×

‘จีน’ เตือนสหรัฐฯ อย่าก้าวก่ายเรื่องไต้หวัน ย้ำสัมพันธ์กับรัสเซียยังคงแนบแน่น

08.03.2022
  • LOADING...
China

จีนออกโรงเตือนสหรัฐอเมริกาคัดค้านความพยายามในการก่อสร้างเครือข่ายที่คล้ายๆ กับกองกำลัง NATO ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และกล่าวว่าสหรัฐฯ ไม่ควรเข้ามาก้าวก่ายเรื่องระหว่างจีนกับเกาะไต้หวัน ด้วยเป็นปัญหาด้านความมั่นคงภายในที่ไม่อาจเอาไปเทียบกับกรณีของยูเครนได้ พร้อมแสดงจุดยืนสนับสนุนแนวทางการเจรจาเพื่อแก้ปัญหายูเครน ย้ำสัมพันธ์กับรัฐบาลรัสเซียยังคงเหนียวแน่นเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง

 

หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวระหว่างการแถลงข่าวประจำปีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (7 มีนาคม) ว่า เป้าหมายที่แท้จริงของยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯ ก็คือการสร้างองค์กรเครือข่ายที่คล้ายคลึงกับกองกำลัง NATO ภายในภูมิภาคเอเชีย และความเคลื่อนไหวดังกล่าวของสหรัฐฯ นั้นขัดต่อความมุ่งหวังของนานาประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในการสร้างสันติภาพ แนวทางการพัฒนา และความร่วมมือ อันจะเป็นผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายร่วมกันอย่างแท้จริง

 

ความเห็นของจีนข้างต้น ถือเป็นหนึ่งความเห็นที่ตอกย้ำมุมมองของจีนที่มีต่อสหรัฐฯ ว่ามีเจตนาซ่อนเร้น และพยายามที่จะสร้างกลุ่มองค์กรเพื่อมาต้านทาน ยับยั้งการเติบโตของจีน และเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่บังเอิญสอดคล้องกับความคิดเห็นล่าสุดของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซีย ที่ระบุว่า การกระทำของสหรัฐฯ ในการดึงยูเครนเข้ามาเป็นพันธมิตร NATO ทั้งๆ ที่เคยรับปากรัสเซียไว้ว่าจะไม่ยุ่ง เป็นเหตุให้รัสเซียตัดสินใจบุกยูเครน เพื่อปกป้องความมั่นคงปลอดภัยของตนเอง 

 

ขณะเดียวกัน หวังอี้และนักการทูตอาวุโสได้ใช้โอกาสในระหว่างการแถลงข่าวนอกรอบเกือบ 2 ชั่วโมงที่มีขึ้นในช่วงเวลาการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสภาประชาชนแห่งชาติจีนในกรุงปักกิ่ง ต่อว่าสหรัฐฯ ที่เป็นต้นตอของปัญหาในประเทศต่างๆ ทั่วโลกซ้ำแล้วซ้ำเล่า พร้อมเตือนสหรัฐฯ ที่กำลังมุ่งเป้ายกระดับความสัมพันธ์กับไต้หวัน โดยย้ำชัดว่าความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ ไม่เพียงผลักให้ไต้หวันเข้าสู่สถานการณ์ที่ล่อแหลมเท่านั้น แต่จะทำให้เกิดผลลัพธ์ที่สหรัฐฯ ไม่อาจยอมรับได้ 

 

รายงานระบุว่า หลายชาติในภูมิภาคเอเชียขณะนี้รวมตัวเข้าหาสหรัฐฯ เพื่อทัดทานกับอิทธิพลของจีน ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น อินเดีย หรือเวียดนาม เช่นเดียวกันกับที่หลายชาติในยุโรปร่วมมือร่วมใจต่อต้านรัสเซีย 

 

ทั้งนี้ รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ ได้เปิดเผยยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามต้านทานอิทธิพลของจีนที่กำลังขยายตัวเติบโตอย่างรวดเร็วในภูมิภาค และเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการของสหรัฐฯ ที่มุ่งสร้างพันธมิตรแนวคิดประชาธิปไตยทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการรื้อฟื้นความสัมพันธ์กับพันธมิตรเก่าแก่อย่างญี่ปุ่น หรือการเชื่อมสัมพันธ์สร้างพันธมิตรหน้าใหม่อย่างอินเดียและออสเตรเลีย 

 

นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งมองว่า ท่าทีของจีนครั้งนี้เป็นเสมือนการสนับสนุนการกระทำของรัฐบาลรัสเซียอย่างอ้อมๆ เพราะการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครนทำให้นานาประเทศทั่วโลกตระหนักว่า ความเห็นของชาติมหาอำนาจมีน้ำหนักมากพอที่จะก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศอื่นๆ อันเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดวิกฤตซ้ำรอยยูเครนในกรณีของเกาะไต้หวัน เกาะเล็กๆ ที่ปกครองตามแนวทางประชาธิปไตยที่จีนเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่สักวันต้องหวนคืนสู่มาตุภูมิ 

 

หวังอี้ย้ำชัดว่า กรณีของไต้หวันไม่อาจเอามาเปรียบเทียบกับกรณีที่เกิดขึ้นในยูเคนได้ 

 

นอกจากนี้ ทางตัวแทนของรัฐบาลจีนยังได้ยืนกรานหนักแน่นว่า รัสเซียถือเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญที่สุดของจีน แม้ว่ารัสเซียกำลังถูกนานาชาติประณามต่อการส่งกำลังทหารโจมตียูเครน พร้อมยืนยันว่าความสัมพันธ์ระหว่างจีนและรัสเซีย ถือเป็นหนึ่งในความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีที่มีความสำคัญที่สุดในโลก อีกทั้งมิตรภาพของทั้งสองชาติยังคงเหนียวแน่นแข็งแกร่งเป็นอย่างมาก

 

ก่อนหน้านี้ จีนได้ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมการคว่ำบาตรรัสเซียตามสหรัฐฯ และชาติตะวันตก และได้งดออกเสียงต่อมติของสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในการประณามการที่รัสเซียส่งกำลังทหารโจมตียูเครน ขณะเดียวกัน จีนก็แสดงจุดยืนต้องการให้ปัญหาที่เกิดขึ้นยุติด้วยการเจรจาระหว่างรัสเซียกับยูเครน พร้อมเตือนไม่ให้ประเทศอื่นๆ เข้าไปยุ่งวุ่นวาย เพราะนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังอาจเป็นการราดน้ำมันบนกองไฟ ทำให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้นกว่าเดิม

 

วันเดียวกัน โมฮัมหมัด บาร์คินโด เลขาธิการกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลก หรือ OPEC สัญชาติไนจีเรีย ได้ออกมาแสดงจุดยืนของกลุ่มว่า พันธกิจหลักยังคงเป็นการทำหน้าที่เพื่อเป็นแหล่งผลิตน้ำมันที่น่าเชื่อถือได้ต่อไป ก่อนระบุว่า ราคาน้ำมันที่แพงขึ้นอย่างมากในขณะนี้อยู่นอกเหนือความสามารถในการควบคุมของ OPEC และความขัดแย้งในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ได้เข้ามามีอิทธิพลในการกำหนดราคาพลังงานในตลาด 

 

บาร์คินโดกล่าวว่าโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงชนิดที่พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ OPEC ไม่สามารถจัดการอะไรได้ กระนั้น สิ่งที่ OPEC ทำได้มีเพียงทำให้กำลังการผลิตน้ำมันป้อนสู่ตลาดโลกอยู่ในระดับที่มั่นคงแน่นอนเท่านั้น

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X