วานนี้ (27 เมษายน) มหาวิทยาลัยชาร์ลส์ดาร์วินของออสเตรเลียเผยแพร่ผลการศึกษา กรณีจระเข้เปลี่ยนแปลงการกินอาหาร จากอาหารทะเลเป็นสัตว์บกอย่างหมู อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้จำนวนประชากรจระเข้ในภูมิภาคนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีเติบโตอย่างรวดเร็ว
จำนวนจระเข้น้ำเค็มในภูมิภาคนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีเพิ่มขึ้นจากราว 3,000 ตัว เป็นราว 100,000 ตัว นับตั้งแต่ทศวรรษ 1970 โดยคณะนักวิจัยเปรียบเทียบตัวอย่างกระดูกจากจระเข้ที่ถูกฆ่าเมื่อราว 50 ปีก่อนกับกระดูกจระเข้สมัยใหม่ และพบการกินอาหารที่เปลี่ยนแปลงไปสอดคล้องกับจำนวนจระเข้ที่เพิ่มขึ้น
มาเรียนา แคมป์เบลล์ ผู้ร่วมเขียนงานวิจัยระบุว่า การเปลี่ยนแปลงอาหารดังกล่าวยังอาจมีส่วนส่งเสริมให้จระเข้ในภูมิภาคนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีเคลื่อนย้ายสู่ที่ราบน้ำท่วมถึงเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นบริเวณที่มีหมูจรจัดมากกว่า
คณะนักวิจัยประหลาดใจที่สังเกตพบการเปลี่ยนแปลงอันมีนัยสำคัญดังกล่าวทั่วภูมิภาคนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีตลอดระยะ 50 ปีที่ผ่านมา โดยผลการศึกษาพบจระเข้เหล่านี้ได้เปลี่ยนการกินสัตว์ทะเลและสัตว์ปากแม่น้ำ เช่น ปลาและเต่าทะเล มาเป็นสัตว์บกอย่างหมูจรจัดและควายเพิ่มขึ้น
อนึ่ง มีการสั่งห้ามล่าจระเข้น้ำเค็มในภูมิภาคนอร์เทิร์นเทร์ริทอรีเมื่อปี 1971 เนื่องจากพวกมันกำลังเสี่ยงสูญพันธุ์ในขณะนั้น โดยแคมป์เบลล์ชี้ว่าจำนวนประชากรจระเข้ที่ฟื้นตัวนับแต่นั้น ทำให้พวกมันเป็นสัตว์กินเนื้อที่กลับมามีจำนวนมากในออสเตรเลีย
นอกจากนั้นแคมป์เบลล์เสริมว่าจำนวนเหยื่อบริเวณปากแม่น้ำที่ลดลงอาจมีส่วนส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงอาหารของจระเข้ และมีแนวโน้มเป็นสาเหตุร่วมกับการย้ายถิ่นทั่วไปของจระเข้จากพื้นที่ปากแม่น้ำสู่ที่ราบน้ำจืดท่วมถึงด้วย
อ้างอิง: สำนักข่าวซินหัว