×

อดีตผู้ว่า ธปท. ห่วงการคลังจุดชนวนวิกฤตการเงิน ชี้นโยบายกำกับไม่ชัด ภาระหนี้เพิ่มต่อเนื่อง

04.04.2022
  • LOADING...
อดีตผู้ว่า ธปท. ห่วงการคลังจุดชนวนวิกฤตการเงิน ชี้นโยบายกำกับไม่ชัด ภาระหนี้เพิ่มต่อเนื่อง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จัดงานเสวนา ‘เหลียวหลัง แลหน้า กับผู้ว่าการ ธปท.’ เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปี ธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเรียนรู้การทำหน้าที่ของธนาคารกลางผ่าน 6 อดีตผู้ว่าการ ธปท. ประกอบด้วย

 

  1. ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ผู้ว่าฯ ธปท. ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2540 – พฤษภาคม 2541
  2. ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ผู้ว่าฯ ธปท. ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2544 – ตุลาคม 2549
  3. ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าฯ ธปท. ในช่วงเดือนตุลาคม 2553 – กันยายน 2558
  4. ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล ผู้ว่าฯ ธปท. ในช่วงเดือนเดือนพฤษภาคม 2541 – พฤษภาคม 2544
  5. ดร.ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าฯ ธปท. ในช่วงเดือนตุลาคม 2549 – 30 กันยายน 2553
  6. ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าฯ ธปท. ในช่วงเดือนตุลาคม 2558 – 30 กันยายน 2563

 

การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีคือความท้าทายหลัก 

โดย ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ กล่าวในงานเสวนาว่า มองไปข้างหน้า ความท้าทายต่อระบบเศรษฐกิจและการเงินในปัจจุบันคือ การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งทำให้เกิดเครื่องมือการเงินใหม่ๆ อยู่เสมอ 

 

ทั้งนี้ ข้อดีของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีคือ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้คนในปัจจุบัน และเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลด้านระบบเศรษฐกิจและการเงิน อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนับเป็นความท้าทายหลักสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลอย่างแบงก์ชาติ 

 

ในฐานะแบงก์ชาติต้องมองภาพให้ชัดเจนว่าสิ่งใดกำลังจะมาหรืออาจจะเกิดขึ้น และกระทบต่อระบบเศรษฐกิจที่แบงก์ชาติทำหน้าที่กำกับดูแลมากน้อยแค่ไหน โดยแบงก์ชาติต้องมองหาความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต และหาเครื่องมือรองรับความเสี่ยงนั้นให้ได้

 

อีกความท้าทายคือ การทำงานประสานกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) ที่จะมีหลายมิติและมีความซับซ้อนมากขึ้น โดยจะมีทั้ง Stakeholder ที่คาดหวังในการทำงานของแบงก์ชาติ และ Stakeholder ที่ทำงานร่วมกัน ซึ่งแบงก์ชาติต้องบริหารจัดการให้ได้ โดยอาศัยหลักการทำงานที่ยึดมั่นมาตลอด 

 

“การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีทำให้ Landscape ของสถาบันการเงินเปลี่ยนไปแค่ไหน และการตอบสนองของผู้บริโภคเป็นอย่างไร เหล่านี้แบงก์ชาติต้องมองให้ออก และเชื่อว่าหลายเรื่องในอนาคตจะทำให้แบงก์ชาติต้องทำงานหนักมากขึ้น แต่เชื่อว่าแนวทางการทำงานของแบงก์ชาติในอดีตได้วางพื้นฐานมาค่อนข้างดี” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว 

 

ปรีดิยาธรหวังเห็นการใช้ CBDC ที่เร็วขึ้น 

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กล่าวว่า จากความท้าทายเรื่องการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีเชื่อว่า แบงก์ชาติปัจจุบันสามารถบริหารจัดการได้ และตอบสนองความท้าทายภายใต้บริบทใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งทัศนคติและการจัดการเชิงนโยบายต่อคริปโตเคอร์เรนซีต่างๆ ซึ่งส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับแนวคิดของแบงก์ชาติปัจจุบัน

 

นอกจากนี้มองว่า แนวคิดในการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัล หรือ Central Bank Digital Currencies (CBDC) ก็เป็นการทำงานที่น่าชื่นชม แต่อยากให้มีการพัฒนาและนำใช้ที่รวดเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ เนื่องจากเชื่อว่า CBDC จะมาแทนที่คริปโตเคอร์เรนซีในระบบเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง 

 

ขณะที่ ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล กล่าวว่า ความท้าทายหลักของแบงก์ชาติปัจจุบันคือ ความรวดเร็วในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นตลอดเวลา โดยมองว่าความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นเรื่องปกติของพัฒนาการ ซึ่งในอนาคตจะเกิดพัฒนาการต่างๆ ขึ้นอีกมากมาย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าแบงก์ชาติจะสามารถใช้หลักการ Leadership ในการบริหารจัดการได้อย่างเหมาะสม และจัดการได้อย่างรวดเร็วและเท่าทันการเปลี่ยนแปลงต่างๆ   

 

หวั่นนโยบายการคลังจุดวิกฤตการเงิน

ดร.ชัยวัฒน์ กล่าวเพิ่มว่า หากมองอย่างเป็นกลางแล้ว การเงินการคลังปัจจุบันอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วงมาก เนื่องจากภาครัฐทำงบขาดดุลติดต่อกันเป็นเวลานาน และภาระหนี้ก็ปรับตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ 

 

สภาวการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นเนื่องจากก่อนหน้านี้ภาครัฐได้ดำเนินนโยบายต่างๆ ต่อเนื่องกันจนทำให้ประชาชนชินกับประชานิยม ทั้งนี้ ประเมินว่าหากการคลังไม่ดูแลตัวเองให้ดีกว่านี้ ภาระจะตกมาอยู่ที่นโยบายการเงิน ซึ่งก็จะเป็นเรื่องที่แบงก์ชาติต้องเข้ามากำกับดูแล 

 

“หลายเรื่องที่เกิดขึ้นด้านเศรษฐกิจ ในความจริงแล้วต้นทางเกิดจากเรียลเซกเตอร์ แต่ผู้ใช้นโยบายการเงินอย่างแบงก์ชาติมักจะต้องเข้ามาแก้ปัญหาอยู่เสมอ แต่ในฐานะแบงก์ชาติ ถ้ามีความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายเข้มงวด แม้คนอื่นไม่ชอบก็ต้องทำ” ดร.ชัยวัฒน์ กล่าว 

 

ด้าน ม.ร.ว.ปรีดิยาธร กล่าวว่า ปัจจุบันกระทรวงการคลังใช้เงินเหมือนไม่มีนโยบายกำกับ พิจารณาจากการใช้เงินไปเรื่อยๆ ซึ่งส่วนตัวมองว่าประเทศไทยในปัจจุบันนี้ต้องเน้นให้มีนโยบายการคลังอย่างจริงจัง ส่วนนโยบายการเงินนั้นก็ดำเนินนโยบายต่อไปตามหลักการ แต่ต้องสนับสนุนให้เกิดการเติบโตของระบบเศรษฐกิจพอสมควร 

 

ทั้งนี้ แนะนำให้แบงก์ชาติเน้นความเป็นอิสระ ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ในขณะเดียวกันก็ต้องรับฟังเสียงจากผู้ร่วมงานที่เกี่ยวข้องในการเสริมสร้างเศรษฐกิจ โดยนำเอาความเห็นนั้นๆ มาประกอบกับการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติ 

 

และที่สำคัญนโยบายการเงินต้องประสานกับนโยบายการคลัง เพื่อให้เกิดผลดีสุดต่อระบบเศรษฐกิจ โดยตัวผู้ว่าการแบงก์ชาติต้องประสานกับรัฐมนตรีคลังอย่างดีที่สุด

 

นอกจากนี้ในบทบาทผู้กำกับดูแล แบงก์ชาติต้องถือว่าแบงก์พาณิชย์เป็นลูก ไม่ใช่ศัตรู หากกระทำความผิดก็มอบบทลงโทษเพื่อปรับปรุง ไม่ใช่ทำลาย เพราะธนาคารพาณิชย์เป็นกำลังสำคัญในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ 

 

ส่วน ดร.ประสาร กล่าวถึงกรณีการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังควรเป็นไปในทิศทางใดว่า แบงก์ชาตินั้นไม่สามารถแยกตัวเป็นอิสระจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ ฉะนั้นในการทำงานก็ยังต้องควบคู่กันไปอย่างสมดุลที่สุด 

 

อย่างไรก็ตาม การดำรงตำแหน่งผู้ว่าการแบงก์ชาติในระยะเวลา 5 ปี ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างมาก รวมไปถึงปัญหาเรื่องระบบยุติธรรม ซึ่งนำไปสู่ปัญหาเชิงเศรษฐกิจอีกมากมาย เช่น การขาดการลงทุนทางเศรษฐกิจ การขาดการพัฒนาเทคโนโลยี การขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ ทำให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคอ่อนแรง ซึ่งสาเหตุพื้นฐานของปัญหาเหล่านี้มาจากการปกครองของประเทศ ซึ่งคนส่วนมากในประเทศมองว่าไม่ดี 

 

ยึดมั่นหลักการ ‘ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน’ 

ดร.วิรไท กล่าวว่า อยากเห็น ธปท. ยังคงยึดมั่นในหลักการ ‘ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ และติดดิน’ ที่ยึดถือปฏิบัติมาต่อไปในอนาคต แต่บริบทและการตีความจะต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมและความท้าทายใหม่ๆ ที่จะเข้ามา เช่น การตีความคำว่า ‘ยืนตรง’ ในปัจจุบันคงไม่ใช่แค่เรื่องความซื่อสัตย์ สุจริต ตรงไปตรงมา เพียงอย่างเดียว แต่ในฐานะผู้กำกับดูแลต้องกล้าทำให้สิ่งที่ควรทำด้วย

 

“เวลาที่เกิดสภาวะวิกฤต ถึงแม้ว่าเรื่องนั้นจะไม่ได้อยู่ขอบเขตการดูแลของ ธปท. โดยตรง ถ้าเราไม่กล้าทำก็จะกลายเป็นขว้างงูไม่พ้นคอ ผลเสียที่ตามมาอาจมากกว่ามาก” ดร.วิรไท กล่าว

 

สำหรับเรื่อง ‘มองไกล’ อาจต้องปรับเป็นทั้งมองกว้างและมองไกล เพราะระบบเศรษฐกิจปัจจุบันมีความเชื่อมโยงกันสูงมาก ในภาวะที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายอย่าง จำเป็นอย่างยิ่งที่ ธปท. จะต้องมองไกลให้ถึงทางออกของปัญหา ไม่ใช่จบแค่การประเมินฉากทัศน์ต่างๆ ทางเศรษฐกิจ

 

ส่วนการ ‘ยื่นมือ’ อยากฝากไว้ว่าการที่ ธปท. จะทำงานได้อย่างประสิทธิภาพจะขึ้นอยู่กับความเชื่อถือของประชาชนที่มีต่อ ธปท. ซึ่งที่ประชาชนจะมอบความเชื่อถือให้นั้นจะเกิดจากการมองเห็นประโยชน์จากสิ่งที่ ธปท. ทำว่าตอบโจทย์ชีวิตได้ มีการยื่นมือเข้าไปลักษณะช่วยหาทางแก้ไขปัญหา

 

“สุดท้ายคือ ‘ติดดิน’ คือสิ่งที่ทำต้องเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม หลายเรื่องที่เราเผชิญอยู่ล้วนเป็นเรื่องใหญ่ เช่น หนี้ครัวเรือน การขาดความรู้ทางการเงินของประชาชน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งถ้าเราไม่ทำ เรื่องพวกนี้มันจะกลับมาเป็นปัญหาด้านเสถียรภาพ” วิรไทกล่าว

 

พัฒนาความอยู่ดีกินดี คือพันธกิจแท้จริงของ ธปท.

ธาริษากล่าวว่า แม้ว่าบทบาทของ ธปท. โดยหลักคือ การทำเรื่องนโยบายการเงิน การดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจและการเงิน แต่พันธกิจที่แท้จริงของ ธปท. คือการพัฒนาความอยู่ดีกินดีของประชาชนอย่างยั่งยืน ดังนั้นสิ่งที่ ธปท. ควรเข้าไปเกี่ยวข้องจริงมีมากกว่าแค่นโยบายการเงินและการดูแลเสถียรภาพ 

 

ธาริษากล่าวว่า ที่ผ่านมาเครื่องยนต์ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในลักษณะติดๆ ดับๆ บางส่วนอาจมีพระเอกเป็นการส่งออกหรือบางช่วงอาจเป็นการบริโภคในประเทศ โดยส่วนตัวมองว่าในฐานะที่ ธปท. เป็นเสาหลักต้นหนึ่งของประเทศ ควรจะตั้งคำถามว่า มีทางใดที่จะทำให้เครื่องยนต์ทุกเครื่องเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน

 

“ในแง่กฎหมาย ธปท. สามารถประสานกับอีก 3 เสาหลักอย่าง สภาพัฒน์ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณได้ ถ้าเราสามารถมีส่วนร่วม มีบทบาท หรือสนับสนุนอะไรได้ ก็ควรทำเพื่อแก้ปัญหาทั้งส่วนที่เป็นโจทย์เดิม เช่น หนี้ครัวเรือน ความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กับดักรายได้ปานกลาง ความเหลื่อมล้ำ และโจทย์ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี กระแส ESG และความเสี่ยงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์โลกที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจโลก” ธาริษากล่าว

 

สร้างวัฒนธรรมการถกเถียง

ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าวว่า สิ่งที่อยากเห็นจาก ธปท. ในยุคปัจจุบันคือ การสร้างวัฒนธรรมที่เปิดให้มีการถกเถียงกันได้อย่างตรงไปตรงมา อย่างเช่น ในยุคที่ตัวเองเป็นผู้ว่าฯ ที่เปิดให้นักวิชาการ ภาคเอกชน และภาคธุรกิจ สามารถเข้ามาถกเถียงกับ ธปท. คล้ายการโต้เวทีได้ในงานสัมมนาสิ้นปี

 

“การถกเถียงจะช่วยสร้างความคิด คนใน ธปท. จะได้ถูกเปิดมุมมอง ซึ่งจะช่วยประเทศได้มาก นี่เป็นสิ่งที่อยากฝากผู้ว่าฯ คนปัจจุบันไว้” ม.ร.ว.จัตุมงคล กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X