วานนี้ (11 พฤษภาคม) คณะนักวิทยาศาสตร์จีนค้นพบฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานในทะเลสายพันธุ์ใหม่ อายุ 244 ล้านปี ซึ่งรู้จักกันในชื่อ พาคีพลูโรซอร์ (Pachypleurosaur) โดยเป็นฟอสซิลสัตว์เลื้อยคลานในทะเลที่มีหางยาวที่สุดเท่าที่เคยพบ บ่งชี้ว่ามันอาจเป็นนักว่ายน้ำชั้นยอด
พาคีพลูโรซอร์เป็นกลุ่มของสัตว์เลื้อยคลานในทะเลที่มีลักษณะคล้ายจิ้งจกขนาดเล็กถึงกลางจากยุคไทรแอสซิก (Triassic) ตอนต้นจนถึงตอนกลาง โดยสายพันธุ์ใหม่นี้ถูกตั้งชื่อว่า ‘หงเหอซอรัส’ เนื่องจากถูกพบในแคว้นปกครองตนเองหงเหอ กลุ่มชาติพันธุ์ฮาหนีและอี๋ มณฑลอวิ๋นหนาน (ยูนนาน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน
หงเหอซอรัสมีความยาวจากหัวถึงปลายหางอยู่ที่ 47.1 เซนติเมตร ทว่าเฉพาะส่วนหางยาวถึง 25.4 เซนติเมตร โดยคณะนักวิทยาศาสตร์พบว่ามันมีกระดูกสันหลังรวม 121 ชิ้น ประกอบด้วยกระดูกสันหลังส่วนหาง 69 ชิ้น ทำลายสถิติก่อนหน้านี้ของพาคีพลูโรซอร์ตัวอื่นๆ ที่มีกระดูกสันหลังส่วนหาง 58 ชิ้น
อนึ่ง คณะนักวิจัยจากสถาบันบรรพชีวินวิทยาสัตว์มีกระดูกสันหลังและมานุษยวิทยาบรรพกาล สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีน ค้นพบฟอสซิลดังกล่าวเมื่อปี 2021 และเผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร Scientific Reports เมื่อสัปดาห์ก่อน
สวีกวงฮุย หัวหน้านักวิจัย กล่าวว่า ฟอสซิลดังกล่าวมีรูปร่างเหมือนจิ้งจกน้ำที่มีลำตัวยาวและหางยาวเป็นพิเศษกว่าส่วนอื่นๆ ของร่างกาย โดยพาคีพลูโรซอร์ส่วนใหญ่ตัวเล็กและตัวยาวสูงสุดไม่เกิน 50 เซนติเมตร ขณะที่ส่วนหางที่ยาวเป็นพิเศษช่วยให้ได้เปรียบด้านความคล่องแคล่วและการว่ายน้ำ
นอกเหนือจากข้อมูลเชิงลึกใหม่ๆ เกี่ยวกับการปรับตัวทางนิเวศวิทยาของสัตว์เลื้อยคลานกลุ่มนี้แล้ว การค้นพบนี้ยังเป็นหลักฐานฟอสซิลพาคีพลูโรซอร์ที่เก่าแก่ที่สุดในจีน โดยสัตว์เลื้อยคลานในทะเลตัวแรกที่ค้นพบในจีนและถูกตั้งชื่อตัวแรกเมื่อปี 1957 เป็นกลุ่มพาคีพลูโรซอร์เช่นกัน ซึ่งได้ชื่อว่า กุ้ยโจวซอรัส (Keichousaurus)
จ้าวลี่จวิน ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติเจ้อเจียง กล่าวว่า หงเหอซอรัสหางยาวตัวนี้มีอายุแก่กว่ากุ้ยโจวซอรัส 4 ล้านปี มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพาคีพลูโรซอร์ที่ถูกพบในยุโรป และมีอายุมากที่สุดในหมู่สัตว์ตระกูลนี้ที่ค้นพบในจีน
อ้างอิง:
- สำนักข่าวซินหัว