×

เกาะติดวิกฤตยูเครน vs. รัสเซีย สถานการณ์ล่าสุด (27 กุมภาพันธ์ 2565)

โดย THE STANDARD TEAM
27.02.2022
  • LOADING...
เกาะติดวิกฤตยูเครน-vs.-รัสเซีย-สถานการณ์ล่าสุด-27-กุมภาพันธ์-2565

 


 

27 กุมภาพันธ์ 2565

 

ปูตินสั่งกองกำลังนิวเคลียร์เตรียมพร้อม ตอบโต้แถลงการณ์รุกรานจากสมาชิก NATO หวั่นสถานการณ์ลุกลามถึงสงครามนิวเคลียร์

 

Vladimir Putin

 

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย แถลงผ่านทางโทรทัศน์ สั่งการให้กองกำลังป้องปรามนิวเคลียร์เตรียมความพร้อมในระดับสูง เพื่อตอบโต้ ‘แถลงการณ์เชิงรุกราน’ จากสมาชิกหัวแถวขององค์การ NATO 

 

โดยคำสั่งดังกล่าว หมายความว่าปูตินสั่งการให้เพิ่มการเตรียมพร้อมสำหรับการยิงอาวุธนิวเคลียร์ของรัสเซีย ซึ่งส่งผลให้เกิดความหวั่นวิตกว่า สถานการณ์ตึงเครียดอาจปะทุไปสู่สงครามนิวเคลียร์ 

 

ขณะที่ผู้นำรัสเซียยังกล่าวอ้างถึงการกระทำของชาติตะวันตก ที่ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจขั้นรุนแรงต่อรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการขับธนาคารของรัสเซียออกจากระบบโอนเงินโลกอย่าง SWIFT และการคว่ำบาตรปูตินโดยตรง

 

“ชาติตะวันตกไม่เพียงดำเนินการอย่างไม่เป็นมิตรกับประเทศของเราในด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสมาชิกชั้นนำของ NATO ยังออกแถลงการณ์เชิงรุกรานต่อประเทศของเรา” ปูตินกล่าว

 

คำสั่งของปูตินมีขึ้นในระหว่างการประชุมกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงก่อนหน้านี้ โดยเขาเปิดเผยว่า ได้มอบหมายคำสั่งต่อรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและเสนาธิการทหารกองทัพบก ให้สั่งการกองกำลังป้องปรามนิวเคลียร์ เพื่อเข้าสู่ ‘โหมดพิเศษสำหรับภารกิจการรบ’

 

ทั้งนี้ ยังไม่มีความชัดเจนว่าอะไรคือโหมดพิเศษสำหรับภารกิจการรบตามที่ปูตินกล่าว โดยที่ผ่านมาปูตินแสดงท่าทีเตือนต่างชาติว่าจะมีการตอบโต้หากมีการแทรกแซงปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียในยูเครน โดยชี้ว่าอาจเกิดผลลัพธ์อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน

 

ด้าน ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ได้แสดงท่าทีต่อข่าวที่เกิดขึ้น โดยชี้ว่าปูตินยังคงขยายความขัดแย้งของสงครามครั้งนี้ต่อไป ในลักษณะที่ไม่สามารถยอมรับได้อย่างสิ้นเชิง พร้อมยืนยันว่าควรประณามการกระทำของผู้นำรัสเซียในหนทางที่รุนแรงที่สุด

 

ภาพ: Photo by Alexey Nikolsky/SPUTNIK/AFP via Getty Images

อ้างอิง:

 


ประธานาธิบดียูเครนยืนยัน ยูเครน-รัสเซียจะเจรจากันโดยไม่มีเงื่อนไขบนชายแดนเบลารุส

 

BREAKING_NEWS

 

สำนักข่าว Reuters รายงานอ้างทำเนียบประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกีของยูเครนระบุว่า ตัวแทนเจ้าหน้าที่ยูเครนและรัสเซียจะจัดการประชุมเจรจาในสถานที่แห่งหนึ่งบริเวณชายแดนระหว่างเบลารุสกับยูเครน

 

เซเลนสกีเผยว่า การเจรจาดังกล่าว ซึ่งถือเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่รัสเซียเปิดฉากปฏิบัติการทางทหารเต็มรูปแบบต่อยูเครนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว จะจัดขึ้นโดยไม่มีเงื่อนไข ซึ่งเป็นผลมาจากการหารือทางโทรศัพท์ระหว่างประธานาธิบดียูเครนกับประธานาธิบดีของเบลารุส

 

“เราตกลงกันว่าผู้แทนของยูเครนจะพบกับผู้แทนของรัสเซียโดยไม่มีเงื่อนไขบนพรมแดนเบลารุส ใกล้กับแม่น้ำ Pripyat” แถลงการณ์ระบุ

 


ยูเครนยื่นคำร้องต่อศาลโลก กรณีถูกรัสเซียรุกราน

 

 

วันนี้ (27 กุมภาพันธ์) ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ทวีตข้อความผ่านบัญชีทวิตเตอร์ส่วนตัว (@ZelenskyyUa) ระบุว่า ยูเครนได้ยื่นคำร้องต่อศาลโลก หรือศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ICJ) กรณีถูกรัสเซียรุกราน รัสเซียต้องรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้นที่เกี่ยวพันกับแนวคิดฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรุกราน เราเรียกร้องให้รัสเซียตัดสินใจอย่างเร่งด่วนในการยุติปฏิบัติการทางทหารทันที และคาดว่าการพิจารณาคดีจะเริ่มต้นขึ้นในสัปดาห์หน้า

 

ภาพ: Konstantin Sazonchik / TASS via Getty Images

อ้างอิง:

 


ประธานาธิบดียูเครนยืนยัน ไม่เจรจารัสเซียที่เบลารุส พร้อมเชิญนักรบต่างชาติร่วมสู้เคียงข้างชาวยูเครน

 

โวโลดิเมียร์ เซเลนสกี

 

ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน แถลงในวันนี้ (27 กุมภาพันธ์) โดยปฏิเสธข้อเสนอของรัสเซีย ในการเจรจาหาทางออกของสงครามที่กรุงมินสก์ ประเทศเบลารุส และชี้ว่าการเจรจาในกรุงมินสก์อาจเป็นไปได้ ถ้าหากรัสเซียไม่ใช้ดินแดนเบลารุสในการโจมตียูเครน

 

ท่าทีของผู้นำยูเครนมีขึ้นในขณะที่ผู้แทนของรัสเซียได้เดินทางไปถึงเบลารุสแล้ว เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเจรจากับยูเครน ขณะที่เซเลนสกียังคงแสดงความพร้อมจะเจรจา แต่ยืนยันว่าต้องเป็น ‘สถานที่อื่น’

 

“หากไม่มีการกระทำรุกรานจากดินแดนของคุณ เราสามารถพูดคุยได้ในมินสก์ เมืองอื่นๆ สามารถใช้เป็นสถานที่สำหรับการเจรจาได้ แน่นอนเราต้องการสันติภาพ เราต้องการพบ เราต้องการยุติสงคราม วอร์ซอ, บราติสลาวา, บูดาเปสต์, อิสตันบูล, บากู เราเสนอเมืองเหล่านี้แก่รัสเซีย เมืองอื่นๆ ก็เหมาะกับเราเช่นกัน ในประเทศที่ไม่มีขีปนาวุธยิงมาที่เรา นี่เป็นทางเดียวที่การเจรจาจะซื่อสัตย์และสามารถยุติสงครามได้จริงๆ” เซเลนสกีกล่าว

 

นอกจากนี้ เซเลนสกียังได้โพสต์ข้อความผ่านทางเพจ Facebook เชิญชวนให้นักรบต่างชาติ ร่วมกันสร้างกองกำลังต่างชาติเพื่อรบเคียงบ่าเคียงไหล่กับชาวยูเครนและต่อต้านอาชญากรสงครามอย่างรัสเซีย โดยเนื้อหาข้อความระบุว่า ประชาชนต่างชาติจะได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการป้องกันยูเครนอย่างถูกกฎหมาย และจะมีการจัดตั้งกองกำลังแยกที่เรียกว่า ‘กองกำลังทหารระหว่างประเทศเพื่อป้องกันดินแดนยูเครน’ 

 

ขณะเดียวกัน ทางกองทัพยูเครนก็ประกาศข้อแนะนำในการต่อต้านกองทัพรัสเซียแก่ประชาชนทั่วประเทศ โดยเรียกร้องให้ประชาชนช่วยกัน และใช้ทุกวิถีทางที่เป็นไปได้เพื่อต่อสู้ ทั้งการปลดป้ายถนน โค่นล้มต้นไม้ให้มากที่สุด ใช้วัตถุระเบิดที่ทำเองในการต่อสู้ ทำลายศูนย์กลางการขนส่ง และเคลื่อนไหวต่อต้านรัสเซียในช่วงพลบค่ำหรือกลางคืน

 

ภาพ: Photo by Presidency of Ukraine / Handout / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

 


ชาติยุโรปผนึกกำลัง แบนไม่ให้เครื่องบินรัสเซียลงจอดในประเทศ

 

เครื่องบิน

 

หลายชาติยุโรปผนึกกำลังกันปิดน่านฟ้าไม่ต้อนรับเครื่องบินจากรัสเซีย เพื่อหวังสร้างแรงกดดันต่อรัสเซียที่นำกองกำลังบุกเข้าโจมตียูเครนตั้งแต่ช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา

 

เอสโตเนีย ลัตเวีย สโลวีเนีย และโรมาเนีย เปิดเผยวานนี้ (26 กุมภาพันธ์) ว่าได้สั่งห้ามเที่ยวบินบางเที่ยวจากรัสเซียเข้าลงจอดในประเทศแล้ว ตามความเคลื่อนไหวของอังกฤษ บัลแกเรีย โปแลนด์ และสาธารณรัฐเช็ก ที่ออกคำสั่งแบนไปก่อนหน้านี้ ซึ่งจะส่งผลให้สายการบินของรัสเซียต้องใช้เส้นทางบินอ้อมที่ไกลและคดเคี้ยวมากกว่าเดิม

 

รายงานจากเว็บไซต์ติดตามการบิน Flightradar24 ระบุว่า เที่ยวบินของสายการบิน Aeroflot ที่เดินทางจากกรุงมอสโกไปยังบูดาเปสต์เมื่อวันเสาร์ (26 กุมภาพันธ์) ต้องใช้เวลาเดินทางยาวนานกว่าปกติราว 75 นาที เนื่องจากต้องเลี่ยงเส้นทางบินผ่านโปแลนด์

 

ด้าน Kaja Kallas นายกรัฐมนตรีเอสโตเนีย เรียกร้องให้ประเทศอื่นๆ ในสหภาพยุโรปออกข้อจำกัดในลักษณะเดียวกัน โดยเปิดเผยผ่านทางทวิตเตอร์ว่า “ไม่มีที่ว่างให้กับเครื่องบินของประเทศผู้รุกรานในน่านฟ้าประชาธิปไตย”

 

Janez Janša นายกรัฐมนตรีสโลวีเนีย ก็ได้ออกมาขานรับคำกล่าวของ Kaja Kallas พร้อมประกาศว่าสโลวีเนียจะออกมาตรการแบนเที่ยวบินจากรัสเซียเช่นเดียวกัน

 

สำหรับในฟากฝั่งของลัตเวียนั้น รัฐมนตรีกระทรวงคมนาคมเปิดเผยทางทวิตเตอร์ว่า “ลัตเวียพร้อมปิดน่านฟ้าของประเทศไม่ต้อนรับสายการบินพาณิชย์ของรัสเซีย” และเสริมว่า การตัดสินใจดังกล่าวจะได้รับการอนุมัติอย่างเป็นทางการในการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งต่อไป

 

นอกจากนี้ สายการบินพาณิชย์ของประเทศต่างๆ ก็จำต้องเลี่ยงเส้นทางบินผ่านน่านฟ้าของยูเครน มอลโดวา และเบลารุส เนื่องจากกังวลว่าอาจถูกลูกหลงจากจรวดของทั้ง 2 ประเทศที่ยิงตกลงมา ท่ามกลางการทำสงครามอย่างดุเดือด

 

ส่วนสายการบิน Delta Air Lines ของสหรัฐฯ ประกาศว่าทางบริษัทจะระงับข้อตกลงการบินโดยใช้รหัสเที่ยวบินร่วมกัน (Codeshare) กับสายการบิน Aeroflot ของรัสเซียด้วยเช่นกัน

 

ภาพ: Nicolas Economou / NurPhoto via Getty Images

อ้างอิง:

 


ทัพรัสเซียเคลื่อนกำลังทหาร ยานพาหนะ เข้าใจกลางเมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน ยึดเมืองทางใต้เพิ่ม

 

 

สถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนล่าสุดเช้าวันนี้ (27 กุมภาพันธ์) มีรายงานว่า กองกำลังทหารรัสเซียพร้อมขบวนยานพาหนะกองทัพได้เคลื่อนเข้าพื้นที่ใจกลางเมืองคาร์คีฟ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของยูเครน ทางตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว โดยทางการยูเครนประกาศเตือนประชาชนให้หลบอยู่ภายในบ้าน และอย่าออกมาบนถนน

 

การรุกเข้าพื้นที่ใจกลางเมืองคาร์คีฟ เกิดขึ้นหลังจากที่เมื่อวานนี้ (26 กุมภาพันธ์) มีรายงานว่า ทหารรัสเซียได้ระเบิดท่อส่งก๊าซภายในเมืองและมีการโจมตีพื้นที่ชุมชน จนทำให้อาคารขนาด 9 ชั้นพังถล่ม และมีรายงานผู้เสียชีวิต 1 คน

 

ขณะเดียวกัน กองทัพรัสเซียยังได้บุกเข้ายึดเมืองโนวา คาคอฟกา ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ ทางตอนใต้ของยูเครน แต่เป็นอีกจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่อยู่ใกล้แม่น้ำนีเปอร์ และเป็นช่องทางเสริมกำลังทางน้ำจากทางคาบสมุทรไครเมีย โดยนายกเทศมนตรีของเมืองยืนยันว่า ทหารรัสเซียได้เข้ายึดอาคารคณะกรรมการบริหารเมืองและปลดธงชาติยูเครนทั้งหมดออก

 

ส่วนในกรุงเคียฟ ช่วงเช้านี้ พบว่าเกิดเสียงระเบิดและมีเสียงไซเรนเตือนภัยดังขึ้น แต่สถานการณ์ส่วนใหญ่ภายในเมืองยังคงสงบและกองทัพยูเครนยังคุมสถานการณ์ไว้ได้ โดยยังไม่มีรายงานการเปิดฉากโจมตีจากฝ่ายรัสเซีย

 

ภาพ: ขบวนยานพาหนะกองทัพรัสเซีย by Stringer / Anadolu Agency via Getty Images

อ้างอิง:

 


ภาพจากสมรภูมิสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังปฏิบัติการพิเศษทางทหารเข้าสู่วันที่ 4

 

 

นี่คือภาพบรรยากาศจากสมรภูมิสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ปะทุขึ้นในพื้นที่ของประเทศยูเครน ภายหลังจากที่ปฏิบัติการพิเศษทางทหารของกองทัพรัสเซียเข้าสู่วันที่ 4 นับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สถานการณ์ยังคงส่อเค้าตึงเครียดขึ้น พื้นที่ความเสียหายยังคงขยายตัวเป็นวงกว้าง เป็นเหตุให้ยอดผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพลเรือนเสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 198 ราย ได้รับบาดเจ็บอีกมากกว่า 1,000 ราย 

 

ขณะที่สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผยว่า ประชาชนชาวยูเครน 8.5 แสนรายกลายเป็นคนพลัดถิ่นภายในประเทศ เบื้องต้นกว่า 1.2 แสนรายเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว คาดว่าตัวเลขผู้อพยพลี้ภัยจะพุ่งสูงถึงราว 4 ล้านราย หากสถานการณ์ยังคงรุนแรงและยืดเยื้อต่อไปอีก ขณะที่พันธมิตรหลายประเทศในยุโรปเตรียมส่งมอบความช่วยเหลือด้านอาวุธยุทโธปกรณ์ให้แก่ยูเครน เพื่อรับมือกับกองทัพรัสเซียภายในประเทศแล้ว

 

คาร์คิฟ ยูเครน

 

ลูฮันสก์ ยูเครน

 

กรุงเคียฟ ยูเครน

 

คาร์คิฟ ยูเครน

 

กรุงเคียฟ ยูเครน

 

ภาพถ่ายดาวเทียมแสดงพื้นที่เสียหายและสมรภูมิรบในคาร์คิฟ ยูเครน

 

ภาพ: Sergey Bobok / AFP / Anatolii Stepanov / AFP / Daniel Leal / APF / Sergey Bobok / AFP /

 Aytac Unal / Anadolu Agency via Getty Images / BlackSky / Handout via Reuters

อ้างอิง:

 


รายงานเผย ทะเลดำไร้กองเรือ NATO ตอนที่รัสเซียเปิดฉากบุกยูเครน

 

NATO

 

รายงานจากเว็บไซต์ Turkishnavy.net ของตุรกี ซึ่งติดตามการเคลื่อนไหวของเรือรบต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่รัสเซียเปิดฉากโจมตียูเครนนั้น ไม่ปรากฏเรือของชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ NATO อยู่ในทะเลดำ แม้แต่ลำเดียว

 

ทะเลดำถือเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ โดยมีน่านน้ำเชื่อมต่อกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และมีพรมแดนติดกับรัสเซีย ยูเครน และสามประเทศสมาชิก NATO ได้แก่ ตุรกี บัลแกเรีย และโรมาเนีย ทะเลดำจึงเป็นเส้นทางทางทะเลที่ทำให้รัสเซียเข้าสู่ยุโรปตะวันออกได้ง่ายมากขึ้น

 

เว็บไซต์ Turkishnavy.net ระบุว่า ในช่วงที่รัสเซียบุกยูเครน เรือของชาติพันธมิตรหลักของ NATO ลำที่อยู่ใกล้ที่สุดนั้น อยู่ในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และระบุด้วยว่า เรือลำสุดท้ายของ NATO แล่นออกจากทะเลดำตั้งแต่เมื่อหนึ่งเดือนก่อน โดยเรือรบฝรั่งเศสลำหนึ่งเสร็จสิ้นภารกิจในทะเลดำเมื่อต้นเดือนมกราคม และไม่มีเรือจากชาติสมาชิกรายใหญ่ของ NATO ลาดตระเวนในน่านน้ำแห่งนี้ตั้งแต่นั้นมา ขณะที่ในช่วงเวลาเดียวกันกลับมีเรือรบ 16 ลำจากกองเรือของรัสเซีย ซึ่งรวมถึงเรือติดขีปนาวุธและเรือจอดรถถัง แล่นเข้าสู่ทะเลดำ ตามการรายงานของ Turkishnavy.net และแถลงการณ์ของกระทรวงกลาโหมรัสเซีย

 

แม้ NATO มีมติที่จะขัดขวางการรุกรานยูเครนของรัสเซีย แต่กลับไม่มีเรือรบของชาติพันธมิตรอยู่ในทะเลดำแม้แต่ลำเดียว ซึ่งเป็นการเปิดทางให้รัสเซียสร้างกองกำลังทางทะเลและบุกยูเครนได้โดยง่าย

 

ภาพ: เรือฟรีเกต TCG Barbaros ของกองทัพเรือตุรกี และเรือพิฆาต USS Roosevelt ของกองทัพเรือสหรัฐฯ ขณะฝึกซ้อมในทะเลดำ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2020 (Ministry of National Defence of Turkey / Handout/Anadolu Agency via Getty Images) 

อ้างอิง:

 


สรุปสงครามรัสเซีย-ยูเครน ในรอบ 24 ชั่วโมง รัสเซียระดมโจมตีทางอากาศพร้อมบุกจากทุกทิศทาง ขณะที่ยูเครนเผยพลเรือนเสียชีวิตแล้วเกือบ 200 ราย

 

Russia

 

สถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงทวีความรุนแรงต่อเนื่อง ท่ามกลางความพยายามของกองกำลังทหารรัสเซียที่เคลื่อนกำลังประชิดกรุงเคียฟ โดยในการสู้รบเมื่อวานนี้ (26 กุมภาพันธ์) จนถึงเช้าวันนี้ (27 กุมภาพันธ์) มีรายงานการโจมตีทางอากาศและการยิงปะทะกันอย่างดุเดือด ระหว่างกำลังทหารภาคพื้นดินเกิดขึ้นในกรุงเคียฟและหลายเมือง 

 

ขณะที่ทางการยูเครนประกาศเคอร์ฟิวห้ามประชาชนออกจากบ้านตั้งแต่เวลา 17.00 น. ต่อเนื่องไปจนถึง 08.00 น. ของวันจันทร์ (28 กุมภาพันธ์) โดยใครที่ออกมานอกบ้านจะถูกพิจารณาว่าเป็นสมาชิกของฝ่ายศัตรู

 

การโจมตีทางอากาศนอกจากเป้าหมายทางทหารพบว่า มีการยิงขีปนาวุธโจมตีในหลายเมืองใกล้กรุงเคียฟ รวมถึงคลังเก็บน้ำมันในเมืองวาซิลคีฟ ที่อยู่ห่างกรุงเคียฟไปราว 40 กิโลเมตร ซึ่งเกิดระเบิดขนาดใหญ่ 2 ครั้ง ส่งผลให้เกิดควันไฟสีดำจำนวนมากพวยพุ่งออกมาปกคลุมท้องฟ้ารอบบริเวณ ซึ่งนายกเทศมนตรีของเมืองประกาศเตือนประชาชนให้หลบอยู่ในบ้านและระวังอันตรายจากควันพิษที่เกิดจากการเผาไหม้ของน้ำมัน

 

บรรยากาศในกรุงเคียฟตลอดทั้งวันมีเสียงไซเรนดังขึ้นหลายครั้ง ขณะที่กองกำลังทหารรัสเซียพยายามรุกคืบเข้าสู่ใจกลางเมืองจากพื้นที่ฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือและริมฝั่งแม่น้ำดนิโปรที่อยู่ติดกับเมือง แต่การบุกจาก 2 พื้นที่ดังกล่าวประสบความล้มเหลว เนื่องจากเผชิญการต่อต้านที่รุนแรงจากทหารยูเครน

 

การปะทะที่ดุเดือดและประกาศเคอร์ฟิวของทางการทำให้ประชาชนในกรุงเคียฟต้องพยายามหาที่หลบซ่อนใต้ดิน ขณะที่มีรายงานประชาชนจำนวนมากทยอยเดินทางออกจากยูเครนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอย่างโปแลนด์และมอลโดวา ซึ่งนับตั้งแต่เริ่มเกิดสงครามในวันพฤหัสบดี (24 กุมภาพันธ์)  มีรายงานประชาชนหนีออกจากยูเครนแล้วมากกว่า 120,000 คน

 

นอกจากนี้ ทางการยูเครนรายงานว่า กองทัพรัสเซียได้ก่อเหตุระเบิดท่อส่งก๊าซธรรมชาติภายในเมืองคาร์คิฟ เมืองใหญ่อันดับ 2 ของประเทศที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเกิดการระเบิดรุนแรงจนเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ แต่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นท่อส่งก๊าซที่มีความสำคัญมากน้อยแค่ไหน

 

ด้านสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office for the Coordination of Humanitarian Affairs) รายงานว่า มีพลเรือนเสียชีวิตจากการสู้รบในยูเครนเมื่อวานนี้อย่างน้อย 64 คน ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขยูเครนเปิดเผยว่า มีพลเรือนเสียชีวิต 198 คน รวมเด็ก 3 คน และบาดเจ็บ 1,115 คน ซึ่ง CNN รายงานว่า มีเด็กวัย 6 ขวบ เสียชีวิตจากการยิงปะทะในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเคียฟเมื่อคืนนี้

 

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขผู้เสียชีวิตยังไม่มีความชัดเจนและเป็นไปได้ว่าอาจมีจำนวนสูงกว่าที่รายงาน

 

ทั้งนี้ ยูเครนยังพยายามใช้ทุกยุทธวิธีเพื่อต่อต้านการบุกของกองทัพรัสเซีย โดยมีรายงานว่า บริษัทที่รับผิดชอบการบำรุงรักษาถนนในยูเครนได้ถอดและสลับป้ายบอกทางทั้งหมด เพื่อสร้างความสับสนให้แก่ทหารรัสเซียที่ประสบปัญหาระบบสื่อสารที่ย่ำแย่

 

“ฝ่ายศัตรูมีการสื่อสารที่ไม่ดี พวกเขาไม่สามารถนำทางตามภูมิประเทศได้ เรามาช่วยให้พวกเขาไปลงนรกกันเถอะ” บริษัท Ukravtodor ของยูเครนระบุในโพสต์ที่เขียนทาง Facebook

 

ขณะที่ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี ของยูเครน ประกาศว่าพันธมิตรชาติตะวันตกทั้งสหรัฐฯ เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ ให้คำมั่นว่าจะส่งอาวุธไปช่วยเหลือยูเครนเพิ่มเติม

 

ภาพ: MARCUS YAM / LOS ANGELES TIMES

อ้างอิง:

 


สหรัฐฯ และชาติตะวันตก ใช้ ‘ระเบิดนิวเคลียร์ทางการเงิน’ ขับธนาคารใหญ่รัสเซียออกจาก SWIFT ตัดการเชื่อมต่อระบบการเงินโลก

 

SWIFT

 

สหรัฐฯ พร้อมด้วยพันธมิตรชาติตะวันตก ทั้งสหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และแคนาดา ออกแถลงการณ์ร่วมเมื่อช่วงเย็นวานนี้ (26 กุมภาพันธ์) ประกาศคว่ำบาตร ด้วยการขับหลายธนาคารใหญ่ของรัสเซียออกจากระบบ SWIFT ซึ่งเป็นเครือข่ายการโอนและชำระเงินระหว่างประเทศความปลอดภัยสูงที่เชื่อมต่อกับสถาบันการเงินทั่วโลกมากกว่า 11,000 แห่ง

 

โดยถือเป็นมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินล่าสุด เพื่อตอบโต้การทำสงครามรุกรานยูเครนของรัสเซีย และมีเป้าหมายเพื่อตัดธนาคารรัสเซียออกจากการเชื่อมต่อกับระบบการเงินโลก และทำลายความสามารถของรัสเซียในการทำธุรกรรมทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศ 

 

“สิ่งนี้จะทำให้แน่ใจได้ว่าธนาคารเหล่านี้จะถูกตัดการเชื่อมต่อจากระบบการเงินระหว่างประเทศ และจะสร้างความเสียหายต่อความสามารถในการดำเนินงานทั่วโลก” แถลงการณ์ร่วมที่เผยแพร่โดยทำเนียบขาวระบุ พร้อมทั้งให้คำมั่นว่า “จะกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันไม่ให้ธนาคารกลางรัสเซียใช้เงินสำรองระหว่างประเทศเพื่อลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร”

 

การตัดธนาคารรัสเซียออกจากระบบ SWIFT หรือเครือข่ายโทรคมนาคมทางการเงินระหว่างธนาคารทั่วโลก (Society for Worldwide Interbank Financial Telecommunication) คาดว่า จะก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง เนื่องจากธนาคารแทบทั้งหมดทั่วโลกต่างใช้ระบบนี้ในการโอนและชำระเงิน 

 

โดยรัสเซียนั้นพึ่งพาระบบ SWIFT ในการทำธุรกิจส่งออกน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ที่ถือเป็นรายได้หลักของประเทศ ขณะที่คาดว่า ผู้ประกอบธุรกิจของรัสเซียต้องหันไปใช้วิธีการอื่น เช่น การโทรศัพท์หรือเครื่องโทรสาร ในการชำระเงิน

 

ก่อนหน้านี้ รัฐมนตรีคลังของฝรั่งเศส เรียกมาตรการคว่ำบาตรธนาคารรัสเซียออกจาก SWIFT ว่าเปรียบเหมือน ‘อาวุธนิวเคลียร์ทางการเงิน’ เนื่องจากขนาดความเสียหายของมาตรการที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของรัสเซีย และจะทำให้เกิดความเสียหายขั้นรุนแรงต่อการค้าและการธนาคารของรัสเซีย โดยบริษัทของรัสเซียจะเผชิญความลำบากอย่างมากในการทำธุรกิจ แต่ความเคลื่อนไหวของสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรครั้งนี้ ยังส่งผลเสียต่อบริษัทของชาติตะวันตกที่ทำการค้ากับรัสเซียด้วยเช่นกัน

 

นอกจากนี้ สหรัฐฯ และชาติยุโรปยังประกาศจะกำหนดมาตรการที่พุ่งเป้าไปยังธนาคารกลางของรัสเซีย เพื่อจำกัดความสามารถในการนำเงินสำรองระหว่างประเทศมูลค่ากว่า 6.3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ มาใช้พยุงค่าเงินรูเบิลและลดผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตร ตลอดจนสนับสนุนทางการเงินต่อการทำสงครามในยูเครน

 

ขณะที่ อัวร์ซูลา ฟอน แดร์ ไลเอิน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป ประกาศว่า สมาชิก EU ทั้ง 27 ชาติ จะร่วมกันอายัดทรัพย์สินของธนาคารกลางรัสเซีย เพื่อจำกัดการเข้าถึงทุนสำรองของรัสเซียในต่างประเทศด้วย

 

ภาพ: Photo illustration by Chesnot / Getty Images

อ้างอิง:

 


4 ประเทศสมาชิก NATO เตรียมส่งอาวุธยุทโธปกรณ์ช่วยเหลือยูเครน ต่อสู้กองทัพรัสเซีย

 

NATO

 

วันนี้ (27 กุมภาพันธ์) 4 ประเทศสมาชิก NATO อย่าง เยอรมนี สาธารณรัฐเช็ก เนเธอร์แลนด์ และโปรตุเกส เตรียมส่งอาวุธยุทโธปกรณ์และความช่วยเหลือให้แก่ยูเครน ต่อสู้กับกองทัพรัสเซียที่พยายามเดินหน้าขยายขอบเขตของความขัดแย้งอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

การตัดสินใจจะส่งอาวุธทางทหารช่วยเหลือยูเครน นับเป็นการปรับแนวนโยบายครั้งใหญ่ของเยอรมนี หลังจากที่ก่อนหน้านี้เยอรมนีเคยเห็นพ้องว่าจะไม่ส่งความช่วยเหลือทางทหาร รวมถึงอาวุธให้แก่ภูมิภาคที่มีความขัดแย้ง แต่ปฏิบัติการทางทหารของกองทัพรัสเซียสร้างจุดเปลี่ยนที่สำคัญ นายกรัฐมนตรี โอลาฟ โชลซ์ ของเยอรมนี จึงตัดสินใจเตรียมส่งอาวุธให้กับพันธมิตรอย่างยูเครน เพื่อใช้รับมือกับกองทัพรัสเซีย

 

ทางด้าน ปีเตอร์ เฟียลา นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเช็ก ก็เตรียมจัดส่งอาวุธให้แก่ยูเครนมูลค่าราว 8.5 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 275 ล้านบาท) พร้อมระบุว่า “เราจะทำทุกวิถีทางที่เราทำได้ เพื่อช่วยเหลือยูเครน”

 

นอกจากนี้รัฐบาลเนเธอร์แลนด์และโปรตุเกสก็ส่งมอบความช่วยเหลือทางทหาร โดยเฉพาะบรรดาอาวุธต่างๆ แก่พันธมิตรอย่างยูเครนเช่นเดียวกัน โดย อันโตนิโอ กอสตา นายกรัฐมนตรีโปรตุเกสระบุว่า โปรตุเกสตัดสินใจเตรียมจัดส่งอาวุธช่วยกองทัพยูเครนปกป้องประเทศของตน โดยสงครามครั้งนี้ไม่เพียงทำลายเสรีภาพในการกำหนดอนาคตของประเทศประชาธิปไตยเพียงประเทศหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นสงครามที่ยังมุ่งทำลายหลักความเป็นประชาธิปไตยอีกด้วย 

 

หลายฝ่ายคาดว่า บรรดาประเทศในยุโรปที่มีความสัมพันธ์อันดีกับยูเครน โดยเฉพาะภายใต้การนำของประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี จะส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่ยูเครนและร่วมดำเนินมาตรการกดดันแก่รัสเซียที่กำลังละเมิดและทำลายหลักกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้งในขณะนี้

 

ภาพ: Horacio Villalobos Corbis / Corbis via Getty Images

อ้างอิง:

 


UNHCR เผยชาวยูเครน 8.5 แสนราย กลายเป็นคนพลัดถิ่นในประเทศ คาดยอดผู้ลี้ภัยอาจพุ่งสูงถึงราว 4 ล้านราย

 

UNHCR

 

วานนี้ (26 กุมภาพันธ์) เคลลี เคลเมนต์ รองข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) เผยว่า ประชาชนชาวยูเครนกำลังได้รับข้อเสนอว่าจะมีชีวิตอยู่หรือตายจากไป หลังจากรัสเซียสั่งปฏิบัติการพิเศษทางทหารในยูเครน ระบุมีชาวยูเครน 8.5 แสนรายกลายเป็นคนพลัดถิ่นภายในประเทศ เบื้องต้นกว่า 1.2 แสนรายเดินทางลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว ตั้งแต่วันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา คาดว่า ตัวเลขผู้อพยพลี้ภัยอาจจะพุ่งสูงถึงราว 4 ล้านราย จากประชากรทั้งหมดราว 44 ล้านราย (2020)

 

“เราส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในประเทศนี้มาตลอด 8 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์ต่างๆ ยิ่งแย่ลงไปอีก นอกจากจะมีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศราว 8.5 แสนราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประชาชนที่อาศัยอยู่ทางภาคตะวันออกของยูเครน ขณะที่อีกกว่า 1.2 รายก็เดินทางอพยพลี้ภัยไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้ว

 

แต่จากสถานการณ์ที่ยังคงส่อเค้ายกระดับความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง เราคาดว่ายอดผู้ลี้ภัยที่จะข้ามพรมแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านอาจสูงถึง 4 ล้านราย หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ต่อไป”

 

ตัวเลขผู้ที่ลี้ภัยออกนอกประเทศแล้วเพิ่มขึ้นจากจากตัวเลขที่ ฟิลลิปโป กรันดี ข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ คาดการณ์ไว้เมื่อวันศุกร์ (25 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา ซึ่งคาดว่ามีผู้ลี้ภัยราว 5 หมื่นรายที่อพยพออกนอกประเทศในช่วง 48 ชั่วโมง หลังจากที่ทางการรัสเซียจะเริ่มปฏิบัติการทหาร และขณะนี้กำลังเข้าสู่วันที่ 4 ตัวเลขผู้ลี้ภัยออกนอกประเทศอาจสูงกว่า 1.5 แสนรายแล้ว โดยส่วนใหญ่เดินทางไปยังประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นสมาชิก NATO อย่าง โปแลนด์ โรมาเนีย ฮังการี และสโลวาเกีย ล่าสุดมอลโดวาก็เปิดพรมแดนรับผู้ลี้ภัยจากยูเครนแล้ว

 

ภาพ: Michael Kappeler / picture alliance via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X