บมจ.ไทยนิปปอนรับเบอร์อินดัสตรี้ หรือ TNR ประกาศรุกธุรกิจกัญชง กระท่อม และกัญชาเต็มตัว หวังปั้นเป็นเครื่องจักรขับเคลื่อนรายได้ใหม่ หลังจากที่ปมขัดแย้งกับถุงยางอนามัยแบรนด์ Playboy ยังไม่คืบหน้า ประเดิมลงทุน 200 ล้านบาทในปีนี้และปีหน้า พร้อมมองอนาคตรายได้ทะยานแตะ 50,000 ล้านบาทใน 10 ปี
อมร ดารารัตนโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร TNR เปิดเผยว่า บริษัทได้เดินหน้าขยายธุรกิจครั้งสำคัญ โดยการรุกเข้าสู่อุตสาหกรรมกัญชง กระท่อม และกัญชาอย่างเต็มตัว ครอบคลุมตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ผ่านบริษัท ทีเอ็นอาร์ ไบโอไซเอินซ์ จำกัด (TNRBio) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยที่ TNR ถือหุ้น 100% มีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจสกัดและจำหน่ายสารสำคัญพืชสมุนไพร
โดยตั้งใจจะให้เป็นธุรกิจ New S-Curve ที่ผลักดันการเติบโตอย่างแข็งแกร่ง และมุ่งเป็นหนึ่งในผู้นำธุรกิจในด้านนี้ ด้วยการต่อยอดความเชี่ยวชาญจากธุรกิจหลักในปัจจุบันที่เป็นผู้ผลิตถุงยางอนามัยและเจลหล่อลื่น ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือแพทย์ที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะ และเชื่อว่าในระยะ 10 ปีจากนี้ ผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะสร้างได้ให้กับกับบริษัทราว 50,000 ล้านบาท
“มองว่าหลังจากรัฐบาลปลดล็อกกัญชง กัญชา และกระท่อม ไม่ผิดกฎหมาย ทำให้พืชดังกล่าวกลายเป็นพืชเศรษฐกิจที่รัฐบาลส่งเสริม ซึ่งน่าจะทำให้เป็นอุตสาหกรรมใหญ่ระดับโลก เนื่องจากผลิตภัณฑ์กัญชง กัญชา และกระท่อม ในปัจจุบันจำหน่ายเป็นที่แพร่หลายในยุโรปและสหรัฐฯ และจะกลายมาเป็นธุรกิจใหม่ที่ขับเคลื่อนบริษัทในช่วงที่ความขัดแยังกับทาง Playboy ยังไม่คลี่คลาย”
อนึ่ง เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564 TNR ได้ยื่นฟ้องบริษัท เพลย์บอย เอ็นเทอร์ไพร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (Playboy Enterprises International, Inc.) และบริษัท โปรดักส์ ไลเซนซิ่ง จำกัด (Product Licensing LLC) รวมเรียกว่า ‘เพลย์บอย’ ต่อศาลแขวงสหรัฐฯ ประจำเขตแคลิฟอร์เนีย โดยเรียกค่าเสียหายมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์ ฐานใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายและกระทำผิดต่อกฎหมายสหรัฐฯ
อมรกล่าวเพิ่มว่า TNR จะเข้าสู่ธุรกิจดังกล่าวตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ แบ่งเป็น 3 เฟส คือ กัญชง กระท่อม และกัญชา โดย 2 เฟสแรกเน้นสาร CBD ที่สกัดจากกัญชง และสารไมทราไจนีน (Mitragynine) ที่สกัดจากกระท่อม โดยในส่วนของต้นน้ำได้มีความร่วมมือด้านการวิจัยและการเพาะปลูกกัญชงร่วมกับมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และการพัฒนาสายพันธุ์กัญชงกับบริษัท ฟรอนเทียร์ เจเนติก พาร์ทเนอร์ จำกัด (FGP) เพื่อไปสู่เป้าหมายการปลูกพืชกัญชงที่ให้สารสกัด CBD สูง แต่ต้นทุนไม่สูง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ง่าย ขณะที่กระท่อมปลูกไม่ยาก เพราะสามารถเติบโตได้ดีในประเทศไทย โดยเฉพาะทางภาคใต้ที่ขณะนี้ปลูกกันเป็นจำนวนมาก ในอนาคตน่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจคล้ายกับยางพาราได้
สำหรับกลางน้ำ ขณะนี้โรงงานใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งจะสามารถสกัดสารจากพืชดังกล่าว และผลิตยาสมุนไพรจำหน่วยทั้งในประเทศและอาเซียน ในอนาคตมีแผนจะผลิตยาแผนปัจจุบัน โดยได้วางแบบก่อสร้างส่วนขยายโรงงานเผื่อไว้แล้วพร้อมสร้างเพิ่มเติม ส่วนเครื่องจักรนำเข้ามาจากสหรัฐฯ สามารถสกัดสาร CBD รวมถึงแยกให้บริสุทธิ์ เพื่อนำไปใช้ในอาหารและเครื่องสำอาง รวมถึงยาสมุนไพรที่บริษัทจะผลิตตาม ASEAN GMP
ส่วนปลายน้ำจะเน้นการส่งออก เพราะบริษัทส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศมานานแล้ว มีความรอบรู้ในตลาดต่างประเทศเป็นอย่างดี
สุเมธ มาสิลีรังสี ผู้อำนวยการฝ่ายบัญชีและการเงิน TNR กล่าวว่า บริษัทวางงบลงทุนในธุรกิจดังกล่าวรวม 200 ล้านบาทในช่วง 2 ปีแรก โดยจะมาจากทุนจดทะเบียนของ TNRBio 50 ล้านบาท ส่วนอีก 150 ล้านบาทมาจากสถาบันการเงิน โดยจะแบ่งใช้เงินลงทุนในปี 2565 จำนวน 150 ล้านบาท สำหรับสร้างโรงงาน ซื้อเครื่องจักร และห้องแล็บ 100 ล้านบาท และเงินทุนหมุนเวียน 50 ล้านบาท ส่วนอีก 50 ล้านบาทจะใช้เป็นทุนหมุนเวียนในปี 2566 ที่จะมีการขยายตัวสินค้าไปในวงกว้างขึ้น
ทั้งนี้ TNR วางเป้าหมายรายได้จากธุรกิจใหม่ในช่วง 3 ปีแรกรวม 1,000 ล้านบาท โดยในปี 2665 คาดว่าจะเริ่มสร้างรายได้เข้ามา 100 ล้านบาทในช่วงครึ่งหลังของปี ก่อนจะเพิ่มเป็น 400 ล้านบาทในปี 2566 และ 500 ล้านบาทในปี 2567 และคาดหวังว่าธุรกิจนี้จะค่อยๆ มีสัดส่วนต่อรายได้รวมเพิ่มขึ้น จาก 5% ในปีนี้ เพิ่มเป็น 20% ในปี 2566 และ 25% ในปี 2567
TNR คาดว่าจะเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มดังกล่าวในปี 2566 เป้าหมายส่งออกประเทศแรกคือสหรัฐฯ เนื่องจากกลุ่มผลิตภัณฑ์นี้ถูกกฎหมายในมลรัฐส่วนใหญ่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาสารสกัดกัญชง รวมถึงกระท่อมที่ปัจจุบันสหรัฐฯ นำเข้าจากอินโดนีเซียหลายหมื่นล้านบาท เชื่อว่าผลิตภัณฑ์จากไทยน่าจะแข่งขันได้ดี เพราะมีสารที่มีคุณค่ามากที่สุดและคุณภาพดีกว่าประเทศอื่น
สำหรับแนวโน้มรายได้ปี 2565 คาดว่าจะมีรายได้ประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะมาจากธุรกิจเดิม 1,700 ล้านบาท กล่องบรรจุภัณฑ์ 200 ล้านบาท และธุรกิจกัญชงกัญชา กระท่อม 100 ล้านบาท
“การไม่มีผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ Playboy อีกต่อไป จะไม่ได้สร้างผลกระทบให้บริษัทมากนัก เพราะได้เตรียมออกสินค้าแบรนด์ใหม่มาแทนที่ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ ขณะที่ธุรกิจรับจ้างผลิต (OEM) ที่สร้างรายได้หลักกว่า 85% ยังสามารถขยายตลาดอีกมาก” สุเมธกล่าว
นอกจากนั้นผลประกอบการในปีนี้จะไม่มีรายจ่ายที่เกิดขึ้นจากคดีฟ้องร้องระหว่างบริษัทกับทาง Playboy หลังจากในปี 2564 ได้ตั้งสำรองเผื่อการด้อยค่าและรายจ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปทั้งหมดแล้ว ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายพิเศษและชั่วคราว และมีโอกาสบันทึกกลับมาเป็นรายได้ในอนาคตหากชนะคดี