เหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่วัน ก่อนการประกาศรางวัลอคาเดมี อวอร์ดส์ (Academy Awards) หรือในชื่อที่ทุกคนคุ้นเคยกันกับงานประกาศรางวัลออสการ์ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 27 มีนาคมนี้ ที่ดอลบี้เธียเตอร์ ฮอลลีวูด แคลิฟอร์เนีย
ย้อนกลับไปตั้งแต่การมอบรางวัลถูกจัดขึ้นครั้งแรกในปี 2472 ผ่านมาถึง 94 ปี ออสการ์ได้กลายเป็นรางวัลอันทรงเกียรติที่ทั้งนักแสดงและผู้กำกับภาพยนตร์ทั่วโลกใฝ่ฝัน
แม้ในระยะแรกภาพยนตร์ที่มีโอกาสเข้าชิงรางวัลจะมีเพียงภาพยนตร์จากฝั่งฮอลลีวูดเป็นส่วนใหญ่ แต่ต่อมาเมื่อภาพยนตร์เรื่อง Rashomon จากประเทศญี่ปุ่นก็ได้รับเลือกให้เป็นภาพยนตร์เอเชียเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลเกียรติยศจากเวทีออสการ์ ประจำปี 2494 เราก็พบว่าภาพยนตร์จากเอเชียค่อยๆ เข้าไปมีพื้นที่ในงานประกาศรางวัลออสการ์มากขึ้น
การเข้าไปช่วงชิงพื้นที่ของภาพยนตร์เอเชียในงานประกาศรางวัลออสการ์ที่เพิ่มมากขึ้น ได้สร้างแรงกระเพื่อมและจุดประกายความหวังใหม่ๆ ให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เอเชีย รวมทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเองก็เช่นกัน
แม้ตั้งแต่ปี 2547 ภาพยนตร์ไทยกว่า 28 เรื่องที่ถูกส่งชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมจะยังไม่สามารถเข้ารอบสุดท้ายได้สำเร็จ แต่ก็ใช่ว่าในอนาคตเราจะไม่สามารถมีโอกาสเข้าไปช่วงชิงพื้นที่นี้ได้
เนื่องจากในปัจจุบันรางวัลออสการ์มีความตั้งใจในการปรับเปลี่ยนทิศทางให้เป็นรางวัลสำหรับภาพยนตร์ระดับโลกมากขึ้น ด้วยการเพิ่มสัดส่วนของคณะกรรมการจากหลากหลายประเทศ และเปิดโอกาสให้ภาพยนตร์จากทั่วโลกได้มีโอกาสเข้าไปมีพื้นที่ในการชิงรางวัลมากขึ้น
เมื่อมีโอกาสเช่นนี้จึงเป็นสิ่งที่น่าขบคิดว่า แล้ววงการภาพยนตร์ไทยควรเตรียมตัวและวางแผนในการเล่นเกมชิงรางวัลออสการ์ต่อไปอย่างไรในอนาคต
THE STANDARD POP ถือโอกาสพูดคุยกับ นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา เจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์ ปี 2562 ซึ่งมีโอกาสได้เป็นตัวแทนภาพยนตร์ไทยในการส่งชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ปีที่ 92 มาร่วมกันถอดบทเรียนจากสองภาพยนตร์เอเชียที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากบนเวทีออสการ์
Parasite ภาพยนตร์เรื่องแรกจากเกาหลีใต้ที่เข้าไปถึงรอบสุดท้าย และสามารถคว้ารางวัลในปี 2019 มาได้สำเร็จ กลายเป็นภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจากเวทีออสการ์ รวมทั้งรางวัลอื่นๆ อีกถึง 3 สาขา และ Drive My Car ภาพยนตร์จากประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเคยเข้าชิงออสการ์มากที่สุดในเอเชีย โดยในปีนี้ก็สามารถเข้าชิงรางวัลไปได้ถึง 4 สาขาเช่นกัน
เราถือโอกาสนี้ร่วมถอดบทเรียนจากความสำเร็จของภาพยนตร์สองเรื่องนี้ เพื่อหาหัวใจสำคัญในการไปสู่เวทีออสการ์ ที่จะเป็นแนวทางให้กับภายนตร์ไทยบนเวทีโลกต่อไปในอนาคต
-
ประเด็นหลักของภาพยนตร์ต้องเข้าถึงผู้ชมทั่วโลก
“อย่างแรกประเด็นที่เล่าต้องเป็นประเด็นที่คนทั่วโลกสามารถเข้าใจและเชื่อมโยงได้ อาจจะเป็นภาพยนตร์ดราม่าเล็กๆ ก็ได้ หรือภาพยนตร์ที่พูดถึงปัญหาสังคมอะไรบางอย่างก็ได้ แต่ต้องหาวิธีการเล่าให้คนเชื่อมโยงและเข้าใจให้ได้”
นุชี่ได้ให้ข้อสังเกตว่าปัจจัยหลักที่จะทำให้ภาพยนตร์สักเรื่องสามารถเข้าไปชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสก้าได้นั้น จำเป็นที่จะต้องมีประเด็นหรือใจความหลักของเรื่องที่สามารถเข้าถึงผู้ชมทั่วโลกได้
หากเราลองถอดบทเรียนจาก Parasite จะพบว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เลือกหยิบยกประเด็นความแตกต่างระหว่างชนชั้น ซึ่งเป็นปัญหาที่สังคมทั่วโลกต้องเผชิญ มาบอกเล่าได้อย่างมีชั้นเชิงด้วยการพาเราดำดิ่งไปกับเรื่องราวเสียดสีสังคมที่จบลงพร้อมโศกนาฏกรรมที่ตราตรึงอยู่ในใจของผู้ชม
ในขณะที่ภาพยนตร์เรื่อง Drive My Car เปรียบเหมือนบทเรียนชีวิตฉบับรวบรัด ที่สะท้อนผ่านบทสนทนาของสองตัวละครหลักบนรถวินเทจสีแดงเพลิง โดยมีใจความสำคัญเกี่ยวกับการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเจ็บปวดและบาดแผลในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องพบเจอ จึงทำให้ผู้ชมรู้สึกมีอารมณ์ร่วมได้ไม่ยาก
เมื่อถอดบทเรียนจากภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ จะพบว่าประเด็นที่สามารถเชื่อมโยงกับคนทั่วโลก และการเล่าเรื่องที่มีชั้นเชิง นับเป็นสิ่งสำคัญพื้นฐานที่ภาพยนตร์ชิงรางวัลออสการ์ส่วนใหญ่ล้วนมี แต่อาจเป็นคุณสมบัติที่วงการภาพยนตร์ไทยยังขาดหายไป และจำเป็นจะต้องมีการพัฒนาต่อไปในอนาคต
-
ภาพยนตร์ต้องมีมาตรฐานการถ่ายทำในระดับสากล
“เราต้องมีการลงทุนในโปรดักชัน และทำให้คุณภาพการถ่ายทำมีคุณภาพที่ได้มาตรฐานสากล หรือมาตรฐานระดับฮอลลีวูด”
นอกจากเนื้อหาและแก่นหลักที่ถูกถ่ายทอดผ่านภาพยนตร์ หากมีโอกาสได้รับชมภาพยนตร์เรื่อง Parasite หรือ Drive My Car จะพบว่าคุณภาพการถ่ายทำก็เป็นสิ่งที่คณะกรรมการออสการ์ให้ความสำคัญ ตั้งแต่งานภาพที่ถูกออกแบบกันเฟรมต่อเฟรม การเลือกใช้สีต่างๆ ให้เหมาะกับ Mood & Tone ไปจนถึงรายละเอียดของมุมกล้องที่ได้รับการวางแผนมาอย่างดี เพื่อที่จะสามารถถ่ายทอดเรื่องราวในภาพยนตร์ได้อย่างสมบูรณ์แบบ
ในฐานะของผู้ชมเราพบว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หากตัดประเด็นเรื่องทุนสร้างที่สัมพันธ์กับส่วนแบ่งทางการตลาดซึ่งยังมีอยู่น้อยในขณะนี้ ภาพยนตร์ไทยเองก็มีพัฒนาการด้านโปรดักชันที่ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ พิสูจน์ให้เห็นว่าคนไทยเองก็มีศักยภาพไม่ต่างจากประเทศอื่นๆ แต่เมื่อมองไปถึงกระบวนการผลิตงาน สิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นคือ การให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตและสิทธิของคนทำงานกองถ่าย
บงจุนโฮ ผู้กำกับภาพยนตร์เรื่อง Parasite ได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนภายหลังได้รับรางวัลออสการ์ว่า กองถ่ายของเขาให้ความสำคัญกับการจัดตารางถ่ายทำตามกฎการคุ้มครองแรงงานในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ซึ่งมีการร่างและเผยแพร่โดยสมาคมภาพยนตร์ของเกาหลีใต้ ระบุไว้ว่าทีมงานจะได้รับเงินเดือนอยู่ที่ประมาณ 4-5 หมื่นบาท โดยทำงานเฉลี่ย 5-6 วันต่อสัปดาห์ วันละไม่เกิน 12 ชั่วโมง รวมทั้งต้องมีการจ่ายเงินค่าทำงานล่วงเวลาอย่างเคร่งครัด และมีวันหยุดพักผ่อนให้กับทีมงานในทุกๆ เดือน
ด้านประเทศญี่ปุ่นเอง จากการสำรวจรายได้ของทีมงานกองถ่ายส่วนใหญ่ พบว่าเงินเดือนพื้นฐานของพวกเขาจะอยู่ที่ 5-6 หมื่นบาท หรือปีละประมาณเจ็ดแสนบาทไทย ทั้งนี้ ยังไม่รวมโบนัสที่แต่ละค่ายภาพยนตร์จะมอบให้ในทุกๆ ปี และยิ่งอายุการทำงานเพิ่มมากขึ้น ฐานเงินเดือนในแต่ละปีก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ในขณะที่คนทำงานกองถ่ายในประเทศไทย ยังต้องเผชิญหน้ากับการทำงานหนักแบบเอาเป็นเอาตาย สวนทางกับรายได้และสวัสดิการณ์ที่ได้รับ รวมทั้งยังไม่มีองค์กรที่เข้ามาคอยดูแลอย่างจริงจัง ทำให้กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน
เพราะหากประเทศไทยสามารถเพิ่มมาตรฐานการทำงานและยกระดับคุณภาพชีวิตของทีมงานให้ดีขึ้นได้ พวกเขาก็จะสามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพมากขึ้น รวมทั้งยังเป็นการดึงดูดคนรุ่นใหม่ หรือคนที่มีความสามารถเข้ามาร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อยกระดับมาตรฐานการผลิตของภาพยนตร์ไทยไปสู่ระดับโลกในอนาคต
-
การทำการตลาดที่ดีจะช่วยเพิ่มโอกาสได้มากขึ้น
ประสบการณ์ตรงจากที่ภาพยนตร์เรื่อง มะลิลา ถูกเสนอชื่อเพื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ทำให้นุชี่พบว่าการที่ภาพยนตร์สักเรื่องจะมีโอกาสเข้าชิงรางวัลได้นั้น จะต้องมีการโฆษณาและการโปรโมตที่มากเพียงพอ
“ปีที่ มะลิลา เข้าชิง พี่ก็พยายามวิ่งเต้นกับทางเอกชนเพื่อหาทุนในการโปรโมต มีการลงโฆษณาบนนิตยสารฝั่งฮอลลีวูดบ้าง และการโปรโมตให้ภาพยนตร์เข้าตากรรมการออสการ์ต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล อาจจะหลัก 10 ล้านบาท 30 ล้านบาท ซึ่งเราต้องเริ่มทำการโปรโมตตั้งแต่ภาพยนตร์เริ่มฉายที่เทศกาลต่างๆ”
หากลองสังเกตจากภาพยนตร์ที่เข้าชิงออสการ์ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะพบว่าค่ายภาพยนตร์มักนิยมซื้อพื้นที่โฆษณาบนนิตยสาร Variety และ The Hollywood Reporter ซึ่งในฤดูกาลของออสการ์ อาจมีราคาถึงหน้าละประมาณสองแสนบาท
นอกจากการลงเงินในการทำโฆษณาแล้ว การสร้างกระแสให้กับภาพยนตร์ตั้งแต่เนิ่นๆ ก็เป็นสิ่งที่สำคัญเช่นกัน เพราะยิ่งภาพยนตร์มีกระแสและได้รับรางวัลในเทศกาลภาพยนตร์อื่นๆ มาก่อน ก็จะช่วยให้ภาพยนตร์เรื่องนั้นมีโอกาสเข้าตากรรมการออสการ์ได้มากขึ้น
การไปโลดแล่นและประสบความสำเร็จบนเวทีระดับนานาชาติและระดับโลกของ Parasite และ Drive My Car นับเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลให้ภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องนี้ได้รับเลือกให้เข้าชิงรางวัลออสการ์ด้วยเช่นกัน
สุดท้ายแม้ว่าองค์ประกอบ 3 อย่างนี้ จะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ภาพยนตร์เรื่องหนึ่งมีโอกาสในการเข้าชิงรางวัลออสการ์ได้มากขึ้น แต่การที่ภาพยนตร์ไทยจะมีองค์ประกอบทั้งหมดครบในเรื่องเดียว นอกจากความสามารถและศักยภาพของทีมงานแล้ว การสนับสนุนจากภาครัฐและเอกชนก็มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก
เนื่องจากปัญหาหลักของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยในตอนนี้คือ การมีส่วนแบ่งในตลาดโลกที่น้อย ทำให้ทุนในการสร้างน้อยตามไปด้วย การพัฒนาของวงการภาพยนตร์ไทยที่เกิดจากเอกชนเพียงอย่างเดียว จึงไม่สามารถพัฒนาได้รวดเร็วเท่ากับประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้ การจะเกิดความร่วมมือระหว่างเอกชนและรัฐได้ จะต้องเริ่มจากวิสัยทัศน์ที่ผู้นำของประเทศมองเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมบันเทิงเสียก่อน ยกตัวอย่างประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียอย่างเกาหลีใต้ จากจุดเริ่มต้นในปี 2536 ที่ประธานาธิบดีคิมยองซัมเริ่มเห็นความสำคัญของอุตสาหกรรมบันเทิงและการส่งออกวัฒนธรรม ทำให้เกิดเป็นนโยบายที่สนับสนุนวงการบันเทิงเกาหลีใต้ รวมทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์อย่างจริงจังตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
แม้จะเป็นเวลาเพียง 29 ปี แต่วิสัยทัศน์ที่กว้างไกลและการลงมือพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ก็ทำให้ภาพยนตร์ของเกาหลีใต้สามารถประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว และกลายเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองในเวทีระดับโลก
ฝั่งประเทศญี่ปุ่นเองก็มีการกำหนดแผนยุทธศาสตร์ Cool Japan โดยรัฐาลชินโซ อาเบะ ที่ให้การดูแลและสนับสนุนการส่งออกวัฒนธรรมและภาพยนตร์ญี่ปุ่นอย่างจริงจัง ด้วยการที่รัฐบาลเป็นผู้นำในการทำงานร่วมกับหน่วยงานและกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแบบ All Japan ทำให้สามารถผนึกกำลังและดำเนินแผนงานในการสนับสนุนได้อย่างเต็มที่
ในขณะที่บ้านเราแม้จะมีทั้ง กระทรวงวัฒนธรรม, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, กระทรวงอุตสหกรรม รวมไปถึงกระทรวงอื่นๆ ที่มีนโยบายในการสนับสนุนภาพยนตร์ไทยอยู่บ้าง แต่การทำงานที่กระจัดกระจายก็ทำให้เกิดการสนับสนุนที่ไม่ต่อเนื่องมากพอ
เราจึงได้แต่หวังว่า หากในอนาคตประเทศไทยสามารถจัดตั้งองค์กรที่รวบรวมหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ผลิตภาพยนตร์ไว้ด้วยกันได้สำเร็จ คงจะนำไปสู่การลงมือพัฒนาและสนับสนุนภาพยนตร์ไทยได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการให้เงินทุนสนับสนุนเพื่ออุดรูรั่วให้กับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไม่ว่าจะเป็นการให้เงินทุนสำหรับการพัฒนาบท หรือการยกระดับคุณภาพชีวิตของทีมงาน ไปจนถึงการให้ทุนในการสำรวจตลาด เพื่อพัฒนาภาพยนตร์ให้สามารถเข้าไปช่วงชิงส่วนแบ่งทางการตลาดในระดับโลกได้มากขึ้น
แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อรัฐบาลมองเห็นคุณค่าของศิลปะ สื่อบันเทิง และอุตสาหกรรมภาพยนตร์มากพอ และหากวันนั้นมาถึงเราคงได้เห็นโอกาสใหม่ๆ ที่ช่วยกระตุ้นให้ผู้ผลิตภาพยนตร์สามารถดึงศักยภาพของตนเองออกมาได้อย่างเต็มที่
ในตอนนั้นอาจถึงวันที่รายชื่อของภาพยนตร์ไทยจะไปโลดแล่นอยู่ในฐานะผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ของทุกๆ ปีก็เป็นได้
อ้างอิง:
- https://english.hani.co.kr/arti/english_edition/e_entertainment/895674.html
- https://www.salaryexpert.com/salary/job/film-crew-member/japan
- https://www.indiewire.com/2020/02/bong-joon-ho-oscars-parasite-pr-campaign-1202210832/
- https://www.japantimes.co.jp/news/2012/05/15/reference/exporting-culture-via-cool-japan/
- อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยเริ่มส่งภาพยนตร์เพื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ในสาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม ครั้งแรกในปี 2527 โดยภาพยนตร์เรื่อง น้ำพุ ฝีมือการกำกับของ ยุทธนา มุกดาสนิท ได้ถูกคัดเลือกเป็นตัวแทนในการส่งชื่อเข้าชิงเป็นเรื่องแรก
- จากภาพยนตร์ไทยจำนวน 28 เรื่องที่ถูกส่งชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ผลงานจากการกำกับของ เป็นเอก รัตนเรือง ได้รับคัดเลือกสูงสุดถึง 4 เรื่อง ได้แก่ เรื่องตลก 69 (2543), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2545), มนต์รักทรานซิสเตอร์ (2546) และ ฝนตกขึ้นฟ้า (2555) และภาพยนตร์ของหม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล ที่ได้รับคัดเลือกในจำนวนเท่ากัน ได้แก่ คนเลี้ยงช้าง (2532), น้องเมีย (2553), เสียดาย 2 (2540), ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๒ ประกาศอิสรภาพ (2550)
- ภาพยนตร์ไทยเรื่องล่าสุดที่ได้รับเลือกเพื่อเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ปีที่ 94 คือภาพยนตร์เรื่อง ร่างทรง ด้วยฝีมือการกำกับของ บรรจง ปิสัญธนะกูล ซึ่งเป็นภาพยนตร์ร่วมทุนสร้างระหว่างประเทศไทยและเกาหลีใต้ แต่ก็ยังไม่สามารถผ่านเข้าไปยังรอบสุดท้ายของการเข้าชิงรางวัลออสการ์ได้สำเร็จ