สถานีโทรทัศน์ CNN เปิดเผยรายงานผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งแสดงให้เห็นความพร้อมของ Fed ที่จะปรับเร่งการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้เร็วขึ้น เพื่อให้สามารถรับมือกับปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวพุ่งสูงอยู่ในเวลานี้
ทั้งนี้ รายงานผลประชุม (minutes) ระบุว่า ผู้ร่วมประชุมหลายคนต้องการให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ 0.50% ท่ามกลางสถานการณ์ที่ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงกว่าเป้าหมาย 2% ของ Fed อยู่ในเวลานี้
ด้าน เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed กล่าวว่า ในห้วงเวลานี้ Fed จำเป็นต้องดำเนินมาตรการด้วยความฉับไว เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงที่สุดในรอบ 40 ปี ทั้งยังมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอีกจากปัจจัยสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่ส่งผลกระทบต่อราคาอาหารและพลังงานในตลาดโลก โดย เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ได้ออกโรงเตือนเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (6 เมษายน) ว่าความขัดแย้งในยูเครนจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาลต่อนานาประเทศทั่วโลก
รายงานระบุว่า Fed จำเป็นต้องดำเนินมาตรการที่จะสกัดไม่ให้เงินเฟ้อพุ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องไม่บังคับใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเกินไปจนส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มีสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้าๆ เห็นได้จากสถานการณ์ในตลาดแรงงานที่อัตราการว่างงานลดต่ำลงแตะระดับต่ำสุดในช่วงก่อนที่โรคโควิดจะระบาดที่ 3.6%
ด้านข้อมูลจาก CME’s FedWatch Tool พบว่า ราว 75% ของนักลงทุนในตลาดคาดหวังให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หลังการประชุม Fed ระหว่างวันที่ 15-16 พฤษภาคมนี้
นอกเหนือจากการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเป็นระบบแล้ว Fed ยังแสดงความพร้อมที่จะเร่งทำมาตรการ QT หรือการปรับลดขนาดงบดุลจากระดับสูงเกือบ 9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม พร้อมเห็นว่าขณะนี้เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่สูงเกินไป และการชะลอเงินเฟ้อถือเป็นภารกิจสำคัญของ Fed อย่างมาก
ขณะเดียวกัน ท่าทีของ Fed ซึ่งสะท้อนให้เห็นความกังวลที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อสูงได้สร้างความกังวลใจให้กับนักลงทุนในตลาดวอลล์สตรีท ส่งผลให้เกิดแรงเทขายครั้งใหญ่ และทำให้ในรอบสัปดาห์นี้ ดัชนีสำคัญในตลาดต่างเคลื่อนไหวอยู่ในแดนลบ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีที่ร่วงหนัก
โดยเมื่อวานนี้ ดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ ปรับตัวลดลง 280.70 จุด หรือ 0.80% ปิดที่ 34,641.18 จุด ขณะที่ดัชนีเอสแอนด์พี 500 ปิดตัวร่วงลง 57.52 จุด หรือ 1.26% ปิดที่ 4,525.12 จุด และดัชนีแนสแด็ก ปรับลดลงมากที่สุด ลดลง 328.39 จุด หรือ -2.26% ปิดที่ 14,204.17 จุด
นักวิเคราะห์มองว่า สัญญาณที่ Fed อาจจะเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับที่รุนแรงมากขึ้น จะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวลง หรืออาจเข้าสู่ภาวะถดถอย ซึ่งหากเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ Fed อาจเผชิญกับความยากลำบากในการประคับประคองเศรษฐกิสหรัฐฯ ให้เดินหน้าต่อไปได้
ขณะที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี พลิกกลับมาปรับตัวพุ่งสูงขึ้นอีกครั้ง โดยมีอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ 2.62% จากเดิมซึ่งอยู่ที่ 2.54% นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 3 ปี แม้ว่าราคาน้ำมันจะเริ่มปรับตัวลดลงจนหลุดกรอบ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล แต่นับตั้งแต่ต้นปี 2022 ราคาน้ำมันโลกมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้วมากกว่า 30% โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนพฤษภาคม ลดลง 5.73 ดอลลาร์ ปิดที่ 96.23 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 5.57 ดอลลาร์ ปิดที่ 101.07 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
การเผยแพร่รายงานประชุม Fed ยังมีผลกระทบต่อราคาทองคำเมื่อวานนี้ (6 เมษายน) โดยปรับตัวลดลงเล็กน้อย ซึ่งราคาทองคำโคเม็กซ์งวดส่งมอบเดือนมิถุนายน ลดลง 4.40 ดอลลาร์ ปิดที่ 1,923.10 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อ้างอิง: