×

แกะปมสาเหตุ MAJOR ทุ่ม ‘พันล้าน’ ถือหุ้น 5% ใน TKN และ WORK พร้อมเล็งซื้อเพิ่มเป็นไม่เกิน 10%

18.03.2022
  • LOADING...
MAJOR

แกะรอย MAJOR หลังขยับลงทุนครั้งใหญ่ ทุ่มเงินกว่า 1 พันล้านบาท เข้าถือหุ้นใน TKN และ WORK ราว 5% พร้อมเล็งซื้อเพิ่มเป็นไม่เกิน 10% หวังต่อยอดธุรกิจหลัก เพิ่มช่องทางหารายได้ หลังจากช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัทเผชิญพิษโควิดทำรายได้ทรุดหนักจนพลิกขาดทุน โบรกมองธุรกิจปีนี้เริ่มกลับมาสดใส

 

บมจ.เมเจอร์ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป หรือ MAJOR ถือเป็นผู้ให้บริการโรงภาพยนตร์ในระบบมัลติเพล็กซ์รายใหญ่ในประเทศไทย นอกจากธุรกิจโรงภาพยนตร์แล้ว MAJOR ยังให้บริการในธุรกิจโบว์ลิ่ง, คาราโอเกะ, ลานสเกตน้ำแข็ง, ธุรกิจพื้นที่เช่าและศูนย์การค้า, ธุรกิจการสร้างและการจัดจำหน่ายภาพยนตร์ รวมทั้งธุรกิจบริการสื่อโฆษณาและศูนย์สุขภาพอีกด้วย

 

MAJOR ประสบปัญหารายได้ลดและขาดทุนจากการดำเนินงานตั้งแต่โควิดระบาด เนื่องจากไม่สามารถเปิดให้บริการโรงภาพยนตร์ได้ แถมภาพยนตร์หลายเรื่องต้องเลื่อนฉายออกไป ขณะที่ลูกค้าเองก็ไม่กล้าเข้ามาใช้บริการ

 

ภายใต้สถานการณ์เหล่านี้ MAJOR จำเป็นต้องหาช่องทางอื่นเพื่อเสริมสร้างรายได้ พร้อมกับลดความเสี่ยงธุรกิจด้วยการกระจายการลงทุนไปยังธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถต่อยอดกับธุรกิจในปัจจุบันได้

 

ทุ่มกว่า 1 พันล้านซื้อหุ้น WORK-TKN

ล่าสุด MAJOR ได้ประกาศเข้าซื้อหุ้น บมจ.เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ หรือ WORK จำนวน 22.1 ล้านหุ้น คิดเป็น 5.0049 % ของหุ้นทั้งหมด ซึ่งเป็นการทยอยซื้อผ่านตลาดหุ้นในช่วงราคาระหว่าง 22.41-25.75 บาทต่อหุ้น คิดเป็นราคาเฉลี่ยที่ 23.66 บาทต่อหุ้น มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 523 ล้านบาท ทำให้ MAJOR ขึ้นแท่นผู้ถือหุ้นอันดับ 3 ของ WORK ทันที

 

ก่อนจะเข้าซื้อหุ้น WORK ไม่นาน MAJOR ได้เข้าถือหุ้น บมจ.เถ้าแก่น้อย ฟู๊ดแอนด์มาร์เก็ตติ้ง หรือ TKN จำนวน 69 ล้านหุ้น ซึ่งเป็นการทยอยซื้อหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์เช่นกัน โดยมีช่วงราคาระหว่าง 7.06-8.26 บาทต่อหุ้น คิดเป็นราคาเฉลี่ยที่ 7.82 บาทต่อหุ้น และคิดเป็นมูลค่าการลงทุนราว 540 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบัน MAJOR ถือหุ้นใน TKN แล้วเท่ากับ 5 % ของจำนวนหุ้นทั้งหมดของ TKN ทำให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 4 ในบริษัทนี้ด้วย

 

MAJOR มีเป้าหมายจะซื้อสะสมทั้ง WORK และ TKN เพิ่มเติมเพื่อเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในทั้ง 2 บริษัทให้มากขึ้น แต่จะไม่เกิน 10% ของจำนวนหุ้นทั้งหมด โดยบริษัทจะไม่เข้าไปบริหารจัดการต่อโครงสร้างของทั้ง 2 บริษัท หรือกำหนดนโยบายการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด

 

นอกจากนี้ทาง MAJOR ยังระบุด้วยว่า การถือหุ้นใน WORK ก็เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างการเติบโตของธุรกิจ และเป็นการต่อยอดอุตสาหกรรมภาพยนตร์และบันเทิงด้านการผลิตคอนเทนต์มากขึ้นเพื่อบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ สร้างโอกาสในการลงทุนและการพัฒนากระบวนการดำเนินงาน

 

ส่วนการเข้าถือหุ้นใน TKN ก็เพื่อประโยชน์ในการเสริมสร้างการเติบโตของธุรกิจและขยายความสามารถทางการแข่งขันของบริษัท โดยขยายช่องทางการจัดจำหน่ายป๊อปคอร์นสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเพิ่มช่องทางรายได้สื่อในการประชาสัมพันธ์ทางด้านการตลาดให้กับ TKN ในอนาคต

 

ทั้งนี้ MAJOR มีเป้าหมายในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมในการนำเสนอสินค้าที่หลากหลาย รวมถึงการสร้างนวัตกรรมที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรอบด้าน ด้วยความร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อผลประโยชน์สูงสุดของผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท

 

ขายหุ้น SF เพิ่มสภาพคล่อง

MAJOR รายงานผลประกอบการปี 2564 มีรายได้รวม 3,010 ล้านบาท ลดลง 20% เมื่อเทียบกับปี 2563 และขาดทุนจากการดำเนินงาน 1,758 ล้านบาท ลดลง 36% จากปีก่อน แต่สามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ 1,581.45 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 400% จากที่ขาดทุน 527.40 ล้านบาทในปี 2563 ซึ่งนับเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายปีที่ MAJOR ไม่เคยขาดทุนเลย

 

อย่างไรก็ดี การพลิกกลับมามีกำไรดังกล่าว สาเหตุหลักมาจากรายการพิเศษ เพราะเป็นการรับรู้กำไรจากการขายเงินลงทุนใน บมจ.สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ หรือ SF ออกไป ดังนั้นหากไม่นับรวมรายการนี้ MAJOR จะขาดทุนทันทีราว 710 ล้านบาท

 

โดยเมื่อช่วงกลางปีก่อน MAJOR ได้ขายหุ้น SF จำนวน 647.16 ล้านหุ้น หรือคิดเป็น 30.36 % ของหุ้นที่จำหน่ายแล้วทั้งหมดของ SF ให้แก่บริษัท เซ็นทรัลเวิลด์ จำกัด ซึ่งอยู่ในเครือ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) ในราคาหุ้นละ 12 บาท รวมเป็นเงินกว่า 7.76 พันล้านบาท ทำให้มีกระแสเงินสดจำนวนมาก

 

ขายป๊อปคอร์นเดลิเวอรีหารายได้เสริม

MAJOR พยายามสร้างรายได้เพิ่มจากธุรกิจอาหาร เช่น ป๊อปคอร์นแบบเดลิเวอรี และการจำหน่ายป๊อปคอร์นกึ่งสำเร็จรูปในห้างค้าปลีกต่างๆ จนรายได้จากส่วนอาหารเครื่องดื่มเพิ่มขึ้น 8% จากปีก่อน คิดเป็นมูลค่า 786 ล้านบาท แต่อาจจะไม่เพียงพอต่อการประคองบริษัท เพราะธุรกิจอื่นๆ เช่น ธุรกิจโรงภาพยนตร์ยังประสบปัญหาจากการระบาดของโควิดทำให้มีรายได้ลดลง และยังไม่มีแนวโน้มที่จะบวกในเร็ววัน

 

เมื่อพิจารณาแยกรายธุรกิจจะเห็นว่าธุรกิจโรงภาพยนตร์รายได้ปีก่อนลดลง 16% คิดเป็นมูลค่า 1,470 ล้านบาท และธุรกิจโฆษณารายได้ลดลง 49% คิดเป็นมูลค่า 294 ล้านบาท นั่นเป็นสาเหตุให้ MAJOR จำเป็นต้องมองหาธุรกิจที่น่าสนใจ และเข้าไปลงทุนเพื่อเป็นแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต

 

ขณะที่ก่อนหน้านี้ ฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ MAJOR ระบุว่า บริษัทคาดผลประกอบการปี 2565 นี้ จะฟื้นตัวขึ้นจากสถานการณ์ต่างๆ ที่มีแนวโน้มที่ดีขึ้นทั้งในด้านการเข้าชมภาพยนตร์ และอัตราการใช้บริการโรงภาพยนตร์ที่จะเปิดเพิ่มขึ้นหลังการแพร่ระบาดของโควิด ไม่ได้รุนแรง โดยปัจจุบันที่มีการเปิดให้บริการราว 75% คาดว่าจะทยอยดีขึ้นต่อเนื่อง

 

ขณะเดียวกันในปีนี้ก็จะมีภาพยนตร์ทำเงินหลายเรื่องทยอยเข้าฉาย เช่น The Batman, Fantastic Beasts, Doctor Strange นอกจากนี้ยังมีภาพยนตร์ไทยที่จะเข้าฉายอีกจำนวนมาก และมองว่าจะเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น ซึ่งมีพันธมิตรเข้ามาร่วมดำเนินการทำให้ภาพยนตร์ไทยเป็นภาพยนตร์ที่มีคุณภาพมากขึ้น รวมไปถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิงอย่าง Disney+ ก็เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตร มีการเข้ามาซื้อโฆษณาจากทางบริษัทด้วย จึงมั่นใจว่าปีนี้อุตสาหกรรมภาพยนตร์จะมีปรับเปลี่ยนในทิศทางที่ดีขึ้น

 

เขาระบุว่า ในปีนี้ MAJOR ยังมีความร่วมมือกับพันธมิตรในการทำภาพยนตร์ที่จะฉายในประเทศจีน คาดว่าจะสามารถฉายได้ในปีนี้ โดยในประเทศจีนนั้นมีจอโรงภาพยนตร์กว่า 8 หมื่นจอ หากเข้าฉายได้ราว 5 พันจอ ก็มองว่าจะสามารถทำรายได้ในระดับที่ดี และสร้างรายได้ให้แก่บริษัทด้วย

 

นอกจากนี้บริษัทยังมีรายได้จากการขายสินค้าผ่านเดลิเวอรี รวมไปถึงในไตรมาส 1 นี้ บริษัทจะนำป๊อปคอร์นเข้าไปจำหน่ายในร้านค้าสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่จะทำให้รายได้เพิ่มจากธุรกิจจำหน่ายป๊อปคอร์นในปีนี้ และจะมีการขยายจอภาพยนตร์เพิ่มอีกราว 20-30 จอในหัวเมืองต่างจังหวัด จากปัจจุบันมีโรงภาพยนตร์ทั้งหมด 833 โรง ใน 177 สาขารวมทั้งในและต่างประเทศ

 

ปรับตัวหันกระจายรายได้

หากวิเคราะห์ให้ดีการเข้าไปลงทุนถือหุ้น WORK และ TKN ครั้งนี้สะท้อนว่า MAJOR เริ่มปรับตัวได้ในวิกฤตโควิด และเริ่มมองเห็นวิธีสร้างรายได้มาประคองธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่ฟื้นลำบากในเวลานี้ ด้วยการกระจายความเสี่ยงเพิ่มสัดส่วนรายได้ธุรกิจอื่นๆ ให้มากขึ้นนั่นเอง

 

โบรกมองแนวโน้มปีนี้สดใส

นักวิเคราะห์จาก บล.เอเซีย พลัส กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า แนวโน้มผลประกอบการปี 2565 ของ MAJOR คาดฟื้นตัวต่อเนื่องจากภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่รอคิวเข้าฉายอีกมาก ส่วนธุรกิจขายป๊อปคอร์นที่กลับมาขายหน้าโรงได้แล้ว และแผนในการขยายธุรกิจเพิ่มเติมโดยจะวางจำหน่ายป๊อปคอร์นในการขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้ออย่าง 7-Eleven จะเป็นอีกแรงหนุนช่วยให้รายได้ธุรกิจป๊อปคอร์นเติบโตต่อเนื่อง ประเมินกำไรปีนี้ที่ 793 ล้านบาท

 

เขามองว่า MAJOR ยังมีกระแสเงินสดอยู่ในระดับสูง หลังจากขาย SF ทำให้มีสภาพคล่องสูงขึ้นมาก และมีความพร้อมสำหรับการนำเงินไปลงทุนต่อยอดเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจเพิ่มเติม บวกกับการนำเงินบางส่วนไปคืนหนี้ส่งผลให้ดอกเบี้ยจ่ายลดลง จึงถือเป็นหุ้นที่น่าสนใจลงทุน โดยมีคำแนะนำ ‘ซื้อ’ ประเมินมูลค่าเหมาะสมที่ 25.00 บาท

 

ด้าน กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า ภายหลังจากที่ MAJOR เข้าซื้อหุ้น WORK และ TKN แล้ว MAJOR ยังมีกระแสเงินสดสุทธิเหลืออีกมากกว่า 500 ล้านบาทที่ยังสามารถนำไปลงทุนเพิ่มเติมได้อีก โดยในเบื้องต้นประเมินว่าการลงทุนใน WORK จะสามารถซินเนอร์จีและต่อยอดธุรกิจได้มาก เพราะสามารถจับมือกันผลิตภาพยนตร์ร่วมกันได้ และ WORK ยังให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลสูง

 

ขณะที่การลงทุนในTKN ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลจะต่ำกว่าเพียง 2-3% ต่อปี แต่สามารถต่อยอดด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มได้ ส่วน TKN เองก็จะมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น

 

อย่างไรก็ตามประเมินว่ากว่าผลประกอบการของ MAJOR จะฟื้นตัวกลับมาเต็มที่จะต้องใช้เวลา 1-1.5 ปี โดยในปีนี้ประเมินกำไรจากการดำเนินงานจะดีขึ้นมาที่ 933 ล้านบาท จึงมีคำแนะนำซื้อที่ราคาเหมาะสม 24 บาทต่อหุ้น

 

สำหรับในรอบสัปดาห์นี้(14-17 มีนาคม) ราคาหุ้น MAJOR ปรับตัวสูงขึ้น 3.10% มายืนที่ 19.90 บาท โดยสามารถปรับตัวขึ้นไปทำจุดสูงสุดของสัปดาห์ได้ที่ 20.10 บาท

 

ส่วนความเคลื่อนไหวของหุ้น MAJOR ล่าสุดสำหรับการซื้อขายรอบเช้าวันนี้ (18 มีนาคม) ราคาปรับตัวลดลง 1.01% ปิดที่ 19.70 บาท ลดลง 0.20 บาท

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising