- การปะทะกันระหว่างกองทัพยูเครนกับกองทัพรัสเซีย ที่พยายามบุกเข้ายึดพื้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลเมื่อวานนี้ (24 กุมภาพันธ์) กลายเป็นที่จับตามองจากทั่วโลก เนื่องจากถือเป็นเขตภัยพิบัติรุนแรงจากเหตุระเบิดของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์เมื่อ 36 ปีที่แล้ว ซึ่งยังคงมีกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลจนถึงทุกวันนี้
- มิไคโล โปโดลยาค ที่ปรึกษาทำเนียบประธานาธิบดียูเครน ระบุว่า ฝ่ายรัสเซียสามารถยึดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลได้ แต่ยังมีคำถามที่หลายฝ่ายสงสัย คือทำไมรัสเซียต้องเลือกบุกยึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ในขณะที่ยูเครนเองก็พยายามป้องกันสุดชีวิต?
- ประธานาธิบดีโวโลดิเมียร์ เซเลนสกี แห่งยูเครน ให้คำตอบที่ชัดเจนในการทวีตเมื่อวานนี้ว่า “กองกำลังป้องกันของเรากำลังสละชีวิตเพื่อไม่ให้โศกนาฏกรรมในปี 1986 เกิดขึ้นซ้ำ” ซึ่งหมายถึงความพยายามป้องกันการโจมตีเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของกัมมันตภาพรังสีไปทั่วยุโรป โดยรัฐบาลเคียฟเตือนผลกระทบจากการจู่โจมโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลอย่างไร้เหตุผลของรัสเซียว่าเป็นหนึ่งในภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อยุโรปในยุคปัจจุบัน
- สำหรับรัสเซีย คำตอบเดียวที่ชัดเจนในการเสี่ยงนำกำลังทัพบุกเข้ายึดเขตภัยพิบัติแห่งนี้คือเรื่อง ‘ภูมิศาสตร์’ เนื่องจากโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลนั้นตั้งอยู่บนเส้นทางที่ใกล้ที่สุดในการเดินทัพข้ามชายแดนจากเบลารุสทางตอนเหนือเพื่อมุ่งหน้าไปยังกรุงเคียฟ โดยมีระยะทางห่างกันเพียงประมาณ 108 กิโลเมตร ซึ่งนักวิเคราะห์จากชาติตะวันตกมองว่า การเข้ายึดเชอร์โนบิลเป็นหนทางที่รวดเร็วที่สุดหากต้องการบุกโจมตีกรุงเคียฟ
- แจ็ค คีน อดีตเสนาธิการกองทัพสหรัฐฯ ชี้ว่า เชอร์โนบิลนั้นไม่มีความสำคัญทางทหารใดๆ แต่ตั้งอยู่บนเส้นทางใกล้ที่สุดจากเบลารุสไปยังเคียฟ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของกลยุทธ์การ ‘ตัดศีรษะ’ รัฐบาลยูเครน โดยคีนเรียกเส้นทางเชอร์โนบิลว่าเป็น 1 ใน 4 ขวาน หรือ 4 เส้นทางของกองทัพรัสเซียที่ใช้ในการบุกยูเครน ขณะที่การจู่โจมจากหลายทิศทางของรัสเซียถือเป็นการโจมตีครั้งใหญ่ที่สุดที่เกิดกับประเทศยุโรปนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2
- สำหรับเหตุภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลนั้นเกิดจากไฟไหม้และการระเบิดของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ในระหว่างการทดสอบความปลอดภัย ซึ่งส่งผลให้ฝุ่นกัมมันตรังสีแพร่กระจายไปทั่วยุโรป และไปไกลถึงพื้นที่ฝั่งตะวันออกของสหรัฐฯ โดยภัยพิบัตินี้ยังถูกมองว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อการล่มสลายของสหภาพโซเวียตในปี 1991
- กัมมันตภาพรังสีที่รั่วไหลออกมามีทั้งสตรอนเทียม (Strontium) ซีเซียม (Caesium) และพลูโทเนียม (Plutonium) ส่วนใหญ่ส่งผลกระทบต่อยูเครนและเบลารุสที่อยู่ใกล้เคียง ตลอดจนพื้นที่บางส่วนของรัสเซียและยุโรป จำนวนผู้เสียชีวิตทั้งทางตรงและทางอ้อมคาดว่ามีสูงตั้งแต่หลักหลายพันคนไปจนถึงกว่า 93,000 คน ที่เสียชีวิตเพราะโรคมะเร็งในหลายประเทศทั่วโลก
- หลังเกิดภัยพิบัติราว 6 เดือน ยูเครนได้สร้างโลงหิน (Sarcophagus) เพื่อหุ้มเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 และกักเก็บวัตถุกัมมันตรังสีที่อยู่ภายใน รวมถึงปกป้องสิ่งแวดล้อมโดยรอบจากกัมมันตรังสี จากนั้นในเดือนพฤศจิกายนปี 2016 ได้มีการสร้างที่กักเก็บใหม่เป็นโครงสร้างเหล็กขนาดใหญ่ครอบเตาปฏิกรณ์และโลงหินดังกล่าว
- อย่างไรก็ตาม หนึ่งในเจ้าหน้าที่อาวุโสของยูเครนให้สัมภาษณ์กับ Reuters เชื่อว่าการบุกเข้ายึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลของรัสเซียนั้นเป็นส่วนหนึ่งในแผนที่กองทัพรัสเซียวางไว้แล้ว
- ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า รัสเซียไม่ได้ยึดโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลเพื่อต้องการป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันยูเครนยังมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีก 4 แห่ง ที่ยังคงใช้งานอยู่และมีความเสี่ยงมากกว่าเชอร์โนบิล เนื่องจากไม่ได้อยู่ในเขตยกเว้น (Exclusion Zone) เหมือนเชอร์โนบิล อีกทั้งยังมีระดับกัมมันตภาพรังสีที่สูงกว่ามาก ทำให้หากเกิดการสู้รบบริเวณโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหล่านี้ อาจก่อให้เกิดความเสียหายที่ใหญ่หลวง
ภาพ: Photo by SERGEI SUPINSKY / AFP
อ้างอิง: