ดัชนีหุ้นไทยรีบาวด์กลับมา 23 จุด หรือ 1.43% หลังปรับลดลงไปกว่า 15 จุด หรือ 0.95% วานนี้ นักวิเคราะห์ระบุ เป็นการรีบาวด์ตามตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดหุ้นเอเชียที่เขียวทั้งภูมิภาค ระบุ ระยะกลางหุ้นไทยยังต้องเผชิญความเสี่ยงจากเงินเฟ้อที่ทรงตัวระดับสูง ซึ่งจะกระทบต่อกำไร บจ. และการเติบโตของ GDP
ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทยวันนี้ (16 มีนาคม) ดัชนีปิดการซื้อขายที่ 1,667.92 จุด เพิ่มขึ้น 23.56 จุด หรือ 1.43% มูลค่าการซื้อขาย 78,168.02 ล้านบาท
โดยหุ้นที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 อันดับแรก มีดังนี้
- KBANK ปิดที่ 162.50 บาท +4 บาท หรือ +2.52% มูลค่าการซื้อขาย 4,834.51 ล้านบาท
- PTTEP ปิดที่ 147 บาท +1.50 บาท หรือ +1.03% มูลค่าการซื้อขาย 4,377.46 ล้านบาท
- KCE ปิดที่ 63 บาท +5.50 บาท หรือ +9.57% มูลค่าการซื้อขาย 2,427.75 ล้านบาท
- CPALL ปิดที่ 67.50 บาท +1 บาท หรือ +1.50% มูลค่าการซื้อขาย 2,240.20 ล้านบาท
- BDMS ปิดที่ 25.25 บาท -0.75 บาท หรือ -2.88% มูลค่าการซื้อขาย 1,669.36 ล้านบาท
ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ จำกัด กล่าวว่า หุ้นไทยวันนี้รีบาวด์ตามตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่ปรับขึ้นแรง รับอานิสงส์จากแถลงการณ์นโยบายส่งเสริมตลาดหุ้นของรัฐบาลจีน ประกอบกับวานนี้หุ้นไทยปรับลดลงแรง วันนี้จึงมีแรงซื้อกลับ เพราะเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายตามคาดที่ 0.25% ในการประชุมรอบนี้ และปรับขึ้นอีก 6 ครั้งในปีนี้
ทั้งนี้ประเมินว่า การปรับขึ้นของดัชนีวันนี้ยังไม่ใช่สัญญาณขาขึ้นของตลาดหุ้นไทย เนื่องจากในระยะกลางตลาดหุ้นไทยยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่จะทรงตัวในระดับสูง
“ในระยะกลางมองว่า ต้องระวังเรื่องเงินเฟ้อ เพราะเมื่อสถานการณ์โลกกลับสู่ปกติ เช่น สงครามจบลง ราคาน้ำมันปรับลดลง แต่เงินเฟ้อไม่จบไปด้วย แต่จะลงอยู่ในระยะยาวและสร้างแรงกดดันต่อทั้งตลาดหุ้นและการเติบโตของเศรษฐกิจจริง” ณัฐชาตกล่าว
โดยในส่วนของเศรษฐกิจไทยนั้นมีความเสี่ยงที่จะถูกปรับลดประมาณการ GDP ลงในปีนี้ เนื่องจากต้นทุนน้ำมันสูงขึ้นและนักท่องเที่ยวอาจไม่กลับมาตามที่คาดการณ์ ขณะเดียวกันเงินเฟ้อยังส่งผลกระทบต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนด้วย
ทั้งนี้ ช่วง 3-6 เดือนยังคงกรอบดัชนีในช่วง 1,600-1,700 จุด โดยหุ้นที่ควรลงทุนเพื่อหลบจากความเสี่ยงดังกล่าวคือ กลุ่มเฮลท์แคร์ กลุ่มค้าปลีกสินค้าจำเป็น ที่จะเป็นกลุ่มหลบความเสี่ยงเงินเฟ้อ และกลุ่มบริหารหนี้ ที่เป็นกลุ่มหลบความเสี่ยงเศรษฐกิจขาลง
ด้าน คมศร ประกอบผล ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้ กล่าวว่า ในการประชุม Fed ที่จะมีขึ้นในคืนวันที่ 16-17 มีนาคม 2565 ตามเวลาประเทศไทยนั้น คาดว่า Fed จะประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี นับเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของนโยบายการเงินจากที่ผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเปลี่ยนมาเป็นนโยบายการเงินที่เข้มงวด เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นมาถึง 7.9% ในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 นับเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในระยะสั้น
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจกลยุทธ์ทิสโก้เชื่อว่า ตลาดหุ้นจะทยอยฟื้นตัวขึ้นได้ต่อจากนี้ แม้จะมีแรงกดดันจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น เนื่องจาก Fed ได้สื่อสารกับตลาดเกี่ยวกับประเด็นการขึ้นดอกเบี้ยและการถอนสภาพคล่องมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว จึงทำให้ตลาดซึมซับข่าวการขึ้นดอกเบี้ยไปมากแล้ว
โดยในปัจจุบันตลาดซื้อขายล่วงหน้าอัตราดอกเบี้ยคาดการณ์ว่า Fed จะขึ้นดอกเบี้ยรวม 7 ครั้งในทุกการประชุมที่เหลือของปีนี้ และขึ้นต่อเนื่องอีก 2 ครั้งในปี 2566 ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นไปที่ระดับ 2.5% ในช่วงกลางปี 2566 เท่ากับจุดสูงสุดของวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยรอบก่อนในช่วงปี 2558-2562
“มองว่าในระยะสั้นตลาดหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นรับข่าวความชัดเจนเรื่อง Fed ประกาศขึ้นดอกเบี้ยในคืนนี้ เพราะก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นได้ปรับฐานเพื่อรับข่าวดังกล่าวไปแล้ว โดยหากเปรียบเทียบกับในช่วงเริ่มขึ้นดอกเบี้ยในวัฏจักรก่อนหน้า ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ปรับฐานราว 10% ก่อนที่จะขึ้นดอกเบี้ยจริงในเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันที่ตลาดปรับฐานลงมาราว 10% นับจากต้นปีนี้” คมศรกล่าว
ส่วนในประเด็นสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์ทิสโก้มองว่า ตลาดหุ้นได้ซึมซับข่าวดังกล่าวไปมากแล้วเช่นกัน โดยประเมินจากการเคลื่อนไหวของ Earning Yield Gap ซึ่งเป็นส่วนต่างระหว่างผลตอบแทนของตลาดหุ้นกับผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลที่ใช้สะท้อนผลตอบแทนส่วนเพิ่มที่นักลงทุนได้รับ เพื่อชดเชยความเสี่ยงจากการลงทุนในตลาดหุ้น มักเพิ่มขึ้นเมื่อมีปัจจัยเสี่ยงเข้ามากระทบตลาด
โดยในรอบนี้ Earning Yield Gap ได้เพิ่มขึ้นมา 0.58% นับจากสงครามเริ่มต้นขึ้น ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเหตุการณ์ความไม่สงบอื่นๆ ในอดีต เช่น เหตุการณ์ 911 ในปี 2544 ที่ Earning Yield Gap เพิ่มขึ้น 0.78% เหตุการณ์รัสเซียยึดไครเมียในปี 2557 ที่เพิ่มขึ้น 0.54% และการโหวตประชามติ Brexit ในปี 2559 ที่เพิ่มขึ้น 0.15%
ในขณะที่ความเคลื่อนไหวของราคาสินทรัพย์อื่นๆ ชี้ว่า ตลาดเริ่มคลายความกังวลต่อผลกระทบของสงครามต่อเศรษฐกิจโลก เช่น ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงมาถึงเกือบ 30% และทองคำที่ลดลงเกือบ 10% จากจุดสูงสุด
นอกจากนี้ผลกระทบจากสงครามเป็นความเสี่ยงที่อาจทำให้อัตราเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางต่างๆ อาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งจะเป็นปัจจัยลบสำคัญต่อตลาดหุ้นในระยะถัดไป และในกรณีเลวร้ายอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) ทำให้ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจและกลยุทธ์การลงทุนทิสโก้มองว่า ตลาดหุ้นมีโอกาสปรับตัวลง (Downside) มากขึ้นในระยะกลาง จึงแนะนำให้นักลงทุนใช้จังหวะที่ตลาดหุ้นฟื้นตัวขึ้นในระยะสั้นลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงลง
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP