กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนมีนาคม 2565 อยู่ที่ 5.73% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 13 ปี โดยสาเหตุหลักยังคงเป็นราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่สูงขึ้น 32.43% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิงสูงขึ้น 31.43% และค่ากระแสไฟฟ้าสูงขึ้น 39.95% ซึ่งเป็นไปตามราคาพลังงานในตลาดโลก
ขณะที่สินค้าประเภทอาหาร ได้แก่ เนื้อสัตว์ (สุกร ไก่สด) ไข่ไก่ ผักสดบางชนิด เครื่องประกอบอาหาร และอาหารปรุงสำเร็จ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบ รวมทั้งฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนอยู่ในระดับต่ำ มีส่วนทำให้เงินเฟ้อในเดือนนี้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าที่จำเป็นอีกหลายรายการ เช่น ข้าวสาร ผลไม้สด ค่าเช่าบ้าน เสื้อผ้าและรองเท้า ราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
ด้านดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2565 สูงขึ้น 0.66% เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 (เดือนก่อนหน้าสูงขึ้น 1.06%) จากการสูงขึ้นของราคาเชื้อเพลิงเป็นสำคัญ นอกจากนี้เนื้อสุกร ปลาและสัตว์น้ำ ข้าวสาร นมและผลิตภัณฑ์นม รวมถึงของใช้ส่วนบุคคล ราคาปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา
ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคไตรมาส 1/65 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 4.75% และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า สูงขึ้น 1.91%
สำหรับดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมีนาคม 2565 สูงขึ้น 11.4% ตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบที่ปรับสูงขึ้นตามราคาตลาดโลก โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติและสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง (เคมีภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เคมี) รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารและสินค้าเกษตรสำคัญ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น 8.6% เป็นการสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้าตามต้นทุนการผลิตและวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตวัสดุก่อสร้าง (น้ำมัน เหล็ก ถ่านหิน อะลูมิเนียม) ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 43.8 จากระดับ 44.6 ในเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยลบจากราคาพลังงานและสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น รวมทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มาตรการช่วยเหลือที่ภาครัฐทยอยออกมาเพิ่มเติม และราคาสินค้าเกษตรสำคัญที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยบวกต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะต่อไป
กระทรวงพาณิชย์ปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2565 เป็นระหว่าง 4.0-5.0% (ค่ากลางที่ 4.5%) จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ในเดือนธันวาคม 2564 ระหว่าง 0.7-2.4% (ค่ากลางที่ 1.5%) และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง ทั้งนี้มาตรการของภาครัฐ ทั้งการกำกับดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การพยุงราคาพลังงาน และการอุดหนุนค่าสาธารณูปโภค รวมถึงสถานการณ์โควิ จะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อของไทย
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP