นักเศรษฐศาสตร์ห่วงราคาขายปลีกดีเซลเพิ่มขึ้นกดดันต้นทุนสินค้าเพิ่ม นำไปสู่การผลักภาระให้ผู้บริโภค กดดันราคาสินค้าและค่าแรงสูงขึ้น เกิดภาวะ Wage Price Spiral
ชัดเจนแล้วว่าราคาน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักของภาคขนส่งและอุตสาหกรรมต่างๆ กำลังจะขยับขึ้นสูงกว่าระดับ 30 บาทต่อลิตรเป็นครั้งแรกในรอบ 14 ปี นับจากเดือนกรกฎาคม 2551 โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) เมื่อวันที่ 27 เมษายนที่ผ่านมา มีมติให้ปรับเพดานการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลลงมาครึ่งหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันอุดหนุนอยู่ที่ประมาณ 10 บาทต่อลิตร ทำให้เพดานของราคาน้ำมันดีเซลจะอยู่ที่ 35 บาทต่อลิตร
แต่เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบตกกับประชาชนมากเกินไป เบื้องต้น กบน. จะทยอยปรับขึ้นเป็นขั้นบันได เริ่มที่ 32 บาทต่อลิตรก่อน มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 เป็นต้นไป แน่นอนว่าราคาดีเซลที่ปรับขึ้นมานี้ทำให้ภาระค่าครองชีพสูงขึ้น ส่งผลต่อเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม สำนักวิจัยส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่าท้ายที่สุดภาครัฐจะลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซล ทำให้ราคาขายปลีกในประเทศจะขยับขึ้นสูงกว่าระดับ 30 บาทต่อลิตร ดังนั้นการทำประมาณการเงินเฟ้อส่วนใหญ่ของหลายๆ สำนักวิจัยจึงได้นำปัจจัยเหล่านี้มารวมไว้บ้างแล้ว แต่สิ่งที่สำนักวิจัยห่วงมากกว่านั้นคือ การขยับขึ้นของราคาน้ำมันดีเซลในครั้งนี้จะทำให้เงินเฟ้อ ‘ฝังรากลึก’ เกิดภาวะที่เรียกว่า Wage Price Spiral หรือไม่ ซึ่งภาวะที่ว่านี้คือ การที่ต้นทุนสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ผลักดันให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น สร้างแรงกดดันต่อค่าจ้างแรงงานที่ต้องปรับตัวขึ้นเป็นวงจรตามไปด้วย
สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ทาง EIC ประเมินตัวเลขการขยายตัวของเงินเฟ้อในปีนี้ไว้ที่ระดับ 4.9% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวรวมเอาผลจากที่คาดการณ์ว่าภาครัฐจะลดการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลไว้บ้างแล้ว แต่สิ่งที่ต้องดูต่อคือ ราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นนี้จะส่งผ่านไปยังภาคส่วนอื่นๆ จนเกิดการฝังรากลึกของเงินเฟ้อหรือไม่
“เราได้ Price in ไปแล้ว แต่ยังมีส่วนอื่นที่เรากังวลอยู่คือ หากเกิด Wage Price Spiral มีการส่งต่อไปยังราคาสินค้า ค่าจ้างแรงงาน ก็มีความเป็นไปได้ที่ตัวเลขเงินเฟ้อในปีนี้จะสูงกว่าที่เราคาดการณ์เอาไว้ ซึ่งต้องบอกว่าความเสี่ยงในด้านสูงมีค่อนข้างมาก”
ส่วนแนวโน้มเงินเฟ้อระยะข้างหน้านั้นยังเชื่อว่ามีโอกาสปรับลดลงได้บ้าง แต่คงไม่ได้ลงแรงนัก ซึ่งสมประวิณเชื่อว่าเราจะต้องอยู่กับเงินเฟ้อไปอีกระยะเวลาหนึ่ง หรืออีกเป็นปี ดังนั้นคำถามสำคัญคือ จะจัดการกับสิ่งเหล่านี้อย่างไร ไม่ให้เงินเฟ้อที่อยู่ระดับสูงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจนทำให้ชะลอตัวลง
นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีทีบี กล่าวว่า ราคาน้ำมันดีเซลที่ขยับขึ้นเกินกว่า 30 บาทต่อลิตร คงมีผลต่อเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้น ซึ่งปัจจุบัน ttb ประมาณการการขยายตัวของเงินเฟ้อไทยในปีนี้ไว้ที่ 5.8% โดยอยู่บนสมมติฐานราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ระดับ 110-130 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
“ถ้าดูตะกร้าเงินเฟ้อ ซึ่งดีเซลอยู่ในหมวดของค่าขนส่งและพลังงาน โดยหมวดนี้มีน้ำหนักต่อเงินเฟ้อราว 23% ที่ผ่านมาหมวดนี้ขยายตัวแล้ว 16% แม้ว่าเรายังตรึงดีเซลเอาไว้ ดังนั้นถ้าราคาดีเซลขยับขึ้น เงินเฟ้อย่อมต้องขึ้นตามไปด้วย”
นริศกล่าวว่า น้ำมันดีเซลมีผลต่อค่าขนส่งค่อนข้างมาก เพราะบรรดารถบรรทุกส่วนใหญ่จะใช้น้ำมันดีเซล ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อครัวเรือนในภาคเกษตรด้วย เนื่องจากครัวเรือนเหล่านี้ใช้รถกระบะในการประกอบอาชีพเป็นหลัก
สำหรับประเด็นที่ต้องติดตามหลังจากนี้ นริศห่วงว่าราคาน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่ราคาสินค้าและค่าแรงที่สูงขึ้นตามไปด้วย เกิดภาวะ Wage Price Spiral ซึ่งถ้าภาคธุรกิจไม่สามารถที่จะส่งผ่านราคาหรือต้นทุนที่เพิ่มไปยังผู้บริโภคได้ ธุรกิจก็อาจจะเดินต่อไปไม่ได้หรือถึงขั้นต้องปิดกิจการ สถานการณ์ดังกล่าวจึงมีความเปราะบางและน่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง จึงเป็นเรื่องที่ต้องติดตาม
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP