×

ส่องทางเลือกลงทุนใหม่ ‘หลบภัย’ พร้อม ‘สร้างโอกาส’ ช่วงตลาดผันผวน

03.03.2022
  • LOADING...
new investment option

จาก THE STANDARD WEALTH ช่วง ‘Special Live’ ภายใต้หัวข้อ ‘Build the Bunker เปิดทางเลือกลงทุนใหม่ หลบภัยและสร้างโอกาสช่วงตลาดผันผวน’ 

 

สุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ ไทยพาณิชย์ จำกัด เปิดเผยว่า สิ่งหนึ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโควิด เรื่องของเงินเฟ้อและนโยบายการเงิน รวมถึงเรื่องของราคาพลังงานที่อาจจะกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งความไม่แน่นอนของเหตุการณ์ต่างๆ นำไปสู่ความไม่แน่นอนของการกำหนดนโยบาย 

 

“ความไม่แน่นอนจากนโยบายจะยิ่งทำให้การกำหนดกลยุทธ์การลงทุนทำได้ยากขึ้น เราได้เห็นพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่วิ่งขึ้นอย่างรุนแรงและรวดเร็ว แต่ล่าสุดก็กลับมาลดลงอีกแล้ว”

 

ปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้าคือ เงินเฟ้อ หากต้องการลดความผันผวน คงต้องเลือกอุตสาหกรรมที่ทนทานกับสภาวะเงินเฟ้อได้ และได้ประโยชน์จากการเปิดเมือง รวมถึงได้ประโยชน์จากเรื่องของเทคโนโลยี ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศ สุขภาพ พาณิชย์ และธนาคาร

 

ด้าน ศรชัย สุเนต์ตา ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่าย SCB Chief Investment Office (CIO) มองว่า โดยปกตินักลงทุนในไทยมักจะคุ้นเคยกับสิ่งที่เรียกว่า Directional Product ซึ่งก็คือผลิตภัณฑ์อย่างกองทุนรวมหรือหุ้นสามัญ ซึ่งมักจะต้องใช้มุมมองการลงทุนว่าตลาดแต่ละช่วงสถานการณ์เป็นอย่างไร อย่างเช่นเมื่อมีข่าวร้าย หุ้นก็จะปรับฐานลง แต่เมื่อมีข่าวดีเกิดขึ้น หุ้นก็อาจจะกลับมาสูงขึ้น 

 

“การอ่านเกมเช่นนี้เป็นสิ่งที่เรียกว่า Directional คือต้องพึ่งกับเหตุการณ์ถึงจะลงทุนและได้ผลตอบแทนที่ดี ซึ่งคนส่วนใหญ่จะติดยึดกับการลงทุนลักษณะนี้ แต่จริงๆ แล้วการลงทุนในช่วงที่ตลาดผันผวนหรือทิศทางไม่ชัดเจน ยังมีทางเลือกลงทุนอื่นๆ ที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ระดับที่เหมาะสม” 

 

สำหรับทางเลือกการลงทุนแรกที่อยากนำเสนอในวันนี้คือ ตราสารอนุพันธ์แฝง โดยเฉพาะประเภท Knock-in Knock-out (KIKO) ซึ่งให้ผลตอบแทน 8-12% ต่อปี ระยะเวลาของตราสารประเภทนี้จะค่อนข้างสั้นราว 6 เดือน ขณะที่การเคลื่อนไหวของตราสารประเภทนี้จะเชื่อมโยงกับสินทรัพย์อื่นๆ เช่น หุ้น ค่าเงิน เป็นต้น 

 

ตราสารประเภท KIKO จะมีการกำหนดเงื่อนไขในการส่งมอบ อย่างกรณีของหุ้น อาจจะมีการกำหนดเงื่อนไขว่า หากหุ้นนั้นๆ ปรับตัวลดลงไม่ต่ำกว่าระดับ Knock-in ที่ 20% จากราคาเข้าวันแรก และไม่มีวันใดลดต่ำกว่า 20% จนถึงวันครบกำหนดอายุ นักลงทุนก็จะได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ยในแต่ละเดือนที่ถือ พร้อมกับเงินลงทุนตั้งต้นคืนทั้งหมด 

 

“ข้อดีของตราสารประเภทนี้คือ แม้ว่าหุ้นจะปรับตัวลง แต่ไม่ต่ำกว่าระดับที่กำหนดไว้ นักลงทุนจะยังได้เงินลงทุนตั้งต้นคืนเต็มจำนวน และยังได้ดอกเบี้ยในแต่ละเดือนที่ถือครอง ซึ่งจะเห็นว่า Downside ถูกจำกัดไว้ระดับหนึ่งในช่วงที่ตลาดผันผวน” 

 

ในขณะเดียวกันจะมีการกำหนด ‘ขอบบน’ หรือที่เรียกว่า Knock-out ด้วยเช่นกัน หากราคาหุ้นเพิ่มขึ้นไปเกินระดับดังกล่าว ผู้ออกตราสารก็จะไถ่ถอนโดยคืนเงินต้นให้กับนักลงทุน พร้อมกับดอกเบี้ยตามระยะเวลาที่ถือครอง 

 

ส่วนความเสี่ยงของตราสารประเภทนี้คือ เมื่อราคาหุ้นนั้นๆ ‘ลดลงมาต่ำกว่าจุด Knock-in ที่กำหนดไว้’ จะทำให้เงื่อนไขในการจ่ายผลตอบแทนเปลี่ยนไป โดยนักลงทุนจะต้องรอดูราคาหุ้นนั้นๆ ในวันสุดท้าย ว่าราคาหุ้นนั้นๆ กลับมาถึงต้นทุนหรือไม่ หากไม่ถึง นักลงทุนก็จะต้องขาดทุนจากส่วนต่างของราคา ณ วันแรกเข้า กับราคาตลาดในวันสุดท้ายที่ครบอายุ

 

หากเทียบข้อดีข้อเสียของการลงทุนแบบ KIKO และการถือหุ้นสามัญทั่วไป ในส่วนของ KIKO จะเป็นการลดความเสี่ยงในช่วงตลาดผันผวนในกรอบ แต่ขณะเดียวกันก็จะจำกัดกำไรเอาไว้ ขณะที่การถือหุ้นรายตัว นักลงทุนจะขาดทุนทันทีเมื่อหุ้นปรับตัวลง แต่หากหุ้นเป็นขาขึ้นก็มีโอกาสจะได้ผลตอบแทนสูงกว่า

 

“การจะเลือกลงทุนระหว่าง KIKO และหุ้นสามัญทั่วไป ต้องกลับมาดูว่าหุ้นตัวนั้นอยู่ในแนวโน้มใด หากเป็นขาขึ้น การถือหุ้นรายตัวย่อมได้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่ KIKO เป็นผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเพื่อสถานการณ์ที่ตลาดผันผวนและวิ่งอยู่ในกรอบ”

 

สำหรับทางเลือกการลงทุนอีกอย่างหนึ่งที่น่าสนใจคือ Private Equity หรือหุ้นนอกตลาด ซึ่งก็คือการลงทุนในหุ้นของบริษัททั่วไปที่ไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ ข้อดีของ Private Equity คือการเป็นสินทรัพย์ที่ช่วยเพิ่มผลตอบแทนของพอร์ตให้สูงขึ้นได้ ในขณะที่ความเสี่ยงไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะลักษณะที่สำคัญอย่างหนึ่งของ Private Equity คือ ความผันผวนต่ำ แต่ก็แลกมาด้วยสภาพคล่องในการซื้อขายที่ต่ำเช่นกัน และจำเป็นจะต้องลงทุนระยะยาว 

 

“การลงทุนใน Private Equity ทำให้เรามีโอกาสจะเข้าลงทุนในบริษัทนั้นๆ ตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาด และทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้กำไรหลายเท่าตัวจากราคาที่เข้าลงทุนตั้งแต่ต้น” 

 

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์สำหรับสินทรัพย์ทางเลือก (Private Asset) ถือเป็นสินทรัพย์ลงทุนหลักอย่างหนึ่งของพอร์ต โดยเฉพาะในกลุ่มนักลงทุนระยะยาว อย่างกรณีของกองทุนมหาวิทยาลัย (Endowment Fund) ที่อาจจะถือในสัดส่วนถึง 60% ขณะที่กองทุนบำเน็จบำนาญก็เริ่มเพิ่มสัดส่วนของ Private Asset มากขึ้นเช่นกัน โดยปัจจุบันอาจจะอยู่ในระดับ 20-25% จากที่ในอดีตเพียง 5% 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X