วันนี้ (17 พฤษภาคม) พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เดินทางมายังศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก กรุงเทพมหานคร เพื่อใช้ตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นหลักประกันในการขอประกันตัว ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ นักกิจกรรมวัย 20 ปี ในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งถูกกล่าวหาจากการไลฟ์ก่อนมีขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565 โดยการขอประกันตัวในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 2 หลังจากศาลมีคำสั่งเพิกถอนการประกันตัว
พิธากล่าวว่า ทานตะวันอดอาหารภายในเรือนจำเพื่อประท้วงกระบวนการยุติธรรม ตั้งเเต่วันที่ 20 เมษายน 2565 จนถึงวันนี้ 17 พฤษภาคม 2565 เป็นเวลากว่า 27 วัน กังวลว่าร่างกายของทานตะวันจะรับไม่ไหว วันนี้เป็นวันสุดท้ายของการฝากขังผัดที่ 6 ซึ่งตามหลักว่าความของอาญาสามารถฝากขังได้ทั้งสิ้น 7 ผัด
พิธาระบุต่อไปว่า นอกจากที่จะเป็นห่วงทานตะวันในเรื่องร่างกาย การมาในวันนี้เพื่อยืนยันในหลักการระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองเเละสิทธิการเมือง ที่ต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทานตะวันเป็นผู้บริสุทธิ์ หลักการดังกล่าว รัฐบาลไทยได้ให้ไว้กับ ICCPR (International Covenant on Civil and Political Rights) หรือ กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 29 (2) เกี่ยวกับสิทธิในการประกันตัว สิทธิในการออกมาสู้คดี เป็นสิทธิของพลเมือง ซึ่งที่ผ่านมาทานตะวันไม่มีพฤติกรรมหลบหนี ทั้งนี้ กฎหมายอาญา 108/1 ระบุเหตุในการฝากขังได้ไว้ทั้งหมด 5 ข้อ การกระทำของทานตะวันไม่อยู่ในเงื่อนไขทั้ง 5 ข้อที่จะฝากขังได้ จึงคิดว่าเป็นการผิดหลักสิทธิในการต่อสู้ที่ทานตะวันควรได้รับต่อกรณีนี้
“กรณีนี้ยังเเสดงให้เห็นถึงปัญหาของการบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ทั้งในเรื่องของตัวบท ทั้งในเรื่องของการบังคับใช้ที่ตีความกว้างเกินไป ทั้งยังมีโทษสูงเกินไปอย่างไม่ได้สัดส่วนต่อการกระทำ” พิธาระบุ
พิธายังกล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้กฎหมายดังกล่าวต่อกรณีนี้ไม่เป็นผลดีต่อใครเลย ไม่เป็นผลดีต่อทานตะวัน ไม่เป็นผลดีต่อครอบครัวของทานตะวัน เเละในขณะเดียวกันก็ไม่ได้เป็นผลดีต่อระบบยุติธรรมในประเทศไทย ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์ประเทศไทย เเละไม่เป็นผลดีต่อสถาบันฯ แน่นอน
“วันนี้หวังว่าทานตะวันจะได้รับการประกันตัว เเละหวังว่าทานตะวันจะได้ยุติการอดอาหารกว่า 27 วัน ซึ่งไม่ได้เป็นผลดีต่อร่างกาย แต่หากทานตะวันไม่ได้รับการประกันตัวในวันนี้ พรรคก้าวไกลจะใช้กลไกของสภาผู้เเทนราษฎรต่อสู้อย่างถึงที่สุด ตามกลไกนิติรัฐ นิติธรรม” พิธาระบุ
ขณะที่ กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความระบุว่า กรณีดังกล่าว อัยการยังไม่สั่งฟ้องทานตะวัน จึงอยู่ระหว่างการสอบสวนเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่ตนกังวลคือเรื่องร่างกายจากการอดอาหารกว่า 27 วัน จะรับไม่ได้ ซึ่งในวันนี้จะเป็นการใช้ตำเเหน่ง ส.ส. เพื่อยื่นประกันตัว ตนจึงหวังว่าจะได้รับข่าวดี
ต่อมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงานว่า ศาลยกคำร้องขอประกันตัวทานตะวัน โดยศาลชี้ว่าไม่ปรากฏหลักฐานเงินเดือน (สลิปเงินเดือน) ของผู้ร้อง และไม่มีพฤติการณ์พิเศษอื่นที่จะพิจารณาคำร้องได้
ขณะที่พิธาขอประกันโดยแนบหนังสือรับรองจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่ระบุอัตราเงินเดือนไว้ชัดเจน