×

ประมวลเหตุการณ์สำคัญ ครบรอบ 1 เดือน รัสเซียรุกรานยูเครน

โดย THE STANDARD TEAM
27.03.2022
  • LOADING...

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน แห่งรัสเซีย สั่งกองทัพเปิดฉากโจมตียูเครนอย่างเต็มรูปแบบในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 24 กุมภาพันธ์ นับเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดขึ้นกับรัฐยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

 

ผ่านมา 1 เดือนแล้วนับตั้งแต่การรุกรานเริ่มต้นขึ้น ประชาชนมากกว่า 10 ล้านคนกลายเป็นคนไร้บ้านและต้องอพยพหนีภัยสงคราม เมืองต่างๆ ของยูเครนถูกปิดล้อมและถูกกระหน่ำโจมตีด้วยระเบิด ตลอดจนอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างรุนแรงจนจำสภาพบ้านเมืองแทบไม่ได้ ขณะที่มีพลเรือนเสียชีวิตจากการสู้รบหลายร้อยคน

 

ด้านรัสเซียถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรง ซึ่งรวมถึงการอายัดทรัพย์สินและการห้ามส่งออก สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัวจากภาวะถดถอยอันเนื่องมาจากโควิดต้องกลับสู่ความมืดมนอีกครั้ง

 

เกิดอะไรขึ้นบ้างในช่วงเวลา 1 เดือนของสงคราม ย้อนดูไทม์ไลน์ตั้งแต่จุดเริ่มต้น:

 

  • 24 กุมภาพันธ์: รัสเซียเปิดฉากโจมตีเต็มรูปแบบต่อยูเครน ส่งผลให้ประธานาธิบดีโวโลดีเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน สั่งระดมกำลังทหารทั่วประเทศเพื่อต่อสู้

 

ตลาดหลักทรัพย์มอสโกร่วงลง 45% หลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรธนาคารของรัสเซีย

 

  • 26 กุมภาพันธ์: สหภาพยุโรป (EU) ประกาศตัดสถาบันการเงินของรัสเซียออกจากระบบ SWIFT (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) ซึ่งเท่ากับเป็นการตัดรัสเซียออกจากระบบการเงินโลก

 

  • 27 กุมภาพันธ์: สหภาพยุโรปห้ามเครื่องบินพลเรือนของรัสเซียบินผ่านน่านฟ้าของ EU ขณะที่สื่อของทางการรัสเซียอย่าง Sputnik และ Russia Today (RT) รวมถึงบริษัทย่อย ถูกแบนจากอินเทอร์เน็ตและคลื่นวิทยุของ EU

 

ทหารรัสเซียมุ่งหน้าสู่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน และเคลื่อนทัพไปยังเมืองคาร์คีฟและเคอร์ซอน ขณะที่ชาวยูเครนสมัครเข้าร่วมการสู้รบ

 

  • 28 กุมภาพันธ์: ยูเครนสมัครเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการ รัสเซียและยูเครนเริ่มการเจรจาหยุดยิง ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียร่วงลง 30% ทำให้ปูตินต้องงัดมาตรการควบคุมเงินทุน สหภาพยุโรปห้ามการทำธุรกรรมกับธนาคารกลางของรัสเซีย พร้อมทั้งอนุมัติเงินช่วยเหลือกองทัพยูเครน 500 ล้านยูโร (554 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ EU ตกลงที่จะจัดหาอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับประเทศที่สาม

 

  • 1 มีนาคม: ขบวนรถทหารของรัสเซียซึ่งคิดเป็นระยะทางยาว 65 กิโลเมตร มุ่งหน้าสู่กรุงเคียฟ ส่วนอีกด้านหนึ่งก็กดดันคาร์คีฟและมารีอูปอลทางตะวันออกและเคอร์ซอนทางใต้เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ Human Rights Watch รายงานว่า รัสเซียใช้คลัสเตอร์บอมบ์ หรือระเบิดลูกปราย ซึ่งเป็นอาวุธต้องห้าม โจมตีพลเรือน ด้านสหรัฐฯ ประกาศปิดน่านฟ้า ห้ามเครื่องบินรัสเซียบินเข้า

 

  • 2 มีนาคม: รถถังรัสเซียเคลื่อนขบวนเข้าสู่เมืองเคอร์ซอน กลายเป็นเมืองแรกและเมืองเดียวในภูมิภาคที่ถูกยึดครองในช่วงเดือนแรกของสงคราม กองกำลังรัสเซียล้อมรอบเมืองท่ามารีอูปอลทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน ขณะที่จำนวนผู้ลี้ภัยจากยูเครนทะลุ 1 ล้านคน

 

  • 3 มีนาคม: อัยการสูงสุดของศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court) ส่งทีมล่วงหน้าไปตรวจสอบความเป็นไปได้เรื่องการก่ออาชญากรรมสงคราม

 

  • 4 มีนาคม: ปูตินบล็อก Twitter, Facebook, Voice of America, BBC และ Deutsche Welle ตลอดจนแพลตฟอร์มสื่ออื่นๆ ในรัสเซีย พร้อมทั้งลงนามในกฎหมายที่กำหนดให้การเผยแพร่ ‘ข่าวปลอม’ เป็นอาชญากรรม ซึ่งผู้กระทำผิดอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 15 ปี

 

  • 5 มีนาคม: แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พบกับ ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครนที่ชายแดนโปแลนด์-ยูเครน 

 

สหรัฐฯ เร่งให้พลเมืองของตนออกจากรัสเซียทันที

 

Aeroflot สายการบินแห่งชาติและใหญ่ที่สุดของรัสเซีย ประกาศหยุดให้บริการเที่ยวบินระหว่างประเทศทั้งหมด

 

  • 7 มีนาคม: น้ำมันดิบเบรนต์แตะระดับสูงสุดช่วงสั้นๆ ที่ 139.13 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

 

ผู้ลี้ภัยชาวยูเครนแตะหลัก 1.7 ล้านคน

 

  • 8 มีนาคม: พลเรือนจากยูเครนอพยพจากเมืองซูมีผ่านเส้นทางอพยพตามที่มอสโกและเคียฟตกลงกันในการเจรจา

 

สหรัฐฯ ปฏิเสธข้อเสนอของโปแลนด์ในการส่งเครื่องบินรบ MiG-29 ยุคโซเวียตให้กองทัพอากาศของยูเครน ซึ่งเป็นความพยายามเพื่อกัน NATO ออกจากสงคราม

 

คณะกรรมาธิการยุโรปเปิดเผยแผน REPowerEU ซึ่งเป็นแผนการลดการพึ่งพาก๊าซธรรมชาติของรัสเซียลง 2 ใน 3 ภายในสิ้นปีนี้

 

สหรัฐฯ ออกคำสั่งห้ามนำเข้าน้ำมันดิบของรัสเซีย ส่งผลให้ราคาน้ำมันนับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนพุ่งสูงขึ้นถึง 30%

 

จำนวนผู้ลี้ภัยชาวยูเครนพุ่งเกิน 2 ล้านคน

 

  • 9 มีนาคม: รัสเซียโจมตีทางอากาศเข้าใส่โรงพยาบาลทำคลอดในเมืองมารีอูปอล ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย โดยรัสเซียอ้างว่าโรงพยาบาลแห่งนี้เป็นที่ซ่องสุมของพวกหัวรุนแรง

 

ผู้ลี้ภัยจำนวนมากหนีการสู้รบนองเลือดในเออร์ปินและวอร์เซล ซึ่งอยู่บริเวณชานเมืองทางตะวันตกเฉียงเหนือของกรุงเคียฟ 

 

คณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) อนุมัติเงินกู้ฉุกเฉิน 1.4 พันล้านดอลลาร์ให้แก่ยูเครน

 

  • 10 มีนาคม: กองกำลังรัสเซียวางระเบิดเส้นทางอพยพ ขัดขวางไม่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปถึงเมืองมารีอูปอล

 

สภาคองเกรสสหรัฐฯ อนุมัติเงิน 1.36 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยและให้การสนับสนุนทางทหาร

 

  • 11 มีนาคม: รัสเซียลักพาตัวนายกเทศมนตรีเมืองมารีอูปอล เมืองทางตะวันออกเฉียงใต้ของยูเครน

 

ปูตินไฟเขียวรับนักรบนอกกฎหมาย 16,000 คนจากซีเรีย เพื่อมาช่วยทำสงครามในยูเครน

 

จำนวนผู้ลี้ภัยทะลุ 2.5 ล้านคน และอีก 2 ล้านคนยังหลบภัยอยู่ในประเทศ ตามรายงานของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ

 

สหภาพยุโรปออกปฏิญญาแวร์ซาย (Versailles Declaration) เห็นชอบพัฒนาขีดความสามารถในการป้องกันประเทศร่วมกันของยุโรป

 

  • 12 มีนาคม: ในเมืองมารีอูปอล ทีมนักข่าวของสำนักข่าว Associated Press บันทึกภาพรถถังรัสเซียที่รัวกระสุนใส่อาคารอพาร์ตเมนต์ และนักข่าวของ AP เป็นหนึ่งในกลุ่มเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่ตกเป็นเป้าสไนเปอร์ของรัสเซีย กองกำลังรัสเซียเข้ายึดขบวนรถเพื่อมนุษยธรรมที่พยายามจะบรรเทาความเดือดร้อนของชาวเมือง

 

  • 13 มีนาคม: รัสเซียขยายการโจมตีไปยังยูเครนตะวันตก โดยยิงขีปนาวุธร่อน 30 ลูกที่ฐานฝึกทหารในยาโวริฟ ห่างจากชายแดนโปแลนด์ 25 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ยูเครนรายงานว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 35 คน และบาดเจ็บอีก 134 คนจากเหตุการณ์นี้

 

  • 14 มีนาคม: รามซาน คาดีรอฟ ผู้นำเชเชนที่สวามิภักดิ์ต่อรัสเซีย ออกมาประกาศว่าชาวเชเชนได้เข้าร่วมการสู้รบของมอสโกกับยูเครน

 

สหรัฐฯ เตือนจีนว่า สหรัฐฯ จะไม่ยอมให้ลดการคว่ำบาตรรัสเซียไม่ว่าจะในรูปแบบใด ในระหว่างการพบปะหารือระหว่าง เจค ซัลลิแวน ที่ปรึกษาด้านความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ กับหยางเจียฉือ ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการต่างประเทศของจีน 

 

รถประมาณ 160 คันสามารถออกจากมารีอูปอลได้สำเร็จ ในขณะที่รัสเซียปิดกั้นขบวนรถให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม

 

  • 15 มีนาคม: นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก โปแลนด์ และสโลวีเนีย นั่งรถไฟไปเคียฟ

 

พลเรือน 20,000 คนสามารถหลบหนีจากมารีอูปอลได้ ขณะที่ผู้ลี้ภัยมีจำนวนมากกว่า 3 ล้านคนแล้ว

 

เซเลนสกีกล่าวกับเจ้าหน้าที่ของยุโรปว่า เขาไม่เชื่อว่าการเป็นสมาชิก NATO จะเป็นโอกาสสำหรับยูเครน ซึ่งเป็นการส่งสัญญาณถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการประนีประนอมในการเจรจากับมอสโก

 

  • 16 มีนาคม: คณะผู้เจรจารัสเซียและยูเครนหารือเกี่ยวกับ ‘สถานะเป็นกลาง’ ของยูเครน เพื่อแลกกับการรับประกันความปลอดภัยและการถอยทัพออกจากยูเครน

 

ปูตินเปรียบผู้คัดค้านในประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการทำสงครามว่าเป็น ‘ริ้น-ไร’ ที่ทำให้ประเทศอ่อนแอ เขายังกล่าวถึงการทำให้สังคมบริสุทธิ์ และการทำให้ประเทศเข้มแข็ง ซึ่งเป็นการบอกใบ้เกี่ยวกับการปราบปรามผู้เห็นต่าง

 

  • 18 มีนาคม: ยูเครนเปิดเผยว่าได้ช่วยชีวิตประชาชน 130 คนจากซากปรักหักพังของโรงละครแห่งหนึ่งในเมืองมารีอูปอล ที่ถูกทิ้งระเบิดเมื่อ 2 วันก่อน และเตือนว่าอาจมีอีกหลายร้อยคนที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการอพยพพลเรือนอีก 5,000 คนออกจากเมือง ส่งผลให้จำนวนผู้อพยพจากมารีอูปอลเพิ่มขึ้นเป็น 35,000 คน กองกำลังรัสเซียเคลื่อนขบวนเข้าสู่เมืองและมีรายงานการสู้รบเกิดขึ้นใจกลางเมือง ขณะที่เจ้าหน้าที่ยูเครนเปิดเผยว่าเมืองถูกตัดขาดทางออกทางทะเล สภาเมืองมารีอูปอลประเมินว่ามีผู้เสียชีวิต 2,500 คนในระหว่างการบุกโจมตีของรัสเซีย

 

ขีปนาวุธ 6 ลูกถูกยิงจากทะเลดำที่เมืองลวีฟทางตะวันตก ซึ่ง 2 ลูกถูกสกัดกั้น ขณะที่อีก 4 ลูกโจมตีโรงซ่อมเครื่องบิน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย

 

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน แห่งสหรัฐฯ เตือนประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนถึงผลที่จะตามมา หากจีนเสนอให้การสนับสนุนแก่รัสเซีย

 

  • 20 มีนาคม: การโจมตีทางอากาศของรัสเซียสร้างความเสียหายให้โรงเรียนสอนศิลปะในเมืองมารีอูปอล ซึ่งรายงานระบุว่าพลเรือน 400 คนหลบภัยสงครามอยู่ที่โรงเรียนแห่งนี้

 

สหประชาชาติรายงานว่ามีผู้พลัดถิ่นในยูเครนมากกว่า 10 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้รวมถึงผู้ที่อพยพหลบหนีภัยสงครามออกนอกประเทศ

 

  • 21 มีนาคม: ยูเครนปฏิเสธการยื่นคำขาดของรัสเซียที่ต้องการให้ยูเครนยอมจำนนในมารีอูปอล

 

  • 22 มีนาคม: ไบเดนกล่าวว่า คำกล่าวอ้างของปูตินที่ว่ายูเครนมีอาวุธเคมีและอาวุธชีวภาพ เป็น “สัญญาณชัดเจนว่า ผู้นำรัสเซียกำลังพิจารณาที่จะใช้อาวุธทั้งสองชนิด”

 

  • 24 มีนาคม: ไบเดนระบุว่า รัสเซียควรถูกปลดจากการเป็นประเทศสมาชิกกลุ่ม G20 ที่ประกอบไปด้วยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำ 8 ประเทศ กลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดใหญ่อีก 11 ประเทศ และสหภาพยุโรป แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับบรรดาประเทศสมาชิกอื่นๆ ใน G20 พร้อมทั้งชี้ว่า หากอินโดนีเซียในฐานะประธานกลุ่ม 20 ในปีนี้ และประเทศสมาชิกอื่นๆ ไม่เห็นด้วยกับการกระทำดังกล่าว ไบเดนเห็นควรว่าผู้นำยูเครนควรได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย แม้จะในฐานะประเทศผู้สังเกตการณ์ก็ตาม

 

NATO ประกาศภายหลังการประชุมสุดยอดผู้นำ NATO วาระพิเศษที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม ว่าผู้นำชาติสมาชิก NATO ทั้งหมด 30 ประเทศ อนุมัติให้มีการส่งกำลังทหาร 40,000 นาย ไปประจำการใน 4 ประเทศยุโรปตะวันออก ได้แก่ สโลวาเกีย ฮังการี บัลแกเรีย และโรมาเนีย เพื่อเสริมการป้องกันและป้องปรามทางทหาร นอกจากนี้ยังเห็นพ้องให้สนับสนุนอาวุธยุทโธปกรณ์และความช่วยเหลือเพิ่มเติมทางมนุษยธรรมแก่ยูเครน

 

  • 25 มีนาคม: ทางการรัสเซียชี้ ปฏิบัติการทหารเฟสแรกในยูเครนใกล้สำเร็จแล้ว โดยมุ่งเป้าปลดปล่อยแคว้นโดเนตสก์และแคว้นลูฮันสก์ในภูมิภาคดอนบาสทางภาคตะวันออกของยูเครนให้เป็นอิสระ โดยทางการรัสเซียระบุ กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซียสามารถยึดครองพื้นที่ได้ราว 93% ของแคว้นลูฮันสก์ และ 54% ของแคว้นโดเนตสก์ หลังจากที่เคยประกาศรับรองเอกราชให้แก่แคว้นดังกล่าว ก่อนเปิดฉากทำสงครามรุกรานยูเครนเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (EU) ประกาศจัดตั้งคณะทำงานเพื่อหาทางลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากรัสเซียของ EU และเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของยุโรป โดยในความริเริ่มดังกล่าว สหรัฐฯ จะทำงานร่วมกับหุ้นส่วนต่างๆ เพื่อมุ่งมั่นจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ให้แก่ EU เพิ่มเติมอย่างน้อย 1.5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรภายในสิ้นปีนี้ และเป้าหมายระยะยาวคือการทำให้มั่นใจว่าจะมีก๊าซจากสหรัฐฯ เพิ่มเติมประมาณ 5 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีจนถึงปี 2030 เป็นอย่างน้อย นอกจากนี้คณะทำงานยังมีเป้าหมายลดความต้องการใช้งานก๊าซธรรมชาติลงผ่านวิธีการต่างๆ

 

  • 26 มีนาคม: มักซิม โคซิตสกี ผู้ว่าการภูมิภาคลวีฟของยูเครน ระบุว่าเกิดเหตุจรวดโจมตีเมืองลวีฟ ซึ่งเบื้องต้นพบผู้บาดเจ็บ 5 คน ต่อมา อังเดร ซาโดวี นายกเทศมนตรีของเมืองลวีฟ โพสต์ข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า จุดที่เกิดเพลิงไหม้คือสถานที่เก็บเชื้อเพลิงแห่งหนึ่ง อันเป็นผลมาจากการโจมตี โดยจุดดังกล่าวอยู่ภายในเขตของเมืองลวีฟ

 

ภาพ: Satellite image (c) 2022 Maxar Technologies via Getty Images

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X