×

สงครามเย็นครั้งที่สองเริ่มแล้ว นักวิชาการชี้ อาเซียนต้องยืนบนความถูกต้อง ไม่ใช่ความเป็นกลาง

05.03.2022
  • LOADING...
สงครามเย็น

4 มีนาคม วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ (PBIC Thammasat) และ Media Inside Out จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ ‘ปัญหาและทางออก ข้อพิพาท รัสเซีย-ยูเครน สงครามเย็นครั้งที่ 2?’ ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ถ่ายทอดสดผ่านแฟนเพจ PBIC Thammasat

 

วิทยากรประกอบด้วย 

– ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กีรตยาจารย์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

– กิตติ ประเสริฐสุข หัวหน้าสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

– อรธิชา ดวงรัตน์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์

– ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ เลขานุการคณะกรรมาธิการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร โฆษกพรรคเพื่อไทย 

 

ดำเนินรายการโดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี นักวิจัยประจำวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ 

 

🗣 เรียกร้องเคารพหลักการสิทธิมนุษยชน 

 

ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ กล่าวว่า กรรมาธิการการต่างประเทศได้ติดตามปัญหานี้ด้วยความกังวลมาตลอด และได้สอบถามกระทรวงการต่างประเทศตั้งแต่วันแรกเรื่องแผนการช่วยเหลือคนไทย ได้รับแจ้งตอบกลับมาว่าได้ประสานเบื้องต้นกับคนไทยเพื่อเดินทางกลับประเทศโดยเร็วที่สุด นอกจากนั้นได้สอบถามฝ่ายบริหารหรือรัฐบาล แต่กลับได้รับคำตอบที่ไม่สามารถสร้างความมั่นใจว่าคนไทยจะได้รับการดูแลอย่างรวดเร็ว โดยรัฐบาลบอกว่ารอให้สถานการณ์คลี่คลาย ขณะที่การช่วยเหลือต้องรีบทำทันทีเรื่องการช่วยเหลือคนไทยผู้ที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งกรรมาธิการการต่างประเทศได้ติดตามเร่งให้เกิดการช่วยเหลือคนไทย เป็นการกระตุ้นให้รู้ว่าทุกภาคส่วนจับตามองเรื่องนี้

 

ส่วนพรรคเพื่อไทยได้ถามถึงการรับมือจากทางภาครัฐ เพื่อให้ประชาชนเตรียมการกับผลกระทบในอนาคต เช่น เรื่องเศรษฐกิจ ถ้าฝ่ายบริหารรอสถานการณ์คลี่คลายไปเอง อาจจะเกิดความสูญเสียมากกว่านี้ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลทำงานให้ได้ทันท่วงที

 

สำหรับท่าทีต่อสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน เป็นเรื่องละเอียดอ่อนอย่างมาก ต้องรับฟังทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยกับการที่ประเทศใดจะถูกชาติอื่นรุกรานด้วยอาวุธสงครามและความรุนแรง ซึ่งทำให้ประชาชนบาดเจ็บล้มตายในประเทศนั้น จึงมีข้อเรียกร้องให้สงครามยุติโดยเร็ว โดยให้มีการเจรจาไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ซึ่งปฏิกิริยาจากสื่อและแรงกดดันจากนานาประเทศมีส่วนสำคัญที่จะทำให้ทิศทางของเหตุการณ์ไปทางไหน 

 

ส่วนท่าทีของไทยควรช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมทันที ส่วนการประชุม APEC ในไทย หากได้ใช้พื้นที่นี้เป็นตัวกลางในการประสานก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่สามารถทำได้ เพราะทั่วโลกจับตาดูและอยากร่วมช่วยกันคลี่คลายสถานการณ์ เพื่อให้รัสเซีย-ยูเครน เจรจาให้ได้ข้อตกลงร่วมกันที่เกิดประโยชน์สูงสุด

 

นอกจากนี้ กรรมาธิการต่างประเทศยังได้ออกแถลงการณ์ให้เคารพหลักการสิทธิมนุษยชน ดูแลซึ่งกันและกัน ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เรายึดมั่นในหลักการกฎบัตรสหประชาชาติที่ไม่สนับสนุนให้ชาติใดก็ตามรุกรานชาติอื่นด้วยอาวุธและการใช้ความรุนแรง นำมาซึ่งความสูญเสีย

 

🗣 เข้าใจสถานการณ์ความขัดแย้งการเปลี่ยนแปลงเขตอิทธิพล

 

อรธิชา ดวงรัตน์ กล่าวว่า วิธีหนึ่งที่จะเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบัน ณ ตอนนี้ คือการเข้าใจเกี่ยวกับการกระจายอำนาจและการเปลี่ยนแปลงเขตอิทธิพลที่สามารถนำมาสู่การขัดแย้งได้ แต่ไม่ผิดที่เราจะมีจุดยืนในฐานะประเทศที่ต่อต้านการรุกรานประเทศอื่น แม้ในภาพรวมโลกกำลังแบ่งฝ่ายและมีความไม่แน่นอน แต่การแบ่งฝ่ายยังไม่แยกกันตายตัว โดยเฉพาะการเอาประเทศจีนเข้ามาในภาพรวมในฐานะมหาอำนาจ ยังคิดว่าสถานการณ์มีทางออกและไม่ผิดที่ประเทศไทยจะมีจุดยืนขึ้นอยู่กับหลักการสากลต่อต้านการรุกรานอธิปไตยประเทศอื่น 

 

ด้านความเป็นมนุษย์ ก็ไม่ผิดที่เราจะต่อต้านหรือไม่เห็นด้วยกับการทำร้าย ทำให้ประชาชนเกิดความสูญเสีย

 

🗣 อดีตสายลับ กับ อดีตนักแสดง สองผู้นำขึ้นมาเจอกันอย่างผกผัน 

 

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ กล่าวว่า วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย มีอาจารย์ที่เป็นนักปรัชญาเยอรมัน ซึ่งปูตินเอาความคิดคนนี้มา เป็นความคิดที่บอกว่ารัสเซียคืออารยธรรมบริสุทธิ์ของโลก แนวคิดนี้สะท้อนผ่านวรรณกรรมรัสเซีย แต่ไม่แน่ใจว่าสะท้อนอยู่ในทางการเมืองด้วยหรือไม่ ความเชื่อดังกล่าวเป็นเงื่อนไขทางจิตวิญญาณ เมื่อเชื่อถึงขนาดว่ากำลังเอาจิตวิญญาณที่ดีไปให้ยูเครน ซึ่งกำลังมอมเมาด้วยอารยธรรมตะวันตกที่เป็นทุนนิยม จึงต้องตายเพื่อวิญญาณที่ดี 

 

ตามทฤษฎีนี้มองว่าการเลือกตั้งถูกโกงตลอดเวลา ชาวบ้านไม่เลือกคนดี เลือกไม่เป็น ปูตินมองว่าโลกตะวันตกกำลังเสื่อมคลาย ทฤษฎีที่มองว่าตัวเองจะมาปลดปล่อยยุโรปกำลังเป็นจริง โดยยูเครนเป็นหมากตัวแรก 

 

ธเนศกล่าวว่า การคลี่คลายวิกฤตการณ์ครั้งนี้ อนาคตรัฐชาติควรจะเป็นอำนาจอธิปไตยของประชาชน คือ ประชาชนเป็นคนอนุมัติ ให้ความชอบธรรมการดำรงอยู่ของรัฐประชาชาตินั้นๆ ไม่ใช่ผู้นำหรือนายกรัฐมนตรี ประธานาธิบดี แต่ต้องมาจากประชาชนที่เป็นคนออกอำนาจ ใช้อำนาจอธิปไตย ให้ความชอบธรรมสูงสุด

 

มีเรื่องโจ๊กเล่าว่ากันว่า ปูตินขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสมัย บอริส เยลต์ซิน ด้วยการสร้างนิยายหาคนเป็นวีรบุรุษที่เป็นอดีตสายลับในเยอรมัน แล้วสร้างเรื่องให้กลายเป็นวีรบุรุษ คนนั้นก็คือปูติน เพราะเคยเป็นสายลับในเยอรมัน แล้วจากนั้นสร้างอำนาจและไม่ยอมลง

 

ส่วน โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ผู้นำยูเครน เป็นนักแสดงจริงๆ ไม่ได้สร้างขึ้นมา แต่ด้วยการเมืองของยูเครนกับรัสเซีย ทำให้นักแสดงกลายเป็นผู้นำตัวจริง 

 

สองคนนี้จึงมีประวัติการขึ้นมาแล้วมาเจอกันอย่างผกผันกัน ในด้านหนึ่งปูตินต้องหงุดหงิดมากที่นักการเมืองที่มาจากนักแสดงมาทาบรัศมีตัวเอง

 

อย่างไรก็ตาม ทางออกต้องกลับไปหาประชาชน ไปหาหมู่บ้าน ถ้าใช้รัฐใช้กองกำลังทหารมาสร้างอนาคต มันจบมันหมดแล้วประวัติศาสตร์จักรวรรดิตั้งแต่ 3 ศตวรรษที่แล้ว มันไปไม่ได้ 

 

ฉะนั้นสุดท้าย ผลสะเทือนจากการที่รัสเซียบุกยูเครน ทุกคนรู้วิกฤตโลกร้อน ทรัพยากรถูกทำลายไม่เหลืออะไรเพราะระบบทุนนิยม ระบบอุตสาหกรรม ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมไม่ว่าระบบใดก็ต้องใช้อุตสาหกรรม 

 

วิกฤตคราวนี้บังคับให้ยุโรปอเมริกาหันมาพึ่งตัวเอง ลดการพึ่งทรัพยากรข้างนอกโดยไม่ได้ตั้งใจ ลดการผลิต ลดการใช้พลังงาน เป็นคำตอบในแง่ดีว่าอนาคตอันสดใสรอหลังวิกฤตที่น่ากลัวนี้อยู่ ถ้าทุกคนคิดให้ถูก

 

🗣 อาเซียนต้องยืนอยู่กับความถูกต้อง ไม่ใช่ยืนอยู่กับความเป็นกลาง 

 

กิตติ ประเสริฐสุข กล่าวว่า หลังการรุกยูเครนสัปดาห์ที่แล้ว อาเซียนมีแถลงการณ์ที่ค่อนข้างเบา ไม่ได้ประณามว่ากล่าวให้ยุติทันที แต่เพียงแค่แสดงความกังวล แสดงความห่วงใย เป็นจุดยืนที่เบามาก อ่อนมาก จะยิ่งทำให้อาเซียนหมดความหมายไปทุกที ตั้งแต่เรื่องพม่า อาเซียนแสดงจุดยืนที่เบาเกินไป กรณีนี้จะบอกว่าเป็นกลางไม่เลือกข้างก็ไม่ใช่ เพราะรัสเซียทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศ ไปรุกรานเขา เราต้องยืนอยู่กับความถูกต้อง ไม่ใช่ยืนอยู่กับความเป็นกลาง อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ดีขึ้นในการโหวตที่สมัชชาสหประชาชาติ วันที่ 2 มีนาคม 

 

ในสมัยสงครามเย็นจะมีโฆษณาชวนเชื่อ ปัจจุบันก็มี ส่วนตัวจึงมองว่าขณะนี้สงครามเย็นครั้งที่ 2 เกิดขึ้นแล้ว ถ้ามองในแง่โฆษณาชวนเชื่อ (Propaganda) และอำนาจแหลมคม (Sharp Power) มีความพยายามใช้สิ่งนี้อย่างมาก 

 

สำหรับนิยาม อำนาจแหลมคม มีผู้ให้นิยามว่าเป็นการใช้ข้อมูลบิดเบือนไม่ประสงค์ดี แต่ฝ่ายจีนบอกว่านี่เป็นสิ่งที่ชาวตะวันตกคิดไปเอง เป็นความหวาดกลัวและความไม่เข้าใจของชาติตะวันตก

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีการใช้อำนาจแหลมคม ทั้งรัสเซียและยูเครน ในสงครามสื่อ Media War ต่างจากสมัยอเมริกากับอิรัก เพราะอิรักไม่มีสิ่งเหล่านี้อยู่ในมือ แต่รัสเซียมี 

 

ส่วนยูเครนก็พยายามจะสร้างสตอรี สร้างเรื่องราวเพื่อทำให้รัสเซียลดความชอบธรรมลงไปเรื่อยๆ ซึ่งรัสเซียก็ไม่ได้มีความชอบธรรมอยู่แล้วในเรื่องนี้ 

 

มีการใช้อำนาจแหลมคมทั้ง 2 ฝ่าย แม้แต่ในไทยก็มีกระแสแบบนี้ เช่น บอกว่าปูตินมาเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ทำให้ผลิตข้าวสาลีได้เพียงพอ ซึ่งเราต้องระมัดระวังข้อมูลข่าวสารในยุค Sharp Power ก่อนจะไปกันใหญ่ เห็นแล้วไม่ค่อยสบายใจ

 

กิตติกล่าวด้วยว่า รัสเซียต้องการสร้างเกียรติภูมิกลับคืนมาหลังยุคโซเวียตล่มสลาย ในฐานะประเทศมหาอำนาจจึงอยากได้คนอย่างปูตินที่ดูเข้มแข็ง 

 

รัสเซียรู้สึกว่าสูญเสียอะไรไปเยอะในสงครามกับนาซี แต่ตะวันตกไม่ได้ให้ค่าเขาเท่าที่ควรและมาต่อต้านเขาที่เป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเรื่องเกียรติภูมิของรัสเซียที่ปูตินผลักดันอย่างยิ่ง

 

สงครามเย็นได้เกิดขึ้นแล้ว จากดั้งเดิมเป็นทุนนิยมกับคอมมิวนิสต์ แต่ตอนนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างเสรีนิยมกับอำนาจนิยม อย่างกรณีจีนกับรัสเซียปกครองโดยคณาธิปไตยไม่ได้มีการเลือกตั้งอย่างเสรี สังคมถูกเซ็นเซอร์เยอะ และอีกฝ่ายเป็นเสรี สังคมไม่ได้ถูกควบคุม

 

กรณีรัสเซียกับจีนมีความแตกต่างกัน รัสเซียพึ่งพาชาติอื่นน้อยกว่าจีน เนื่องจากจีนเป็นมหาอำนาจอันดับสอง รัสเซียจึงกล้ากดปุ่มยิงมิสไซล์ เพราะมองว่าตัวเองได้เปรียบถือไพ่เหนือกว่าเรื่องพลังงาน ส่วนจีนกดปุ่มยากกว่า เพราะมีผลประโยชน์ต้องเสียเยอะเรื่องการค้าการลงทุน

 

เรื่อง Sharp Power มีข้อสังเกตว่าสื่อของตะวันตกมีความพหุนิยม มีความเห็นหลากหลาย ขณะที่ของจีนกับรัสเซียมีความเห็นเดียว ฉะนั้นสังคมไทยควรมองเป็นประเด็นๆ สำหรับแฟนคลับที่พร้อมชูป้ายไฟให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรจะมองเป็นประเด็น รวมถึงความขัดแย้งในการเมืองไทยด้วย ตอนนี้กลายเป็นคนอาวุโสสูงวัยคอนเซอร์เวทีฟ ค่อนข้างเชียร์จีนกับรัสเซีย ซึ่งอาจจะต้องใคร่ครวญพิจารณาเป็นเรื่องๆ อย่าแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเป็นพวก จะยิ่งไปกันใหญ่

 

ภาพ: Getty / Marcus Yam

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X