วันนี้ (10 มีนาคม) ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ออกมาโพสต์ภาพและข้อความผ่านทางเพจเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics เกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ ‘BA.2.2’ (B.1.1.529.2.2) มหาภัยสายพันธุ์ใหม่จากฮ่องกง ระบุว่า การระบาดใหญ่ระลอกล่าสุดของโอมิครอนบนเกาะฮ่องกงได้ก่อให้เกิดสายพันธุ์ใหม่ ‘BA.2.2’ หรือ B.1.1.529.2.2 ที่กลายพันธุ์เด่นตรงหนามแหลม ซึ่งเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนตำแหน่งที่ 1221 จาก I (Isoleucine) เป็น T (Threonine) หรือ ‘S:I1221T’ โดยพบการแพร่ระบาดไปยังอังกฤษแล้วเช่นกัน
การระบาดระลอกใหม่นี้ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก โดยมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ที่ 0.85 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและผู้ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ดังนั้นสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีนรีบไปฉีดโดยด่วน
แต่ที่น่ากังวลคือจากการที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโอมิครอนในฮ่องกงเพิ่มขึ้นอย่างมาก เฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 5,425 คนต่อประชากร 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับอันดับ 2 คือ ประเทศลัตเวีย จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็น 5,278 ต่อประชากร 1 ล้านคน ส่วนประเทศไทยอยู่ที่ 315 คนต่อประชากร 1 ล้านคน แต่ปรากฏว่าอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดบนเกาะฮ่องกงสูงมาก คือ มีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยในรอบ 7 วันอยู่ที่ 30 คนต่อประชากร 1 ล้านคน ในขณะที่ทั้งลัตเวียและไทย อยู่ที่ 10.7 และ 0.7 ตามลำดับ
กล่าวคือ ที่ฮ่องกงมีอัตราผู้เสียชีวิตสูงกว่าลัตเวียถึง 2 เท่า โดยทั้งลัตเวียและไทยมีการะบาดของ BA.1 และ BA.2 ไม่พบ BA.2.2 ทำให้มีแนวโนมว่าโควิดกลายพันธุ์สายพันธุ์ย่อย BA.2.2 อันเกิดมาจากการติดต่อระหว่างคนสู่คนที่สูงมากของฮ่องกง และอาจเป็นปัจจัยร่วมที่ทำให้อัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดในฮ่องกงพุ่งขึ้นทำสถิติสูงสุดในโลก
ซึ่งขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ฮ่องกงและทั่วโลกกำลังประมวลผลรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.2.2 กับข้อมูลทางคลินิกเพื่อตอบปัญหาสำคัญ 6 ประการดังนี้
- ตอนนี้อยู่ระหว่างวิเคราะห์ว่า BA.2.2 กลายพันธุ์ไปมากกว่าตัว BA.2 หรือไม่ และตำแหน่งใดบ้างโดยเฉพาะในส่วนยีนที่ควบคุมโครงสร้างของหนาม (spike) ที่เปลือกของอนุภาคไวรัส
- BA.2.2 แพร่ระบาด (transmissibility) รวดเร็วกว่า BA.2 หรือไม่
- BA.2.2 ก่อให้เกิดอาการของโรคโควิดได้รุนแรง (severity) กว่า BA.2 หรือสายพันธุ์ที่น่ากังวลใจ (variants of concern) อื่นๆ เช่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา หรือไม่
- BA.2.2 สามารถด้อยประสิทธิภาพของวัคซีนลงมากกว่า BA.2 หรือไม่
- ยารักษาโมโนโคลนอลแอนติบอดีตัวล่าสุด ‘โซโทรวิแมบ’ (Sotrovimab) ที่ใช้ต่อต้านโอมิครอน ยังสามารถจับกับ BA.2.2 ได้อยู่หรือไม่ เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ของระบบทางเดินหายใจ
- ใช่หรือไม่ ที่ BA.2.2 เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีอัตราผู้เสียชีวิตจากโรคโควิดในฮ่องกงสูงที่สุดในโลก
ปัจจุบันยังไม่พบ BA.2.2 ในประเทศไทย แต่เพื่อไม่ประมาททางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ได้เริ่มพัฒนาชุดตรวจ BA.2.2 แล้ว โดยคาดการณ์ว่าจะแล้วเสร็จและนำออกใช้ตรวจคัดกรอง BA.2.2 ได้ภายในอีก 2 สัปดาห์ด้วยเทคโนโลยี ‘MassArray Genotyping’ ซึ่งใช้เวลาในการตรวจรู้ผลบรรดาสายพันธุ์ที่น่ากังวล (variants of concern: VOC) รวมทั้ง BA.2.2 ในการตรวจเพียงครั้งเดียว (single reaction) ใช้เวลาประมาณ 24-48 ชั่วโมงในการออกผล
อ้างอิง: