหรัฐอเมริกาแม้ว่าได้จำกัดการค้า การพึ่งพาน้ำมันและก๊าซจากรัสเซีย และมีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อย แต่หากเกิดสงครามที่ยืดเยื้อจนอาจจะนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนเป็นจำนวนมาก ก็คาดว่าอาจมีแรงเทขาย และแรงกดดันด้านราคาในอุตสาหกรรมพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ สำหรับสถานการณ์นี้การคว่ำบาตรจะมีมากขึ้น และเศรษฐกิจรัสเซียจะถูกแยกออกจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก

 

“เมื่อมองย้อนกลับไปที่เหตุการณ์ขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนในอดีต เช่น สงครามอ่าว สงครามอัฟกานิสถาน สงครามอิรัก และวิกฤตไครเมียในปี 2014 สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือ ตลาดปรับตัวลงในช่วงที่คาดว่าจะเกิดสงคราม และตลาดมีแนวโน้มที่จะลดลงถึงจุดต่ำสุดเมื่อสงครามเริ่มต้นขึ้น ประเด็นสำคัญของการวิเคราะห์นี้คือ ความเสี่ยงจากเหตุการณ์ทางความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนในอดีตส่วนใหญ่จะผ่านไปโดยไม่มีผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยะยาว” ยุทธชัยระบุ

 

ยุทธชัยกล่าวอีกว่า ในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้ออย่างต่อเนื่อง สินทรัพย์ทางการเงินเกิดแรงเทขาย ความผันผวนเพิ่มขึ้นในสินทรัพย์เสี่ยงเช่นนี้ ถือเป็นเวลาที่เหมาะสมที่นักลงทุนจะกระจายการลงทุนผ่านสินทรัพย์ที่หลากหลาย (Multi-Asset) ซึ่งจะช่วยบริหารจัดการความเสี่ยงและคว้าโอกาสในยามที่ตลาดฟื้นตัวได้  

 

โดยนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้น้อยไม่ต้องการให้มูลค่าเงินของพวกเขาผันผวนมากนัก สามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากผลของวิกฤตการณ์รัสเซีย-ยูเครน เช่น 

 

  1. เลือกลงทุนในพันธบัตรอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Bonds) และลดระยะเวลาของพอร์ตการลงทุน แต่ให้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เช่น ตราสารหนี้เพื่อส่งเสริมความยั่งยืน เช่น Green Bonds เนื่องจากหลังจากการประชุม COP26 ทำให้เกิดโอกาสทางธุรกิจมากมายสำหรับธุรกิจที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ซึ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับนักลงทุนในระยะยาว

 

  1. ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงสร้างพื้นฐาน อสังหาริมทรัพย์ และทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT) เป็นอีกวิธีการในการกระจายแหล่งรายได้ การลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เหล่านี้สามารถสร้างรายได้ให้กับนักลงทุน ดังนั้นนักลงทุนสามารถพิจารณาสินทรัพย์เหล่านี้นอกเหนือจากตราสารหนี้และตราสารทุนทั่วไป เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างรายได้

 

  1. ปัจจัยเชิงโครงสร้างระยะยาว และเมกะเทรนด์ในระยะยาวก็เป็นสิ่งสำคัญที่นักลงทุนควรพิจารณาด้วยเช่นกัน ปัจจัยขับเคลื่อนเหล่านี้ ได้แก่ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) หุ่นยนต์ และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นสิ่งที่ยังคงพัฒนาต่อไปโดยไม่เกี่ยวกับผลของสงครามในครั้งนี้ และกระบวนการ Digitalisation ของโลกยังคงดำเนินต่อไป กลุ่มการดูแลสุขภาพ (Health Care) เป็นอีกหนึ่งเมกะเทรนด์ที่น่าจับตามอง เนื่องจากมีประชากรสูงอายุทั่วโลก ความเจ็บป่วยและโรคภัยไข้เจ็บจำนวนมากมายที่ยังคงระบาดไปทั่วโลก

 

ยุทธชัยกล่าวว่า สำหรับนักลงทุนที่มองหาโอกาสการลงทุนและรับความเสี่ยงได้สูง การลงทุนในกลุ่มการเงินของสหรัฐฯ และยุโรปยังคงน่าสนใจ เพราะท้ายที่สุดแล้วธนาคารกลางทั่วโลกจะเริ่มขึ้นอัตราดอกเบี้ย และส่วนต่างของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) จะช่วยเพิ่มความสามารถในการทำกำไรให้กับธนาคารเหล่านี้ได้ 

 

นอกจากนี้ทองคำและพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ยังเป็นเป็นทรัพย์สินที่นักลงทุนนิยมถือครองในช่วงที่สถานการณ์ไม่แน่นอนและมีการปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ในขณะที่มีคำถามถึงความแข็งแกร่งของเงินดอลลาร์สหรัฐ ทองคำมักจะเป็นแหล่งเก็บมูลค่าและโอกาสที่นักลงทุนควรคำนึงถึง เป็นสินทรัพย์สำหรับนักลงทุนที่มองหาความปลอดภัย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X