×

ทำไม ‘ประตูดามัสกัส’ กลายเป็นศูนย์กลางความขัดแย้งรอบใหม่ ‘ปาเลสไตน์-อิสราเอล’

22.04.2022
  • LOADING...
ประตูดามัสกัส

‘ประตูดามัสกัส’ หรือที่ภาษาอาหรับเรียกว่า ‘บับ อัล-อามุด’ ในนครเยรูซาเลมตะวันออก ได้กลับมาเป็นจุดเผชิญหน้ากันอีกครั้งระหว่างชาวปาเลสไตน์กับกองกำลังอิสราเอล และมีทีท่าว่าเหตุการณ์จะทวีความรุนแรงและตึงเครียดยิ่งขึ้น

 

นับตั้งแต่เริ่มต้นเดือนรอมฎอนของชาวมุสลิมเมื่อวันที่ 2 เมษายนเป็นต้นมา กองกำลังอิสราเอลซึ่งรวมถึงเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ได้บุกโจมตีและจับกุมชาวปาเลสไตน์ที่อยู่ในพื้นที่ประตูดามัสกัสเกือบทุกวัน นอกจากนี้ สำนักข่าว Al Jazeera ยังรายงานด้วยว่า มีผู้ถูกจับกุมอีกหลายร้อยคนในบริเวณมัสยิดอัลอักซอ ซึ่งเป็นหนึ่งในศาสนสถานศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมทั่วโลก

 

แต่การบุกจับกุมชาวปาเลสไตน์แบบที่เห็นในภาพข่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วในเดือนรอมฎอนเมื่อปีที่แล้ว ในระหว่างการชุมนุมประท้วงของชาวปาเลสไตน์ต่อการใช้กำลังของอิสราเอล ที่พยายามผลักไสชาวปาเลสไตน์ที่อาศัยอยู่ในย่านชีคจาร์ราห์ในนครเยรูซาเลมตะวันออก รวมถึงสงคราม 11 วันของอิสราเอลในฉนวนกาซา

 

– รู้จักประตูดามัสกัส

ประตูดามัสกัสเป็นจัตุรัสในยุคออตโตมัน ตั้งตระหง่านในสภาพปัจจุบันมาตั้งแต่ปี 1537 และเป็นประตูเปิดสู่นครโบราณของเยรูซาเลมที่ใหญ่ที่สุดจากประตูทั้งหมด 7 แห่งในเยรูซาเลมตะวันออก ซึ่งปัจจุบันอยู่ในการควบคุมของอิสราเอล

 

ประตูนี้เปิดไปสู่ย่าน Muslim Quarter ซึ่งเป็นตลาดหลักสำหรับชาวปาเลสไตน์ในเมือง มีทุกอย่างตั้งแต่เครื่องเทศไปจนถึงเครื่องใช้ไฟฟ้า

 

เมื่อเดินออกไปไม่ไกลจากประตูดังกล่าวจะเป็นถนนซาลาห์ อัล-ดิน ซึ่งเป็นย่านการค้าและธุรกิจหลักของเยรูซาเลมตะวันออก และเป็นศูนย์กลางสถานีรถขนส่งของชาวปาเลสไตน์ด้วย

 

ประตูดามัสกัสยังเป็นทั้งแลนด์มาร์กทางสังคม วัฒนธรรม และการเมืองของชาวปาเลสไตน์ และเป็นหนึ่งในพื้นที่เปิดโล่งเพียงไม่กี่แห่งสำหรับชาวเมืองให้มารวมตัวกัน

 

แต่ในช่วงที่มีการประท้วงหรือในช่วงที่เกิดความตึงเครียดทางการเมือง และเทศกาลสำคัญทางศาสนา เช่น รอมฎอน ชาวปาเลสไตน์จะมารวมตัวกันที่ประตูดามัสกัสมากขึ้น ซึ่งโอกาสที่กองกำลังอิสราเอลจะตอบโต้ด้วยความรุนแรงก็มีเพิ่มขึ้นเช่นกัน

 

ซึ่งปฏิบัติการแต่ละครั้ง อิสราเอลจะตราหน้าผู้ประท้วงว่าเป็น ‘ผู้ก่อความไม่สงบ’ แต่เป็นข้อกล่าวหาที่ชาวปาเลสไตน์ปฏิเสธมาตลอด

 

– ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์และชนวนความขัดแย้ง

ทหารอิสราเอลเข้ายึดครองเยรูซาเลมตะวันออกที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวปาเลสไตน์ในช่วงสงครามปี 1967 ก่อนจะผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศโดยขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ โดยอิสราเอลประกาศว่าเยรูซาเลมทั้งหมดเป็นเมืองหลวงที่สมบูรณ์และเป็นหนึ่งเดียว ขณะที่ประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลกยังไม่ให้การยอมรับอธิปไตยของอิสราเอลในเยรูซาเลมตะวันออก แต่มองว่าเป็นดินแดนที่ถูกยึดครอง และการตั้งถิ่นฐานของชาวยิวที่นั่นก็ขัดต่อกฎหมาย

 

นาสเซอร์ อัล-ฮิดมี นักวิเคราะห์การเมือง กล่าวกับ Al Jazeera ว่า ประตูดามัสกัสเป็นสถานที่เชิงสัญลักษณ์ของชาติสำหรับชาวเยรูซาเลมและชาวปาเลสไตน์ และเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ประจำชาติของเมือง ซึ่งการแสดงความเป็นเจ้าของนี้เองที่นำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างชาวปาเลสไตน์กับกองกำลังอิสราเอล

 

เขากล่าวว่า ความจริงที่ว่าพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในการควบคุมของชาวปาเลสไตน์นั้นเป็นอุปสรรคต่อการยึดครองของอิสราเอล โดยในแง่ของการรักษาความปลอดภัยนั้น ประตูดังกล่าวเป็นทางเข้าสำหรับผู้ตั้งถิ่นฐาน ซึ่งอิสราเอลต้องการรับประกันความปลอดภัยให้กับชาวอิสราเอลที่ต้องการเข้าไปตั้งถิ่นฐานหรือเดินทางเข้าออก แต่การรวมตัวกันของชาวปาเลสไตน์เป็นอุปสรรคต่อการรักษาความปลอดภัย

 

นอกจากนี้กลุ่มชาวยิวขวาจัดก็พยายามแสดงอำนาจเหนือประตูดามัสกัสและพื้นที่อื่นๆ ในเขตนครโบราณ โดยเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (20 เมษายน) กลุ่มชาตินิยมชาวอิสราเอลถูกขัดขวางจากตำรวจอิสราเอลไม่ให้เดินขบวนถือธงชาติอิสราเอลผ่านประตูดามัสกัส รวมทั้งพื้นที่ที่ชาวปาเลสไตน์ส่วนมากอาศัยอยู่ในนครโบราณ

 

ทั้งนี้ ข้อมูลระบุว่ามีชาวยิวมาตั้งถิ่นฐานในเยรูซาเลมตะวันออกราว 200,000 คน โดยอยู่ร่วมกับชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 420,000 คน ซึ่งได้สถานะจากอิสราเอลให้เป็นเพียง ‘ผู้อยู่อาศัย’ ซึ่งขึ้นอยู่กับการพิสูจน์อย่างต่อเนื่องว่าพวกเขาอาศัยอยู่ในเมืองภายใต้กระบวนการทางราชการที่ซับซ้อน ซึ่งมีคนมองว่ากฎเกณฑ์ดังกล่าวถูกออกแบบมาเพื่อบีบให้ชาวปาเลสไตน์ออกจากนครเยรูซาเลม

 

อย่างไรก็ตาม อิสราเอลอ้างว่า มาตรการเหล่านี้มีความจำเป็นด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

 

ข้อมูลจากกลุ่มสิทธิมนุษยชนอิสราเอล B’Tselem ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 1967 มีชาวปาเลสไตน์ในเยรูซาเลมถูกเพิกถอนสถานะแล้วจำนวน 14,000 คน

 

ขณะที่กลุ่ม NGO กลุ่มสิทธิมนุษยชนท้องถิ่นได้ชี้ให้เห็นแนวทางปฏิบัติและนโยบายที่ไม่เป็นธรรมของอิสราเอล เช่น การขยายนิคมที่ถูกมองว่าผิดกฎหมาย การรื้อถอนบ้านของชาวปาเลสไตน์ และการจำกัดการพัฒนาของตัวเมืองในเยรูซาเลม ในขณะที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าอิสราเอลพยายามเปลี่ยนแปลงอัตราส่วนของประชากรให้มีชาวยิวเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อทำให้ชาวยิวเป็นชนส่วนใหญ่ในเมืองดังกล่าว

 

ภาพ: Ilia Yefimovich / picture alliance via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X