หลังจาก Tesla ตัดสินใจจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อ ‘ประกอบกิจการขายรถยนต์ไฟฟ้า’ ในประเทศไทย แน่นอนว่าน่าจะทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในไทยคึกคักขึ้นมาไม่มากก็น้อย
แต่ในแง่ผลกระทบต่อธุรกิจอื่นๆ ในไทยที่อยู่ในซัพพลายเชนของ EV จะมีมากน้อยเพียงใดอาจยังต้องติดตาม เพราะคำถามสำคัญสุดคือ ท้ายที่สุดแล้วการเข้ามาของ Tesla จะเป็นเพียงแค่การเข้ามาตั้ง ‘โชว์รูม’ นำรถยนต์ที่ผลิตจากต่างประเทศเข้ามาขาย หรือจะตัดสินใจตั้งโรงงานผลิตในประเทศไทยกันแน่
สุนทร ทองทิพย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลในตอนนี้ดูเหมือนว่าการเข้ามาของ Tesla จะยังเป็นเพียงการนำเข้ารถยนต์ EV ที่ผลิตจากโรงงานในจีน และนำเข้ามาขายในไทยเท่านั้น ดังนั้นสิ่งที่ต้องตามต่อคือ Tesla จะตัดสินใจตั้งโรงงานในไทยด้วยเลยหรือไม่
“การตั้งโรงงานผลิตในไทยมีข้อดีคือ จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเต็มที่ใน 2 ปีแรก ทั้งส่วนลดภาษีนำเข้าและภาษีสรรพสามิต”
ทั้งนี้ หากเป็นการตั้งโรงงานจริง บริษัทที่จะได้อานิสงส์จากการเข้ามาของ Tesla ก็น่าจะมีหลากหลายส่วน เช่น นิคมอุตสาหกรรมที่ขายที่ดินให้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ที่ใช้ในรถ EV และสถานีชาร์จ ส่วนผู้ที่ได้ประโยชน์ทางอ้อม เช่น ธุรกิจสถานีชาร์จ ท่าเรือนำเข้าและส่งออก เป็นต้น
ในมุมกลับกันผู้ที่อาจจะเสียประโยชน์คือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาป ซึ่งรถยนต์ EV ใช้ชิ้นส่วนลดลงจาก 1,400 ชิ้น เหลือราว 200 ชิ้น ขณะที่กลุ่มที่ปล่อยสินเชื่อรถยนต์และลีสซิ่งรถยนต์ก็อาจจะถูกกระทบ เพราะราคารถมือสองอาจถูกลง เช่นเดียวกับธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน และปั๊มน้ำมัน ที่ถูกกระทบเช่นกัน
“ส่วนตัวมองว่าธุรกิจที่น่าจะได้ประโยชน์ชัดเจนที่สุดจากการเข้ามาของ Tesla คือ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กับ EV เช่น DELTA แต่โดยปกติแล้วผู้ผลิตชิ้นส่วนเหล่านี้มักจะครอบคลุมอิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ ด้วย ซึ่งในขาของชิ้นส่วนโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์ อาจจะเห็นการหดตัวจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน”
ด้าน วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่าย Private Wealth Management ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ขณะนี้อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าบริษัทใดจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะต้องรอให้เห็นแผนและช่วงเวลาที่ชัดเจนของ Tesla ก่อน แต่หากดูจากรูปแบบของ Tesla ที่ขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ เชื่อว่าธุรกิจที่น่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดคือ สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
“เบื้องต้นคาดว่าน่าจะเป็นการนำรถเข้ามาขายโดยไม่ได้ประกอบในไทย แต่หากมีความต้องการสูงในอนาคตก็อาจจะมีโอกาสเห็นการตั้งโรงงานผลิตได้ แต่เป็นอนาคตที่ยังไกลเกินไป สำหรับธุรกิจชิ้นส่วนในไทยอาจจะไม่ได้ประโยชน์มากนัก เพราะ Tesla มีซัพพลายเออร์ของตัวเองอยู่แล้ว ซึ่งไม่ง่ายที่จะบริษัทจะตัดสินใจเปลี่ยน”
การเข้ามาของ Tesla เป็นการตอกย้ำว่าอุตสาหกรรมยานยนต์น่าจะมุ่งไปทาง EV ค่อนข้างแน่ และเราน่าจะเห็นสถานีชาร์จซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักเพิ่มมากขึ้น