×

‘EA-BANPU’ กระตุ้นภาครัฐทบทวนนโยบายด้านไฟฟ้า ช่วยสร้าง S-Curve ใหม่ให้เศรษฐกิจไทย

03.04.2022
  • LOADING...
‘EA-BANPU’ กระตุ้นภาครัฐทบทวนนโยบายด้านไฟฟ้า ช่วยสร้าง S-Curve ใหม่ให้เศรษฐกิจไทย

จากงานเสวนาเศรษฐกิจไทย KKP Economic Forum ภายใต้หัวข้อ ‘THIS IS THE END OF THE LINE สถานีต่อไปของเศรษฐกิจไทย สร้างใหม่อย่างไรดี’ สำหรับเวทีเสวนาในประเด็น Bracing for the Future I: Technology & Climate Change ซึ่งมีผู้ร่วมเสวนา 4 ท่าน ได้แก่ ปฐมา จันทรักษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย, สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน), สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) และสฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้แห่ง ‘ป่าสาละ’

 

ในมุมของ สมโภชน์ อาหุนัย เริ่มต้นกล่าวถึงอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งแต่เดิมประเทศไทยเคยเป็นฮับในการผลิตที่สำคัญแห่งหนึ่งของโลก แต่ขณะนี้เรากำลังเผชิญกับความท้าทายที่เราอาจจะสูญเสียจุดเด่นในเรื่องนี้ไป 

 

“ผมมักจะให้ความสำคัญกับเรื่องของ ‘How’ และ ‘When’ โดยเฉพาะเรื่องของเวลาที่เราเหลือไม่มากแล้ว อย่างเรื่องของ EV ที่ผ่านมาเราอาจจะยังมีความได้เปรียบในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและกำลังซื้อที่ยังสูงกว่าอีกหลายประเทศ แต่หากเราหยุดนิ่ง คู่แข่งก็จะตามมาได้ทัน แต่ถ้าเราขยับได้ทันในอีก 3-5 ปีข้างหน้า เราก็จะได้ New S-Curve ตัวใหม่”

 

ในส่วนของ How จำเป็นจะต้องเริ่มจากการปรับเปลี่ยนวิธีคิดก่อน คือการคิดเสมอว่าจะทำอย่างไรให้เกิดนวัตกรรม โดยต้องอยากทำให้ได้และมีกรอบเวลาที่ชัดเจน 

 

ในส่วนของแนวทางในการสนับสนุนอุตสาหกรรม EV อย่างแรกต้องทำให้เกิดดีมานด์ ซึ่งเริ่มเห็นแล้วผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ การเพิ่มโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญอย่างสถานีชาร์จ โดยอาจจะเน้นไปที่ถนน Highway ทุกเส้นทางในทุกๆ 50 กิโลเมตร นอกจากนี้ การสนับสนุนรถ EV เชิงพาณิชย์เป็นเหมือนทางลัดที่จะช่วยทำให้เกิด Economy of Scale ได้เร็วขึ้น เนื่องจากรถเชิงพาณิชย์มีการใช้โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ที่มากกว่า 

 

อีกประเด็นที่สำคัญคือการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า ปัจจุบันเรายังไม่ค่อยเข้าใจว่าผู้ใช้ไฟฟ้าเพื่อรถยนต์ EV แตกต่างไปจากการใช้ไฟฟ้าในบ้าน อาคารสำนักงาน หรือโรงงาน ซึ่งต้องใช้งานตลอดเวลาและไม่เคลื่อนย้ายสถานที่ แต่รถยนต์เคลื่อนที่ได้ และช่วงเวลาในการใช้งานยืดหยุ่น เราจึงควรสร้างราคาไฟฟ้าชนิดใหม่ที่เปลี่ยนแปลงตามความต้องการมากขึ้น โดยค่าไฟฟ้าแต่ละพื้นที่อาจมีความแตกต่างกัน ซึ่งจะช่วยลดปัญหาโครงข่ายไฟฟ้าที่ไม่เพียงพอได้ 

 

ด้าน สมฤดี ชัยมงคล กล่าวว่า ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานดั้งเดิมไปสู่การใช้พลังงานสะอาด 100% โลกของเราต้องเผชิญกับวิกฤตพลังงานกันมากขึ้น ซึ่งระหว่างทางคงต้องใช้พลังงานจากก๊าซธรรมชาติมาเป็นตัวเชื่อม ที่แม้ว่าจะยังไม่ใช่พลังงานสะอาดแต่ก็ยังสะอาดกว่าพลังงานฟอสซิล

 

“ด้วยราคาพลังงานที่สูงขึ้น ซึ่งเราไม่ได้มองว่าจะอยู่แบบนั้นไปตลอด แต่ก็เป็นจุดหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าหลายประเทศต้องหันกลับมาพึ่งพาพลังงานของตัวเอง โดยเฉพาะประเทศที่ต้องนำเข้าหรือยังขาดพลังงานจะได้รับผลกระทบมาก ซึ่งการจะทำแบบนั้นได้ต้องหันมาดูในเรื่องของนโยบายด้วย”

 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่นำเข้าพลังงานสูง และมีการใช้พลังงานที่ค่อนข้างมาก และด้วยต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นก็จะสะท้อนเข้ามาในราคาไฟฟ้า เพราะฉะนั้นการบริหารเรื่องนี้จำเป็นจะต้องเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน และพลังงานต้นน้ำให้เร็วขึ้น โดยเฉพาะนโยบายด้าน Decentralization ที่จะช่วยลดความเสี่ยงด้านวิกฤตพลังงาน โดยเฉพาะด้านราคาที่สูงขึ้น 

 

จากความท้าทายข้างต้น ภาครัฐควรจะสนับสนุนให้ผู้ผลิตพลังงาน ผลิตและใช้เองได้ ซึ่งเป็นประเด็นในเรื่องของ Decentralization ซึ่งจะช่วยให้อัตราค่าไฟที่ส่งไปยังผู้บริโภคลดลง และอีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการสนับสนุนการเปิดขายไฟฟ้าเสรี รวมถึงการเปิดให้ประชาชนสามารถขายไฟฟ้าส่วนที่เหลือกลับให้ภาครัฐได้ 

 

“อย่างกรณีรถยนต์ EV ซึ่งบางคนอาจจะจอดรถไว้เฉยๆ ก็สามารถขายไฟฟ้ากลับให้ภาครัฐได้” 

 

ในมุมของ ปฐมา จันทรักษ์ มองว่า ปัจจุบันองค์กรขนาดใหญ่ราว 86% ให้ความสำคัญกับเรื่องของ ESG และการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่ประเด็นสำคัญคือ มีเพียงแค่ 35% เท่านั้น ที่นำเอาเรื่องนี้ไปปฏิบัติจริง ส่วนที่เหลือยังเป็นเพียงแค่นโยบายเท่านั้น เพราะฉะนั้นแล้วสิ่งสำคัญคือ องค์กรต่างๆ ต้องหันมากำหนดความสำคัญด้านนี้อย่างจริงจัง และต้องมีมาตรวัดที่ชัดเจน รวมถึงการสะท้อนผลกระทบที่เกิดขึ้นให้สังคมได้รับรู้ 

 

ทั้งนี้ การจะก้าวไปสู่เป้าหมายในเรื่อง ESG และการพัฒนาที่ยั่งยืนได้นั้น เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของการเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) และช่วยยกระดับประสิทธิภาพแรงงาน 

 

“อุปสรรคสำคัญที่ทำให้เรายังไม่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ได้มากเท่าที่ควร เป็นผลจากการที่เรามีแผน แต่ไม่เกิดการนำมาปฏิบัติจริง” 

 

ทั้งนี้ ปฐมาได้กล่าวถึง 3 ปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้จริง ได้แก่ 

  1. Incentive คือการให้สิ่งตอบแทนเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดพฤติกรรม อย่างการให้ Incentive กับองค์กรที่พัฒนาได้ดียิ่งขึ้น 
  2. Political View ฝ่ายการเมืองต้องมีบทบาทในการกำหนดนโยบายที่ชัดเจน 
  3. Global Focus การวางแนวทางที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะการดึงเอาเทคโนโลยีมาใช้ 

 

ในมุมของ สฤณี อาชวานันทกุล มองว่า ปัญหาใหญ่ของประเทศไทยที่เชื่อมโยงกับแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ปัญหาอำนาจผูกขาดซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดมากๆ ระหว่างอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจทางการเมือง ทำให้กลุ่มทุนใหญ่สามารถใช้อำนาจทางเศรษฐกิจของตัวเองในฝั่งการเมือง จนส่งผลให้นโยบายกลับหลังหันจากทิศทางที่ควรเป็น หากอิงจากรายงานของ The Economist สิ่งที่เกิดขึ้นนี้อาจเรียกได้ว่า Parasite Economy หรือเศรษฐกิจปรสิต

 

อีกส่วนหนึ่งคือปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทั้งเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจผ่านตัวเลขต่างๆ ขณะเดียวกันเรายังมีความเหลื่อมล้ำทางสังคม อย่างเช่น แรงงานต่างชาติที่ถูกละเลย ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำทางการเมืองที่คนบางกลุ่มถูกเลือกปฏิบัติในการใช้กฎหมาย 

 

ทั้งนี้ ในประเด็นของการที่จะทำให้ทุกฝ่ายหันมาให้ความร่วมมือกันเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนนั้น สฤณีมองว่า แทนที่เราจะตั้งเป้าหมายที่ความร่วมมือกัน อาจต้องถอยกลับมามองให้ตรงกันก่อนว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนจะช่วยให้เศรษฐกิจและสังคมเราดีกว่าเดิมได้อย่างไรบ้าง คือ ใช้ประโยชน์สาธารณะเป็นตัวตั้ง 

 

“สิ่งที่เราต้องสื่อสารให้ชัดคือ ทำให้ทุกคนมองเห็นว่าอนาคตของตัวเองและของประเทศจะเป็นอย่างไรหากยังไม่เปลี่ยนทิศทางไปสู่ความยั่งยืน ขณะเดียวกันก็ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีช่วยเพิ่มพลังในการคานอำนาจทางเศรษฐกิจและอำนาจของรัฐส่วนกลางได้มากขึ้น”

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X