×

PwC คาดธุรกิจไทยปีนี้ยังแห่ควบรวมกิจการ ชิงความได้เปรียบการแข่งขัน เพิ่มความสามารถทำกำไร

05.04.2022
  • LOADING...
PwC

PwC ประเทศไทย คาดปริมาณและมูลค่าการซื้อขายและควบรวมกิจการในประเทศไทยปี 2565 จะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน แม้แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นจะส่งผลต่อต้นทุนทางการเงิน แต่บริษัทต้องหาหนทางในการรักษาความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเพิ่มความสามารถในการทำกำไรในระยะยาวเพื่อเอาชนะเงินเฟ้อ ระบุ อุตสาหกรรมบริการทางการเงินและอุตสาหกรรมเทคโนโลยี จะเป็น 2 อุตสาหกรรมของไทยที่มีการซื้อขายและควบรวมกิจการมากที่สุดในปีนี้ 

 

ฉันทนุช โชติกพนิช หุ้นส่วนและหัวหน้าสายงานดีลส์ บริษัท PwC ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2564 เป็นปีที่มีปริมาณการซื้อขายกิจการสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากธุรกิจและผู้คนเริ่มปรับตัวใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิดได้ ขณะที่แนวโน้มปี 2565 คาดว่าปริมาณและมูลค่าการซื้อขายและควบรวมกิจการจะเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อน แม้ยังมีการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน และอยู่ในช่วงอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อกำลังปรับเพิ่มขึ้นก็ตาม 

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าเป็นเพราะผู้นำธุรกิจเริ่มมองเห็นแนวโน้มของโลกในระยะต่อไปได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จึงหันมาทบทวนกลยุทธ์และธุรกิจในพอร์ตโฟลิโอของตนเอง ขณะที่บางธุรกิจต้องการปรับโครงสร้างต้นทุน หรือแสวงหาธุรกิจอื่นที่ตนยังขาด เพื่อรักษาอัตราการเติบโต โดยกิจการที่มีการควบรวมกันมากที่สุดในประเทศไทยในปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เป็นกิจการในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินและเทคโนโลยี

 

“เทรนด์ของการทำดีลส์ซื้อขายและควบรวมกิจการของไทยในปีนี้จะคล้ายคลึงกับทั่วโลก แม้กระแสอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น อัตราเงินเฟ้อที่ขยับขึ้นสูง และกฎระเบียบที่เพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้เกิดอุปสรรคต่อโครงสร้างการเงินสำหรับการบรรลุข้อตกลงในการทำดีลส์บ้าง แต่สภาวการณ์ดังกล่าว กลับจะยิ่งเป็นตัวผลักดันให้เกิดการควบรวมกิจการมากขึ้น บริษัทจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง เข้าสู่ตลาดใหม่ และแปลงไปสู่ดิจิทัลเพื่อเพิ่มคุณค่ากิจการอย่างยั่งยืน” ฉันทนุชกล่าว

 

ทั้งนี้ แนวโน้มดังกล่าวสอดคล้องกับรายงาน Global M&A Industry Trends: 2022 Outlook ของ PwC ที่ทำการรวบรวมข้อมูลเชิงลึกจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมดีลส์ และทำการวิเคราะห์กิจกรรมดีลส์ทั่วโลก เพื่อประเมินถึงแนวโน้มปริมาณและมูลค่าการควบรวมกิจการพบว่า ปริมาณและมูลค่าการควบรวมกิจการเพิ่มขึ้นทั่วโลกในปีที่ผ่านมา โดยการซื้อขายและควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) ที่ประกาศออกมามีจำนวนกว่า 62,000 รายการในปี 2564 หรือเพิ่มขึ้น 24% จากปี 2563 ขณะที่มูลค่าของการซื้อขายและควบรวมกิจการที่เปิดเผยต่อสาธารณะก็แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.1 ล้านล้านดอลลาร์ (รวมรายการขนาดใหญ่ที่มีมูลค่า 5 พันล้านดอลลาร์ขึ้นไป) หรือเพิ่มขึ้น 57% จากปี 2563 และทำลายสถิติเดิมที่ 4.2 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2550

 

ฉันทนุชกล่าวต่อว่า สถานการณ์การควบรวมกิจการทั่วโลกนั้นมีการแข่งขันที่สูงขึ้นในกลุ่มนักลงทุนที่จะทำการซื้อขายกิจการ ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนทางการเงิน เช่น กองทุนไพรเวทอิควิตี้ หรือนักลงทุนเชิงกลยุทธ์ (Corporates หรือ Strategic Investors) และการที่นักลงทุนมีเงินทุนที่ระดมมาผ่านทางตลาดทุน และจากบริษัทที่สร้างขึ้นมาเพื่อระดมเงินทุนไปซื้อบริษัทอื่น (Special Purpose Acquisition Company: SPAC) ในสหรัฐฯ พร้อมใช้เพื่อสร้างการเติบโตมากกว่าปีก่อนๆ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่า ราคาซื้อขายกิจการจะสูงขึ้นตามไปด้วย เมื่อนักลงทุนซื้อกิจการมาในราคาที่สูงรวมกับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นควบคู่กัน จึงเกิดเป็นความกดดันที่นักลงทุนต้องสร้างมูลค่ากิจการให้เกิดผลกำไรที่สูงกว่าที่เคยทำมาในอดีต

 

ทั้งนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังระบุถึงแนวโน้มการควบรวมกิจการที่จะเกิดขึ้นในอุตสาหกรรมหลัก ดังต่อไปนี้

 

  1. อุตสาหกรรมตลาดผู้บริโภค: พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปจะยังคงเป็นตัวเร่งให้เกิดกิจกรรม M&A ในปีนี้ เนื่องจากองค์กรธุรกิจและกองทุนไพรเวทอิควิตี้ ต้องทบทวนพอร์ตโฟลิโอใหม่เพื่อรองรับแนวโน้มของผู้บริโภคที่กำลังเกิดขึ้น เช่น การบริโภคอย่างมีสติ (Conscious Consumerism) ซึ่งจะทำให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์และบริการเปลี่ยนไปสู่ธุรกิจรูปแบบใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น

 

  1. อุตสาหกรรมพลังงาน สาธารณูปโภค และทรัพยากร: แนวคิดในการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) กำลังขับเคลื่อนกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมนี้ โดยการควบรวมกิจการจะถูกนำมาใช้เพื่อปรับสมดุลพอร์ตการลงทุน และแสวงหาโอกาสในด้าน ESG เพื่อสร้างมูลค่าสำหรับการเติบโต เช่น พลังงานหมุนเวียน การดักจับคาร์บอน การจัดเก็บแบตเตอรี่ ไฮโดรเจน โครงสร้างพื้นฐานการส่งสัญญาณ และเทคโนโลยีสะอาดอื่นๆ

 

  1. อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน: การแข่งขันเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการตลาดเชิงกลยุทธ์จะยังคงกระตุ้นให้เกิดการควบรวมกิจการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การซื้อขายและควบรวมกิจการที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน สินทรัพย์ที่ประสบปัญหา (Distressed Assets) ในภาคธนาคารและประกันภัย จะตกเป็นเป้าหมายในการซื้อขายและควบรวมกิจการได้เช่นเดียวกัน

 

  1. อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ: บริษัทยาและเวชภัณฑ์จะมองหาวิธีปรับพอร์ตโฟลิโอเติบโตผ่านการซื้อขายและควบรวมกิจการ ซึ่งจะเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การผลิตวัคซีนรูปแบบใหม่ (Messenger Ribonucleic Acid: mRNA) การบำบัดด้วยเซลล์และยีนในบริการด้านสุขภาพ แพลตฟอร์มการดูแลเฉพาะทาง การแพทย์ทางไกล (Telehealth) และเทคโนโลยีด้านสุขภาพอื่นๆ เป็นต้น

 

  1. อุตสาหกรรมการผลิตเชิงอุตสาหกรรมและยานยนต์: การทบทวนพอร์ตโฟลิโอเชิงกลยุทธ์และ ESG กำลังขับเคลื่อนกิจกรรม M&A ในอุตสาหกรรมนี้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การซื้อขายและควบรวมกิจการเพื่อเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัล เช่น ยานยนต์ไฟฟ้าและขับเคลื่อนอัตโนมัติ แบตเตอรี่และเทคโนโลยีการชาร์จ การผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ วัสดุยุคใหม่ และการผลิตด้วยพลังงานทางเลือก

 

  1. อุตสาหกรรมเทคโนโลยี สื่อ และโทรคมนาคม: อุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมกำลังเผชิญกับผลกระทบอย่างหนักจากการเข้ามาของเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เข้าสู่กระแสหลักรวดเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ เทคโนโลยีจึงเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะมีปริมาณและมูลค่าการซื้อขายและควบรวมกิจการสูงกว่าอุตสาหกรรมอื่น ในขณะที่บริษัทจากอุตสาหกรรมอื่นก็จะพยายามเข้าถึงเทคโนโลยีหลัก หรือความสามารถทางดิจิทัลของบริษัทในอุตสาหกรรมกลุ่มนี้เช่นกัน

 

“การเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัล น่าจะเป็นแรงกดดันอย่างต่อเนื่องให้ทุกอุตสาหกรรมต้องกลับมาทบทวนพอร์ตโฟลิโอในปีนี้ แม้การทำ M&A จะช่วยขับเคลื่อนการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่การทบทวนธุรกิจเดิมและความสามารถในการทำกำไรก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเมื่อกลับมาทบทวนจะช่วยให้เห็นภาพว่า ธุรกิจในปัจจุบันของเรานั้นยังมีศักยภาพในการเติบโตท่ามกลางแนวโน้มโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ ทำให้ช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นหลายๆ บริษัทตัดขายธุรกิจที่ผลการดำเนินงานไม่ดี หรือไม่ใช่ธุรกิจหลักขององค์กร และอีกหลายรายพยายามรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันด้วยการซื้อกิจการใหม่เข้ามาเสริม ซึ่งเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กิจการที่สำคัญ ไม่แพ้การเติบโตของรายได้และการลดต้นทุน นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่เกิดขึ้น ยังส่งผลโดยตรงกับการบริหารซัพพลายเชนทั่วโลก การเปลี่ยนวิธีการบริหารจัดการวัตถุดิบ แรงงาน การขนส่ง อาจทำให้นักลงทุนเปลี่ยนกลยุทธ์กระจายความเสี่ยงด้วยการมีแหล่งวัตถุดิบในประเทศ หรือในละแวกใกล้เคียง หรือ Nearshore มากขึ้น ผ่านการซื้อขายกิจการ อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 อาจมีการหยุดชะงัก หรือล่าช้าในการปิดการซื้อขายกิจการ” ฉันทนุชกล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X