×

ทำไมตุรกีกลายเป็นอุปสรรคของสวีเดน-ฟินแลนด์ ในการเข้าร่วม NATO

โดย THE STANDARD TEAM
19.05.2022
  • LOADING...
ตุรกี

เรเจป ไตยิป แอร์โดอัน ประธานาธิบดีตุรกี แสดงความเห็นอย่างแข็งกร้าวเกี่ยวกับการที่สวีเดนและฟินแลนด์จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) โดยกล่าวหาทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะสวีเดน ว่าเป็นแหล่งกบดานให้กับผู้ก่อการร้ายชาวเคิร์ดที่ต้องการประกาศเอกราชจากตุรกี อย่างไรก็ตาม ตุรกีจะเดินหน้าขัดขวางกระบวนการเข้าร่วม NATO ของสองประเทศนอร์ดิกได้หรือไม่? FRANCE 24 พาไปหาคำตอบในเรื่องนี้จากผู้เชี่ยวชาญ

 

ตุรกีมีจุดยืนที่แตกต่างออกไปจากประเทศสมาชิกอื่นๆ ในองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ โดยเฉพาะหลังจากการซื้อระบบต่อต้านขีปนาวุธจากรัสเซียในปี 2019 ก็ยิ่งดูเหมือนอังการาจะแปลกแยกจากประเทศสมาชิกที่เหลือมากขึ้นไปอีก 

 

ตุรกีเป็นประเทศเดียวใน NATO ที่ไม่สนับสนุนการรับสวีเดนและฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิก

 

“เราจะเชื่อใจพวกเขาได้อย่างไร สวีเดนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์องค์กรก่อการร้าย เราจะไม่สนับสนุนการรับเข้าเป็นสมาชิก NATO” ประธานาธิบดีตุรกีกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 16 พฤษภาคม หลังจากที่ทั้งสองประเทศนอร์ดิกตัดสินใจอย่างเป็นทางการที่จะสมัครเข้าร่วม NATO

 

อังการาแสดงความไม่พอใจอย่างโจ่งแจ้งต่อความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่ทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะสวีเดน มีกับพรรคแรงงานเคอร์ดิสถาน (PKK) ซึ่งเป็นกลุ่มการเมืองติดอาวุธ โดยตุรกีและชุมชนระหว่างประเทศส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ประกาศให้กลุ่ม PKK เป็นองค์กรก่อการร้าย

 

เอลิส มาส์สิกาด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาการเมืองตุรกีร่วมสมัย และนักวิจัยที่ Sciences Po กล่าวว่า “สวีเดนมีจุดยืนเฉพาะเรื่องคนพลัดถิ่นในตุรกี โดยนับตั้งแต่ทศวรรษ 1980 สวีเดนรับผู้ลี้ภัยทางการเมืองจำนวนมาก ซึ่งตุรกีสงสัยว่าหลายคนในจำนวนนี้เป็นนักรบกลุ่ม PKK นี่เป็นข้อพิพาทที่มีมายาวนานระหว่างสต็อกโฮล์มและอังการา”

 

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวเสริมว่า “กลุ่มชาตินิยมตุรกีมองว่าสาเหตุที่ PKK ยังคงอยู่ แม้จะผ่านสงครามมายาวนานถึง 40 ปี ก็เพราะทางกลุ่มมีฐานแนวหลังเหล่านี้อยู่นอกตุรกี” 

 

การใช้สิทธิ์ยับยั้ง (Veto)

ตุรกีระบุชัดว่า ต้องการใช้การสมัครสมาชิก NATO ของสวีเดนและฟินแลนด์เป็นเครื่องมือในการลดการสนับสนุนกลุ่มแบ่งแยกดินแดนชาวเคิร์ด “เราต้องหยุดสนับสนุนองค์กรก่อการร้ายโดยเด็ดขาด นี่ไม่ใช่การต่อรอง แต่หมายความถึงการเป็นพันธมิตร” เมฟเลิต ชาวูโชลู รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกีกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ ที่กรุงเบอร์ลิน นอกรอบการประชุมอย่างไม่เป็นทางการของ NATO

 

ตามทฤษฎีแล้ว ตุรกีมีสิทธิ์ทุกประการที่จะขัดขวางไม่ให้สวีเดนและฟินแลนด์เข้าเป็นสมาชิก NATO ตามมาตรา 10 ของสนธิสัญญาก่อตั้ง (Founding Treaty) ซึ่งทั้งสองประเทศสแกนดิเนเวียต้องได้รับการยอมรับจากสมาชิกทั้ง 30 ชาติของ NATO จึงจะเข้าเป็นสมาชิกใหม่ได้

 

โอลิวิเยร์ เคมฟ์ นักภูมิรัฐศาสตร์ กล่าวว่า “พันธมิตรดำเนินการตามหลักฉันทามติ สมาชิกแต่ละประเทศมีสิทธิ์ยับยั้ง เราเห็นสิ่งนี้ในกรณีของกรีซ ซึ่งคัดค้านการรับมาซิโดเนียเหนือเข้าเป็นสมาชิกมานานหลายปี” อันเนื่องมาจากข้อพิพาทเรื่องชื่อประเทศ (มาซิโดเนียเป็นชื่อของภูมิภาคหนึ่งของกรีซเช่นกัน) 

 

แม้ดูเหมือนว่า NATO ปูพรมแดงต้อนรับสวีเดนและฟินแลนด์ ซึ่งเป็นสองประเทศประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง และมีความร่วมมือกับ NATO ผ่านโครงการหุ้นส่วนเพื่อสันติภาพ (Partnership for Peace) แต่ท่าทีของตุรกีทำให้เกิดความสับสนภายในกลุ่มพันธมิตร

 

“ผมมั่นใจว่าเราจะสามารถหาจุดร่วม ซึ่งเป็นฉันทามติเกี่ยวกับการผลักดันประเด็นสมาชิกภาพให้เคลื่อนไปข้างหน้า” เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการ NATO กล่าว พร้อมทั้งเสริมว่า ตุรกีระบุอย่างชัดเจนว่าไม่มีเจตนาที่จะขัดขวางกระบวนการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของสวีเดนและฟินแลนด์

 

“จะมีแรงกดดันทางการเมืองมากมายต่อตุรกี จนไม่สามารถขัดขวางการเข้าเป็นภาคีของฟินแลนด์และสวีเดนได้” เคมฟ์กล่าว

 

ตุรกีรอการชดเชย

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า อังการากำลังพยายามที่จะกอบกู้อำนาจภายในกลุ่มพันธมิตร NATO ด้วยการชูประเด็นการสนับสนุน PKK ของสวีเดน “ความสัมพันธ์ของตุรกีกับ NATO นั้นซับซ้อนมากมาหลายปีแล้ว มันมาถึงจุดที่มีการพูดกันถึงเรื่องการออกจากกลุ่ม สำหรับตุรกีมันเป็นเรื่องของการหลีกเลี่ยงการไม่ได้รับความสำคัญ” มาส์สิกาด์กล่าว

 

ตุรกีเลือกจุดยืนนี้โดยหวังว่าจะได้รับการชดเชยจากชาติสมาชิก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ในปี 2020 วอชิงตันประกาศคว่ำบาตรอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศของตุรกี หลังจากที่ตุรกีซื้อระบบต่อต้านขีปนาวุธ S 400 ของรัสเซีย นอกจากนี้ตุรกียังถูกตัดออกจากโครงการเครื่องบินขับไล่ล่องหน F-35 ของสหรัฐฯ แม้ว่าตุรกีได้สั่งซื้อและจ่ายเงินดาวน์แล้ว 1.4 พันล้านดอลลาร์ ตามข้อมูลของ Courrier international 

 

ท้ายที่สุด มีความเป็นไปได้สูงที่ตุรกีกำลังส่งสารถึงรัสเซีย โดยนับตั้งแต่การปะทุของสงครามในยูเครน อังการาพยายามรักษาความสัมพันธ์อันดีกับทั้งยูเครนและรัสเซีย ซึ่งเศรษฐกิจของตุรกีต้องพึ่งพาสองประเทศนี้เป็นอย่างมาก “ตุรกีและรัสเซียต่างมีส่วนแบ่งในทะเลดำและมีผลประโยชน์ร่วมกันในซีเรีย” เคมฟ์กล่าว “แอร์โดอันสนับสนุนยูเครน แต่ก็ระมัดระวังไม่ให้มากเกินไป” 

 

เรื่องนี้ช่วยย้ำเตือนว่า แม้ NATO จะได้รับการเสริมกำลังหลังจากที่รัสเซียรุกรานยูเครน แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีความแตกต่างทางยุทธศาสตร์ภายในกลุ่มพันธมิตร

 

“การที่ NATO รวมเป็นหนึ่งเดียวกันเมื่อถึงคราวจำเป็น ไม่ได้หมายความว่าทางกลุ่มจะมีฉันทามติในทุกเรื่อง” เคมฟ์กล่าวสรุป “ที่สุดแล้วปัญหาเดิมก็ยังคงอยู่และไม่ได้หายไปพร้อมกับสงครามในยูเครน”

 

ภาพ: Mustafa Kamaci / Anadolu Agency via Getty İmages

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X