×

ttb analytics คาดสงคราม-การฟื้นตัวจากโควิดกดดันต้นทุนการผลิตสินค้าปีนี้พุ่ง 5.7% ฉุดกำไรภาคธุรกิจหดตัว 4.5%

21.04.2022
  • LOADING...
ttb analytics

ttb analytics ห่วงสารพัดปัจจัยกดดันต้นทุนการผลิตสินค้าปีนี้พุ่ง 5.7% หรือ 4.16 แสนล้านบาท ฉุดกำไรภาคธุรกิจหดตัว 4.5% แนะผู้ประกอบการเร่งปรับกลยุทธ์เพื่อประคองระดับอัตรากำไรต่อยอดขาย

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ได้ทำการศึกษาผลกระทบของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เหล็ก สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรม และอาหาร ที่ปรับเพิ่มขึ้นจากอุปสงค์ที่ฟื้นตัวจากการผ่อนปรนการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิดในหลายประเทศและสถานการณ์ความตึงเครียดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ว่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตและอัตรากำไรของธุรกิจไทยอย่างไร 

 

โดยผลการศึกษาประเมินว่า ในปี 2565 ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ข้างต้น ได้แก่ น้ำมันเชื้อเพลิง เหล็ก เกษตร อุตสาหกรรม และอาหาร จะมีการปรับเพิ่มขึ้น 33.1, 5.4, 8.1, 5.0 และ 5.0% ตามลำดับ ซึ่งจะส่งผลทำให้ต้นทุนการผลิตของธุรกิจไทยในภาพรวมปรับเพิ่มขึ้น 5.7% หรือเพิ่มกว่า 4.16 แสนล้านบาท แบ่งเป็นต้นทุนสินค้าอุตสาหกรรม (35%) รองลงมาเป็น น้ำมันเชื้อเพลิง (28%) สินค้าเกษตร (14%) เหล็ก (8%) และอาหาร (2%) 

 

ขณะเดียวกัน ttb analytics ยังทำการวิเคราะห์ผลกระทบต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่ออัตรากำไรของธุรกิจ ผ่านโครงสร้างงบกำไรขาดทุนของธุรกิจในประเทศไทย พบว่า ในกรณีที่ผู้ประกอบการยังไม่ปรับขึ้นราคาขายสินค้า เมื่อแนวโน้มต้นทุนการผลิต (COGS) เพิ่มขึ้น 5.7% ในปี 2565 จะส่งผลทำให้อัตรากำไรต่อยอดขาย (Gross Profit Margin) ของธุรกิจไทยในภาพรวมลดลง 4.5% โดยแบ่งผลกระทบต้นทุนที่เพิ่มขึ้นต่อกำไรของธุรกิจ ออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 ได้รับผลกระทบมาก (ต้นทุนเพิ่ม 6.0-25.8%) ได้แก่ พลังงาน ขนส่งและโลจิสติกส์ ประมง ผู้ผลิตไฟฟ้า เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ โรงสีข้าวและส่งออกข้าว สินค้าเกษตรแปรรูป อาหาร และการเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากเป็นกลุ่มธุรกิจที่โครงสร้างต้นทุนของกิจการพึ่งพิงวัตถุดิบน้ำมันเชื้อเพลิงและสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก จึงทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้อัตรากำไรต่อยอดขายของกลุ่มนี้ ลดลงระหว่าง 5.4-16.9%

  • กลุ่มที่ 2 ได้รับผลกระทบปานกลาง (ต้นทุนเพิ่ม 4.7-5.7%) ได้แก่ เหล็ก วัสดุก่อสร้าง ท่องเที่ยว เฟอร์นิเจอร์ เครื่องดื่ม รับเหมาก่อสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ คอมพิวเตอร์และชิ้นส่วน บรรจุภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค ฯลฯ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีโครงสร้างต้นทุนพึ่งพิงวัตถุดิบจากสินค้าอุตสาหกรรม เหล็ก และอาหาร เป็นหลัก ส่งผลทำให้อัตรากำไรต่อยอดขายของธุรกิจกลุ่มนี้ ลดลงระหว่าง 3.2-4.8%

  • กลุ่มที่ 3 ได้รับผลกระทบน้อย (ต้นทุนเพิ่ม 2.9-4.3%) ได้แก่ ไอทีและเทเลคอม บริการอสังหาริมทรัพย์ ธุรกิจสุขภาพ ร้านค้าปลีกสินค้าอุปโภค บริการส่วนบุคคล และบริการธุรกิจ เป็นกลุ่มธุรกิจที่มีต้นทุนด้านการผลิตไม่มากนัก เนื่องจากอยู่ในภาคบริการ อย่างไรก็ตามกลุ่มธุรกิจนี้ ยังได้รับผลกระทบทางอ้อมจากต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาสินค้าเกษตร และราคาสินค้าอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้น ทำให้อัตรากำไรต่อยอดขายของธุรกิจกลุ่มนี้ ลดลงระหว่าง 2.1-3.0%

 

ttb analytics ระบุอีกว่า เพื่อประคับประคองรักษาระดับอัตรากำไรเพื่อให้ธุรกิจเดินหน้าต่อไปได้ ผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจให้เหมาะกับผลกระทบที่ตัวเองจะได้รับ เช่น

 

  1. ปรับราคาขายสินค้าเพื่อส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังราคาสินค้าขาย เมื่อธุรกิจขาดทุนติดต่อกันจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการมีความจำเป็นที่ต้องปรับราคาสินค้าขึ้นเพื่อให้ธุรกิจมีกำไร อยู่รอดต่อไปได้ แต่การปรับราคาต้องสมเหตุสมผล และลูกค้ายอมรับได้ โดยการพิจารณาการปรับเพิ่มราคาสินค้าต้องคำนึงถึง

  • ความแตกต่างของสินค้าและบริการ สินค้าที่มีแนวโน้มปรับราคาขึ้นตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้โดยง่าย จะมีลักษณะเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวัน และเป็นสินค้าที่มีความเฉพาะตัว ลอกเลียนแบบได้ยาก ดังนั้น ผู้ประกอบการควรสร้างความแตกต่างของสินค้าและทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความแตกต่างนั้น ซึ่งเมื่อมีการปรับราคาขายสินค้าตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ลูกค้าจะเข้าใจและยอมรับได้

  • การแข่งขันในตลาด ตลาดที่มีคู่แข่งจำนวนมาก มีแนวโน้มที่จะปรับราคาขายตามต้นทุนได้ค่อนข้างยาก ดังนั้น การปรับราคาขายในตลาดแข่งขันสูงจำเป็นต้องทยอยปรับสินค้าอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเปรียบเทียบกับการปรับราคาของคู่แข่งขันในตลาดด้วย

  • ความแข็งแกร่งของเเบรนด์ธุรกิจ ธุรกิจที่มีเเบรนด์เป็นที่รู้จักของลูกค้า ในด้านคุณภาพที่น่าเชื่อถือในวงกว้าง ย่อมสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้า ทำให้การปรับเพิ่มราคาขายตามต้นทุนทำได้ง่าย ลูกค้าจะยังใช้สินค้าต่อไป เนื่องจากมีความเชื่อมั่นในสินค้า ดังนั้น หากสินค้ายังไม่เป็นที่รู้จัก ผู้ประกอบการควรผลิตสินค้าที่มีคุณภาพควบคู่ไปกับการสร้างเเบรนด์ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อสร้างฐานลูกค้าให้กับธุรกิจ

 

  1. ควบคุมต้นทุนการผลิต และลดค่าใช้จ่ายที่สามารถลดได้ ซึ่งจะช่วยรักษาอัตรากำไรคงอยู่ได้

  • วางแผนการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยการยึดหลักผลิตตามความต้องการของลูกค้า เพื่อลดการสต๊อกวัตถุดิบที่มากเกินไป ทั้งนี้ จำเป็นต้องนำข้อมูลการสั่งซื้อสินค้าของลูกค้ามาประกอบการวางแผน เพื่อจะได้นำไปตัดสินใจสั่งซื้อวัตถุดิบเพื่อนำเข้าสู่ขบวนการผลิตให้สมดุลกับคำสั่งซื้อของลูกค้า

 

  • วางแผนสต๊อกสินค้าอย่างเหมาะสม หลายธุรกิจจำเป็นต้องสต๊อกสินค้าไว้เพื่อรอขาย อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่ราคาวัตถุดิบปรับเพิ่มสูงขึ้น ผู้ประกอบการควรสต๊อกสินค้าตามการสั่งซื้อล่วงหน้าจากลูกค้าในระดับที่เหมาะสม และหลีกเลี่ยงการสต๊อกสินค้าเพื่อเก็งกำไร โดยเฉพาะธุรกิจที่ปรับราคาขายสินค้าได้ลำบาก

 

  • ลดค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร เช่น ค่าการตลาดและค่าโฆษณา ฯลฯ ใช้งบประมาณการขายและบริหารอย่างระมัดระวัง โดยต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของงบประมาณที่ลงไป หากงบประมาณการขายและการบริหารช่องทางใดที่ไม่สามารถสร้างยอดขายให้เพิ่มขึ้นได้ ก็ให้พิจารณาชะลองบประมาณด้านนี้ไปก่อน

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising