×

‘TOP’ ปรับโครงสร้างทางการเงิน เดินหน้าขายหุ้น GPSC และเพิ่มทุน PO หวังกด D/E เหลือ 1 เท่า

31.03.2022
  • LOADING...
ไทยออยล์

บมจ.ไทยออยล์ หรือ TOP เร่งปรับโครงสร้างการเงินเพื่อรองรับแผนธุรกิจระยะยาว ขายหุ้น GPSC และรับรู้กำไรพิเศษในไตรมาส 2 และขายหุ้นเพิ่มทุนไตรมาส 3 รับเงินสดเข้ากระเป๋ากด D/E เหลือ 1 เท่า 

 

วิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ TOP เปิดเผยว่า บริษัทได้ดำเนินการปรับโครงสร้างทางการเงิน เพื่อรองรับโอกาสการลงทุนตามแผนยุทธศาสตร์สำหรับการเติบโตในปี 2569-2573 ซึ่งมีแผนจะเดินหน้าสร้างการเติบโตครั้งใหม่ หรือ New Round of Growth

 

วนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ด้านการเงินและบัญชี TOP กล่าวว่า แผนปรับโครงสร้างทางการเงินระยะยาวให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อให้พร้อมรองรับการขยายธุรกิจตามแผนกลยุทธ์ที่วางไว้ ประกอบด้วย 

 

  1. การเตรียมเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน ซึ่งจะช่วยลดอัตราส่วนระหว่างหนี้สินสุทธิต่อทุนของบริษัท (Net Debt-to-Equity Ratio: D/E) ให้น้อยกว่าหรือเท่ากับ 1 เท่า และคงอันดับความน่าเชื่อถือด้านเครดิต (Credit Rating) ให้อยู่ในเกณฑ์กลุ่มระดับลงทุน (Investment Grade) ทำให้บริษัทมีความคล่องตัวมากขึ้นในการดำเนินธุรกิจ 

 

โดยบริษัทจะเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่ประชาชนทั่วไป (PO) จำนวนไม่เกิน 275.12 ล้านหุ้น แบ่งเป็นเสนอขาย PO จำนวนไม่เกิน 239.23 ล้านหุ้น และเพื่อรองรับการใช้สิทธิซื้อหุ้นเพิ่มทุนของผู้จัดหาหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) จำนวนไม่เกิน 35.88 ล้านหุ้น

 

  1. การปรับลดสัดส่วนการลงทุนใน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ หรือ GPSC จำนวนทั้งสิ้น 304,098,630 หุ้น คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.78% ของจำนวนหุ้นที่ออกและจำหน่ายแล้วทั้งหมดของ GPSC เป็นมูลค่ารวมประมาณ 22,351 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปชำระคืนหนี้เงินกู้ยืมระยะสั้น (Bridge Loans) จากการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในธุรกิจโอเลฟินส์ใน CAP และบริษัทจะรับรู้กำไรจากการขายหุ้นประมาณ 11,000 ล้านบาทในไตรมาส 2/65 

 

“กระบวนการขายหุ้น GPSC จะเกิดขึ้นในไตรมาส 2 ปีนี้ และบริษัทจะรับรู้กำไรพิเศษจากการขายหุ้นในไตรมาส 2 ทันที ส่วนการขายหุ้นเพิ่มทุนจะเกิดขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ โดยขณะนี้กำลังรอกระบวนการเรื่องการกำหนดราคาเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนอยู่” วนิดากล่าว 

 

นอกจากนี้ TOP ยังอยู่ระหว่างการเข้าลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีสายโอเลฟินส์ใน CAP Indonesia ผู้ผลิตเคมีภัณฑ์ครบวงจรชั้นนำรายใหญ่ที่สุดของประเทศอินโดนีเซียในช่วงปลายปีที่แล้ว ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตครั้งใหม่และตอบโจทย์กลยุทธ์ทรานส์ฟอร์มธุรกิจสู่ปิโตรเคมีที่มีมูลค่าสูง ซึ่งไทยออยล์จะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนครั้งนี้ทันที อีกทั้งเป็นการขยายตลาดไปประเทศอินโดนีเซีย ที่มีความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีจำนวนมากและมีแนวโน้มเติบเติบโตในอนาคต เพราะยังต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งปัจจุบัน CAP มีกำลังการผลิตรวม 4.23 ล้านตันต่อปี และมีแผนก่อสร้างโรงงานปิโตรเคมีแห่งที่ 2 รองรับเป้าหมายขยายกำลังการผลิตอีกเท่าตัวเป็น 8 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2569

 

ปั้น New S-Curve สร้างการเติบโตระยะยาว

 

วิรัตน์กล่าวเพิ่มว่า ท่ามกลางความท้าทายของอุตสาหกรรมพลังงานในปัจจุบัน บริษัทจึงได้ทบทวนแผนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและบริบทของธุรกิจ ภายใต้แนวคิด Building on Our Strong Foundation ต่อยอดธุรกิจจากพื้นฐานด้านการกลั่นไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง กระจายผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการ โดยเจาะลึกในตลาดภูมิภาคที่มีความต้องการสูง รวมถึงกระจายความเสี่ยงการลงทุนไปสู่ธุรกิจที่มีความผันผวนต่ำ และลงทุนในธุรกิจใหม่ที่เป็น New S-Curve สอดคล้องกับเป้าหมายที่จะมีสัดส่วนของกำไรจากธุรกิจปิโตรเลียม 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% ธุรกิจไฟฟ้า 10% และธุรกิจใหม่อีก 10% ภายในปี 2573

 

โดยธุรกิจที่คาดหวังว่าจะมาเป็น New S-Curve มี 4 ธุรกิจ ดังนี้ 

  1. ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับไบโอฟูเอล ไบโอพลาสติก และไบโอเคมิคอล ซึ่งใกล้เคียงกับธุรกิจเดิมของบริษัท ทำให้ต่อยอดได้ง่าย 

 

  1. ธุรกิจเกี่ยวเนื่องพลังงานใหม่ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เริ่มลงทุนโครงการไฮโดรเจนนำร่องไปแล้วที่สหรัฐฯ 

 

  1. ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับสุขภาพ ซึ่งเป็น Segment ที่มีการเติบโตสูงในประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ได้เข้าลงทุนกับสตาร์ทอัพรายหนึ่งที่แยกตัวออกมาจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ 

 

  1. ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับดิจิทัล โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยีและ IoT 

 

คาดผลประกอบการไตรมาส 1/65 โตต่อเนื่อง

 

วิรัตน์กล่าวว่า ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/65 น่าจะเติบโตดีต่อเนื่อง ตามความต้องการใช้น้ำมันที่ฟื้นตัวขึ้นหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลาย ขณะที่ซัพพลายน้ำมันไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับดีมานด์ ซึ่งเป็นผลจากการคว่ำบาตรรัสเซียของชาติตะวันตก ก็ส่งผลให้ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปรับตัวขึ้น จึงส่งผลดีต่อธุรกิจโรงกลั่น

 

ทั้งนี้ ประเมินสถานการณ์ราคาน้ำมันปีนี้น่าจะเคลื่อนไหวอยู่ในระดับสูง โดยแบ่งเป็น 2 กรณี กรณีแรก หากการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียและยูเครนสามารถนำไปสู่การยุติสงครามได้ ราคาน้ำมันก็น่าจะปรับตัวลง หรือเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับ 95-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แม้จะมีอุปทานเข้ามาเพิ่มขึ้นจากฝั่ง OPEC อิหร่าน และสหรัฐฯ แต่มาตรการคว่ำบาตรรัสเซียก็น่าจะยังคงอยู่ต่อไปอีกระยะหนึ่ง เพราะคงไม่สามารถจะยกเลิกได้ทันทีหากยุติสงคราม

 

กรณีที่ 2 หากการเจรจาเพื่อยุติสงครามล้มเหลว ราคาน้ำมันดิบอาจย่อตัวลงได้บ้าง แต่ยังยืนตัวในระดับสูงในช่วงระดับ 110-115 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรืออาจปรับขึ้นไปได้มากกว่านี้ เพราะรัสเซียถือเป็นผู้ส่งออกน้ำมันอันดับต้นๆ ของโลก และยุโรปก็มีการนำเข้าน้ำมันจากรัสเซียเกือบ 30% จึงยังเป็นความเสี่ยงต่อยุโรป

 

“แนวโน้มค่าการกลั่นปีนี้น่าจะดีกว่าปีที่แล้ว ตามดีมานด์เบนซินและดีเซลทั่วโลกฟื้นตัวต่อเนื่องมาจากปลายปี 2564 ทำให้ปัจจุบันค่าการกลั่นกลับเข้าสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิดแล้ว ขณะเดียวกันยังมี Upside จากตลาดผลิตภัณฑ์ ทั้งดีเซลและก๊าซโซลีน เพราะส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดีเซลเทียบกับน้ำมันดิบดูไบ (Spread) ปรับตัวขึ้นสูงมาก เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกน้ำมันดีเซลไปยังยุโรปด้วย และการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวก็ทำให้การใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น โดยสต๊อกน้ำมันดีเซลรวมถึงก๊าซโซลีนทั่วโลกก็อยู่ในระดับต่ำ ทำให้ค่าการกลั่นสามารถยืนตัวกลับไปที่ระดับก่อนเกิดโควิดได้” วิรัตน์กล่าว

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising