วันนี้ (4 เมษายน) ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วัย 81 ปี พร้อมด้วย พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ เดินทางไปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) เพื่อยื่นหนังสือถึงผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กรณีมีชาย 4 คนไปคุกคามถึงที่พักของชาญวิทย์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2565 ที่ปิ่นเกล้าคอนโดมิเนียม กรุงเทพมหานคร โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล และลูกศิษย์ นักวิชาการ ร่วมให้กำลังใจ
ชาญวิทย์กล่าวว่า มาแจ้งความต่อ ผบ.ตร. เรื่องที่เกิดขึ้น วันที่ 22 มีนาคม มีชาย 4 คนเดินทางด้วยรถกระบะปกปิดป้ายทะเบียน มี 2 คน ลงจากรถไปพบเจ้าหน้าที่คอนโด แจ้งว่าตัวเองเป็นตำรวจ ถามหาแต่ไม่พบ เพราะไปทำงานที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ชายที่อ้างว่าเป็นตำรวจให้เจ้าหน้าที่คอนโดพาขึ้นไปหน้าห้องพัก เมื่อทราบว่าไม่อยู่ก็ถ่ายรูปหน้าห้องไว้
“ได้ทราบจากเจ้าหน้าที่คอนโดว่าเขามาพร้อมสำเนาบัตรประชาชนของผม เขามาติดตามคนจำนวนหนึ่งที่ไปเกี่ยวข้องกับม็อบ ไปเกี่ยวข้องกับเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ ซึ่งผมเห็นใจและเห็นด้วยกับข้อเรียกร้องของเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่”
ชาญวิทย์กล่าวด้วยว่า ข้อเรียกร้องของเยาวชนเป็นสิ่งที่ตรงประเด็นปัญหาบ้านเมือง เป็นประเด็นที่คนรุ่นตนเอง และพนัส ทัศนียานนท์ ไม่คิดว่าจะได้ยินได้ฟังจากคนรุ่นใหม่ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ของสังคม เป็นปรากฏการณ์ที่ถ้าผู้ใหญ่รับฟังเยาวชนคนหนุ่มสาวแล้วสามารถปฏิรูปประเทศของเราได้ ก็เชื่อว่าสังคมจะผ่านไปสู่อนาคตด้วยการประนีประนอม ด้วยการบอกว่าประเทศเราเป็น Land of Compromise ประเด็นนี้เป็นประเด็นหลักที่เราเผชิญหน้าอยู่ ทั้งปัญหาการเมืองภายใน โรคระบาดโควิด สิ่งที่กำลังเกิดในยูเครนซึ่งมีผลต่อผู้คนทุกเจเนอเรชัน สิ่งที่หลายพรรคกำลังทำเป็นสิ่งซึ่งเราน่าจะช่วยกันผลักดัน จึงมายื่นหนังสือต่อ ผบ.ตร. เพราะการมีคนไปถึงที่พักตนเองซึ่งอายุ 81 ปี รวมถึงคนหนุ่มสาว เป็นสิ่งซึ่งทนายนักกฎหมายมองว่าผิดกฎหมายอาญา
ผู้สื่อข่าวถามว่าเคยถูกคุกคามมาก่อนหรือไม่ ชาญวิทย์กล่าวว่า อยู่ในกลุ่มที่รณรงค์ ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยมาตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 แล้ว ทำงานกับอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในสมัยที่ท่านเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ถูกคุกคาม แต่ตอนนั้นตนเองยังหนุ่ม ไม่มีชื่อเสียง จึงไม่สาหัสเท่าคนเจเนอเรชัน Baby Boomer ไม่สาหัสเท่าอาจารย์ป๋วย เจ้านายในขณะนั้น ไม่สาหัสเท่าอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ที่เคารพรัก นอกจากนั้นส่วนตัวเจอเหตุการณ์ซึ่งไม่ใหญ่โตนัก ถูกแจ้งความดำเนินคดีกรณีแชร์โพสต์จากเฟซบุ๊ก เรื่องการใช้กระเป๋าถือของ นราพร จันทร์โอชา ภริยา พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ข้อหามาตรา 116 แต่อัยการมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้อง ทำให้หลุดรอดจนมาถึงกรณีนี้ หวังว่าจะหลุดรอดอีก ขึ้นอยู่กับ ผบ.ตร. จึงมาแจ้งความที่นี่
ชาญวิทย์กล่าวหลังยื่นหนังสือว่า ตอนแรกว่าจะปล่อยไป แต่เมื่อมาคิดทบทวนดูแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัวเอง แต่คิดถึงคนจำนวนมากที่กำลังเผชิญกับปัญหาแบบนี้ การถูกคุกคามแบบนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนคนหนุ่มสาวเจเนอเรชัน Z ทั้งหลาย หลายคนก็เป็นลูกศิษย์ลูกหาของตัวเองที่มหาวิทยาลัย
“ผมคิดว่าความเป็นอาจารย์ เมื่อลูกศิษย์ลูกหาเผชิญปัญหาความไม่ยุติธรรมแบบนี้ เราอยู่เฉยๆ ไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ได้ ผมก็เลยคิดว่าต้องมาแจ้งความ เพราะไม่ใช่เรื่องเฉพาะตัว แต่เกี่ยวกับคนจำนวนมากในขณะนี้ เกี่ยวกับปัญหาของชาติบ้านเมืองและปัญหากฎหมายด้วย ควรจะทำให้บ้านเมืองปกครองด้วยกฎหมาย ต้องดูว่าทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะดำเนินการอย่างไร วันนี้ขอบคุณตำรวจที่ให้การต้อนรับเป็นอย่างดีและดำเนินการตามกระบวนการแจ้งความ”
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีความกังวลอย่างไร ชาญวิทย์กล่าวว่า มีความกังวล อย่างที่เรารู้กัน ไม่ควรไปไหนมาไหนคนเดียว ไม่ควรไปไหนมาไหนในยามค่ำคืน หลายคนในที่นี้คงรู้จัก ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ซึ่งถูกลอบยิงก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ดร.บุญสนอง นักสังคมนิยม ขับรถเองไปไหนมาไหนตอนกลางคืน นี่เป็นสิ่งที่ต้องระวังตัวตอนนี้ ประกอบกับโควิดระบาดก็อยู่บ้าน
ผู้สื่อข่าวถามว่าอยากสะท้อนอะไรถึงนายกฯ ในฐานะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของตำรวจ ชาญวิทย์กล่าวว่า “ผมเข้าใจว่าเมื่อเป็นข่าวขึ้นมาแล้วมีผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจ ผมว่าระดับบน บรรดาผู้ใหญ่ทั้งหลายก็คงต้องคุยกันว่าจะเอาอย่างไร จะเฉยๆ ปล่อยไป หรือจะแสดงตนให้ประชาชนทั่วๆ ไปเห็นว่ามีความวิตกกังวัลต่อปัญหาแบบนี้ ผมว่าในจังหวะของบ้านเมืองปัจจุบัน กำลังมีการเลือกตั้ง กำลังจะใกล้หมดเทอมวาระของท่านนายกฯ ก็คิดแบบมีตรรกะ เขาไม่น่าจะปล่อยไว้เฉยๆ มันไม่ได้คะแนน”
กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความ กล่าวว่า เรื่องนี้นายกฯ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารและเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตํารวจ (ก.ตร.) มีหน้าที่รับผิดชอบเต็มที่ เพียงแต่ท่านจะสนใจหรือเข้าใจหรือไม่ ต้องให้ ผบ.ตร. รายงานไป
กฤษฎางค์กล่าวว่า คดีชาญวิทย์ไม่ใช่คดีเดียว แต่เกิดขึ้นทั่วประเทศ คือมีผู้ถูกตำรวจไปที่บ้านข่มขู่คุกคาม ความจริงถ้าเขาผิดก็แจ้งความไป แต่การใช้อำนาจแบบนี้ เกินยุคสมัย น่าผิดหวัง ไม่เชื่อว่า ผบ.ตร. และนายกฯ จะไม่รู้ เกรงว่าทั้ง 2 ท่านจะรู้แล้ว เราตอบคำถามไม่ได้ว่าเอาคนแบบนี้มาปกครองประเทศได้อย่างไร
เมื่อถามว่าเหตุที่มายื่น ผบ.ตร. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ยื่นเรื่องให้สถานีตำรวจนครบาล (สน.) ที่ดูแลพื้นที่ กฤษฎางค์กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าหากไปแจ้งความโรงพักท้องที่ก็ไม่มีประโยชน์อะไร เชื่อว่าปัจจุบันอำนาจในการตัดสินใจไม่ได้อยู่ในโรงพักท้องที่ และอาจารย์ทิ้งเวลาไว้สัปดาห์กว่าหลังโพสต์ในโซเชียลมีเดีย ถ้าเห็นแก่ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองหลังมีการกระทำอุกอาจแบบนี้ ตำรวจท้องที่คงต้องเชิญอาจารย์ไปให้ข้อมูลเหมือนคดีอาญา ส่วนตัวจึงเรียนอาจารย์ว่า ถือว่าเราเป็นราษฎร มาพบ ผบ.ตร. ซึ่งเป็นต้นทางกระบวนการยุติธรรม ให้สังคมพิสูจน์ว่าเรื่องนี้จะเอาใจใส่แค่ไหน เรามีภาพคนที่กระทำความผิดทั้ง 4 คนอย่างชัดเจน หลังอาจารย์ถูกคุกคาม 3-4 วัน น้องๆ ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองก็ถูกตำรวจตลิ่งชันไปนั่งเฝ้าหน้าบ้าน ตอนนี้กำลังเช็กว่าเป็นคนเดียวกันหรือเปล่า
“ผมไม่มั่นใจการทำงานของตำรวจ สน.ตลิ่งชัน อาจารย์ชาญวิทย์ก็ไม่มั่นใจ ซึ่งเป็นสิทธิของเรา เราเป็นประชาชน มีสิทธิที่จะไม่มั่นใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งกินเงินเดือนของเรา จึงมาที่นี่ เพราะผลเกิดจากเหตุ จะให้เราเชื่อได้อย่างไร ไม่มีใครไปถามอาจารย์ชาญวิทย์หลังเผยแพร่เรื่องราวในโซเชียลมีเดีย”
กฤษฎางค์กล่าวว่า ผบ.ตร. ส่งตัวแทนมารับหนังสือ เหตุเกิดที่ปิ่นเกล้าคอนโดมิเนียม ที่บ้านพักอาจารย์ เวลากลางวัน มีพยานบุคคลเป็นเจ้าหน้าที่คอนโด มีภาพถ่ายกล้องวงจรปิดของคอนโด คดีนี้ชาย 4 คนที่อ้างว่าเป็นตำรวจ เป็นจริงหรือเปล่าไม่รู้ ใช้อำนาจบาตรใหญ่ไปตามตัวคน บุกไปถึงหน้าห้องพัก อ้างตัวกับเจ้าหน้าที่คอนโดมิเนียมว่าเป็นตำรวจ เข้าใจว่าอยู่ในพื้นที่ สน.ตลิ่งชัน
หลังยื่นหนังสือแล้ว ทนายกฤษฎางค์ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ได้ยื่นหนังสือขอให้ ผบ.ตร. ตรวจสอบกรณีที่ชาญวิทย์ถูกชายฉกรรจ์อ้างเป็นตำรวจไปคุกคาม ทางสำนักงานเลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้รับเอกสารไว้แล้ว มีรายละเอียดเลขรับ ซึ่งท่านได้บอกกับเราว่ามีระยะเวลาในการทำงานตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งเราได้ขอให้พิจารณาโดยเร็ว เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน มีการละเมิดกฎหมายบ้านเมืองอย่างชัดเจน ทางสำนักงานเลขานุการแจ้งว่าจะเสนอให้ ผบ.ตร. โดยเร็ว
ขอให้สื่อมวลชนสอบถาม ผบ.ตร. ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป เพราะเมื่อวันก่อนรองโฆษกตำรวจให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่าอาจารย์ชาญวิทย์อย่ามัวแต่บ่น ให้มาแจ้งความ
สำหรับรายละเอียดเหตุการณ์ วันที่ 22 มีนาคม เวลา 13.00 น. ที่อาคารปิ่นเกล้าคอนโดมิเนียมที่อาจารย์พักอยู่ มีชายฉกรรจ์ขับรถกระบะลักษณะคล้ายรถที่ใช้ในราชการตำรวจ แต่ปกปิดหมายเลขทะเบียน เข้าไปถามเจ้าหน้าที่คอนโดว่าอาจารย์ชาญวิทย์อยู่หรือเปล่า เจ้าหน้าที่บอกว่าอาจารย์ไม่อยู่ ไปทำงาน เขาก็ให้เจ้าหน้าที่พาไปขึ้นลิฟต์ไปหน้าห้องพักอาจารย์ เมื่อพบว่าอาจารย์ไม่อยู่จริงจึงถ่ายภาพไว้แล้วเดินทางกลับ โดยระหว่างนั้นบอกกับเจ้าหน้าที่คอนโดมิเนียมว่าเป็นตำรวจ ไม่ได้บอกสังกัด แต่มาติดตามความเคลื่อนไหวของอาจารย์ชาญวิทย์ เนื่องจากเป็นผู้สนับสนุนม็อบหรือการชุมนุมของเยาวชน จากการสังเกตของเจ้าหน้าที่คอนโดมิเนียม ชายฉกรรจ์กลุ่มนี้ถือภาพถ่ายบัตรประชาชนของอาจารย์ชาญวิทย์ ทนายเห็นว่าเป็นภาพถ่ายบัตรประชาชนจากระบบของตำรวจ ฉะนั้นจึงปรึกษากันว่าจะดำเนินการ
อาจารย์ผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะ ทั้งเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีการไล่ล่าฆ่าผู้ชุมนุม ส่วนเหตุการณ์ที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ปอท.) แจ้งความกรณีกระเป๋าถือภริยานายกฯ อาจารย์ก็พ้นคดี
คราวนี้อาจารย์ว่าจะไม่ถือสาหาความ เพียงแต่เห็นว่าพฤติกรรมเหล่านี้กระทบกระเทือนต่อสวัสดิภาพและละเมิดกฎหมายอย่างชัดเจน การบุกที่พัก ไม่แสดงหมายค้น-หมายจับ เป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจ และถ้าเป็นตำรวจจริงก็มีความผิดตามมาตรา 157 อีกส่วนหนึ่งนอกจากเป็นความผิดต่อเสรีภาพ การข่มขู่คุกคามกรรโชกแล้ว เพราะฉะนั้นหลังรอการติดต่อสัปดาห์กว่าก็ไม่ปรากฏว่ามีตำรวจ สน.ตลิ่งชัน ซึ่งอยู่ในพื้นที่รับผิดชอบเข้าไปติดต่อสอบถามแต่ประการใด ไม่มีตำรวจติดต่อไป แต่หลังจากนั้นในท้องที่ สน.ตลิ่งชัน มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปเฝ้าคุกคามเยาวชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองด้วย จึงคิดว่าถ้าไป สน.ตลิ่งชันก็ไม่มีความหมาย จึงได้มาที่นี่ อาจารย์หวังว่าสิ่งที่ทำจะช่วยให้มีการพิทักษ์รักษาไม่ให้เกิดการละเมิดกฎหมายคุกคามเยาวชนอีกต่อไป
เราร้องขอให้ตรวจสอบ หากพบกระทำความผิดให้ดำเนินคดี เนื่องจากคดีข่มขู่คุกคามประชาชน บุกรุกเคหะสถานในเวลากลางวัน อ้างตัวเป็นตำรวจ ถึงเป็นตำรวจจริงก็เป็นการละเมิด เป็นความผิดมาตรา 157 ซึ่งเป็นความผิดอาญาแผ่นดิน เมื่อเรื่องถึง ผบ.ตร. เราไม่จำเป็นต้องไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษด้วยซ้ำไป ขอให้ตรวจสอบ ถ้าพบว่าเป็นผู้ใดกระทำก็ขอให้ดำเนินคดีแล้วให้รายงานเราโดยเร็ว และหากพบว่าเป็นตำรวจจริงก็ให้ดำเนินคดีตั้งแต่ชั้นผู้บังคับบัญชา เพราะตำรวจเหล่านั้น ไม่ได้กระทำเองแน่นอน ผู้บังคับบัญชาระดับ ผบช.น. ก็ดี ตำรวจสอบสวนกลางก็ดี ต้องรับผิดชอบ จะชดใช้การกระทำผิดอย่างไร อาจารย์ชาญวิทย์บอกผมว่าเรื่องนี้ไม่ใช่การแก้แค้น แต่เป็นการทำกฎหมายให้เป็นกฎหมาย เราจะรักษากฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์นี้กับเยาวชนคนหนุ่มสาว