×

ส่องแนวโน้ม ‘เงินเยน’ หลังทำสถิติอ่อนค่าสุดรอบ 25 ปี คนไทยแห่แลกเก็บรอเที่ยวญี่ปุ่น

18.04.2022
  • LOADING...
เงินเยน

‘เงินเยน’ ทำสถิติอ่อนค่าสุดรอบ 25 ปีนับจากวิกฤตต้มยำกุ้ง ล่าสุดแตะ 26 บาทกว่าๆ ต่อ 100 เยน ทำคนไทยขาเที่ยวแห่แลกเก็บ หวังรอญี่ปุ่นเปิดประเทศ ส่งผลวอลุ่มเทรดแซงหน้าเงินดอลลาร์สิงคโปร์ นักวิเคราะห์ประเมินแนวโน้มไม่น่าจะอ่อนค่าไปมากกว่านี้แล้ว 

 

ปิยะ ตันติเวชยานนท์ ประธานกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์ริชเคอเรนซี่ เอ็กซ์เชนจ์ (1965) หรือ ซุปเปอร์ริช สีส้ม เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า การอ่อนค่าของเยนกับเงินบาทที่ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี ได้ส่งผลให้ในช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีคนไทยจำนวนมากมาแลกเงินเยนไปเก็บไว้เพื่อรอไปเที่ยวญี่ปุ่น หากในอนาคตมีการเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยว

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง

 


 

“ปัจจุบันอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนอยู่ที่ 26 บาทกว่าๆ ต่อ 100 เยน ซึ่งถือว่าถูกมากๆ ทำให้ความต้องการแลกเงินเยนมีสูงขึ้น จนทำให้ธุรกรรมซื้อขายเงินเยนของบริษัทแซงหน้าเงินสกุลสิงคโปร์ดอลลาร์ขึ้นมาอยู่ที่อันดับ 3 ตามหลังเงินสกุลดอลลาร์และยูโร จากปกติที่เงินเยนจะอยู่ในอันดับ 4” ปิยะกล่าว

 

ปิยะกล่าวอีกว่า อุปสงค์ของเงินเยนที่มีสูงกว่าอุปทานในเวลานี้ ทำให้บริษัทต้องนำเงินดอลลาร์ไปออร์เดอร์เงินเยนจากต่างประเทศเข้ามา เพื่อให้มีเงินเยนเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า โดยต้นทุนที่เกิดขึ้นก็ทำให้บริษัทต้องตั้งราคาขายเงินเยนกระดาษแพงกว่าบนแอปพลิเคชันที่เปิดให้มีการเทรดออนไลน์ราว 30-40 สตางค์

 

รุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า ค่าเงินเยนที่อ่อนค่าค่อนข้างมากในเวลานี้เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายการเงินที่สวนทางกันของสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยสหรัฐฯ มีการประกาศปรับขึ้นดอกเบี้ยและลดงบดุล ขณะที่ญี่ปุ่นยังใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายซึ่งสวนทางกัน

 

โดยรุ่งประเมินว่าเงินเยนยังมีแนวโน้มอ่อนค่าต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ โดยมีโอกาสที่เงินเยนจะอ่อนค่าจากระดับ 126 เยนต่อดอลลาร์ ลงไปอยู่ที่ 128 เยนต่อดอลลาร์ เมื่อพิจารณาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ยังมีแนวโน้มอยู่ในระดับสูงจากปัญหาสงครามในยูเครน และการล็อกดาวน์เซี่ยงไฮ้ของจีน ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน

 

รุ่งกล่าวว่า อีกหนึ่งปัจจัยที่จะทำให้เงินเยนยังมีทิศทางอ่อนค่าคือการแทรกแซงด้วยวาจาของธนาคารกลางญี่ปุ่น หรือ BOJ ดูจะไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร แม้ว่าการอ่อนค่าของเงินเยนเที่ยวนี้จะส่งผลกระทบต่อดุลการค้าของญี่ปุ่นซึ่งมีการนำเข้าน้ำมันสูง แต่เชื่อว่า BOJ น่าจะยังไม่ปรับนโยบายการเงินและยังให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจมากกว่า

 

“อัตราแลกเปลี่ยนที่ระดับ 26 บาทกว่าต่อ 100 เยนถือเป็นเรตที่เราไม่ได้เห็นมานานแล้ว ซึ่งอาจต้องนับย้อนไปถึงช่วงปี 1997 หรือ 25 ปีก่อนที่เรามีการลอยตัวค่าเงินบาทเลย ทำให้เรตนี้ดึงดูดใจสำหรับคนที่มีแผนจะไปเที่ยวญี่ปุ่นในอนาคต” รุ่งกล่าว

 

ด้านพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ประเมินว่า แม้ค่าเงินเยนในเวลานี้จะยังมีทิศทางอ่อนค่า แต่โอกาสที่เงินเยนจะอ่อนค่าไปมากกว่าจุดปัจจุบันคงมีไม่มากนัก เนื่องจากปัจจัยเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed เป็นที่รับรู้ของตลาดไปมากแล้ว ขณะเดียวกันหากเงินเยนอ่อนค่ามากเกินไปก็เชื่อว่า BOJ จะเข้าแทรกแซงเพื่อลดการคาดการณ์ของตลาด

 

“เงินเยนน่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 126-127 เยนต่อดอลลาร์ เราคงไม่ได้เห็นลงไปถึง 130 เยนต่อดอลลาร์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะต่างชาติก็เริ่มกลับมาถือเงินเยนมากขึ้น โดยช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมามีเงินต่างชาติไหลเข้าตลาดหุ้นญี่ปุ่นมากถึง 1 ล้านล้านเยน เพราะมองว่าหุ้นญี่ปุ่นตอนนี้ถูก โดย Forward P/E อยู่ที่ 12.3 เท่า ขณะที่ Median Forward P/E 10 ปีย้อนหลังอยู่ที่ 14.4 เท่า ซึ่งถือว่าถูกเมื่อเทียบกับดัชนีหุ้นโลก MSCI ACWI Forward P/E ที่ 16.5 เท่า” พูนกล่าว

 

อย่างไรก็ดี พูนระบุว่า ยังมีปัจจัยที่ยังต้องติดตามซึ่งอาจส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่องได้อีกเช่นกัน ได้แก่ สถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ซึ่งหากตัวเลขยังอยู่ในระดับสูงก็จะยิ่งทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ของสหรัฐฯ และญี่ปุ่นยิ่งถ่างกว้าง ทำให้เงินไหลออกจากญี่ปุ่นมากขึ้น อีกปัจจัยคือปัญหาสงครามในยูเครน ที่หากมีความรุนแรงขึ้นก็จะส่งผลให้คนหันมาถือดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น

 

“สำหรับคนไทยที่ต้องแลกเงินเยนเก็บไว้ช่วงนี้ เรตที่ 26 บาทกว่าๆ ก็ถือเป็นเรตที่ดี แต่ต้องดูว่าตัวเองมีค่าเสียโอกาสหรือไม่ ผมแนะนำให้ทยอยแลกควบคู่ไปกับการลงทุนในหุ้นญี่ปุ่นซึ่งมี Upside สูงจากการเข้าสู่ธีม Reopening ประเทศจะได้ประโยชน์สูงสุด” พูนกล่าว

 

อ่านบทความเกี่ยวกับ เงินเยน เพิ่มเติมได้ที่ ค่าเงินเยน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X