วานนี้ (24 กุมภาพันธ์) สำนักพิมพ์แม็กพาย (MAGPIE BOOKS) จัดงานเปิดตัวสำนักพิมพ์ และสนทนาเปิดตัวหนังสือ ‘คัมภีร์โยนี (The Vagina Bible)’ ที่ Documentary Club ศาลาแดง ซอย 1
ผู้ร่วมสนทนาประกอบด้วย นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ผู้แปล ‘คัมภีร์โยนี (The Vagina Bible)’ ซึ่งเขียนโดย พญ.เจ็น กันเทอร์, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์แม็กพายและบรรณาธิการหนังสือคัมภีร์โยนี, อินทิรา เจริญปุระ นักอ่าน นักแสดง ดำเนินรายการโดย จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์
-
ความรู้ที่เคยเป็นความลับ
นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี กล่าวว่า การทำสำนักพิมพ์ในยุคที่ดูเหมือนสิ่งพิมพ์จะไปไม่รอดเพราะมีอินเทอร์เน็ตแล้ว แต่หนังสือเล่มนี้เป็น The New York Times Best Seller หนังสือขายดีมาก สำนักพิมพ์แม็กพายพิมพ์หนังสือที่คนอยากอ่าน ตัวเองอยากอ่าน และเป็นประโยชน์
ส่วนหนังสือคัมภีร์โยนีเป็นจุดเริ่มต้นที่อยากเห็นการคุยเรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้แต่ในสังคมอเมริกันที่ทันสมัย ยังมีปัญหาตอนหนังสือเล่มนี้ออกมาเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แสดงว่าทุกคนอยากรู้แต่ทุกคนไม่กล้าคุย มีมายาคติที่ไม่อยากจะพูดมากแม้แต่ในสังคมอเมริกัน
เมื่ออ่านเล่มนี้จะเห็นว่าความรู้หลายเรื่องถูกกำหนดโดยหมอผู้ชาย แต่เมื่อเวลาผ่านไปมีงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น และมีหมอผู้หญิงเห็นว่าถึงเวลาแล้วที่จะปลดปล่อยความเชื่อผิดๆ ออกมาได้แล้ว หนังสือเล่มนี้จึงน่าสนใจ เปิดโลกให้บุคลากรทางการแพทย์ด้วย ไม่เฉพาะคนทั่วไป
เมื่อ 30 ปีที่แล้ววงการแพทย์มีความเชื่อที่ว่าจะเจ็บป่วยหรือไม่เจ็บป่วยก็ต้องไปหาหมอ เพราะฉะนั้นความรู้เรื่องการแพทย์เป็นเรื่องลี้ลับมาก ชาวบ้านไม่ต้องรู้หรอก ถึงเวลาก็ไปพึ่งพาคุณหมอ
ฉะนั้นจะมีคำสอนที่ว่า สุขภาพดีของท่านคือความรับผิดชอบของเรา ซึ่งแตกต่างจากความรู้สึกของคนสมัยนี้ว่า สุขภาพดีของเราก็คือความรับผิดชอบของเรา ไม่ใช่ความรับผิดชอบของคุณหมอเลย เราอยู่กับร่างกายเราทั้งชีวิต
แต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว หมอที่อยากจะให้ชาวบ้านมีความรู้ทางการแพทย์จะถูกต่อว่ากลางที่ประชุมคณะแพทยศาสตร์ บอกว่า หมอพวกนี้เป็นหมอนอกคอก จะมาสอนให้ชาวบ้านดูแลตัวเอง อยู่ๆ ไปยื่นความรู้ให้ชาวบ้าน จะเป็นอันตรายถ้าชาวบ้านดูแลตัวเองจะเป็นปัญหาหรือเปล่า
จึงเกิดมูลนิธิหมอชาวบ้านในการเริ่มต้นพูดถึงปัญหาสุขภาพอย่างง่ายๆ ให้ประชาชนเข้าใจ วันนี้เรากำลังเริ่มเปิดมิติใหม่สำหรับสุขภาพของอวัยวะที่คุ้นกับเรา แต่ที่ผ่านมาไม่เคยพูดถึงอย่างจริงจัง ตอนนี้ทุกคนควรจะมีความรู้เรื่องเหล่านี้
ในอดีตความรู้บางอย่างเป็นความลับสืบทอดในตระกูล เช่น ตระกูลหนึ่งจะมีคีมดึงหัวเด็กที่คลอดยาก ใครเจอปัญหาเด็กที่คลอดยากก็ต้องไปหาตระกูลนี้เท่านั้น แต่ความลับนี้เปิดเผยแล้ว หมอสูตินรีทุกคนสามารถใช้คีมดึงหัวเด็กออกมาได้แล้ว
วันนี้ความหลากหลายทางความคิดมากขึ้น มีการพูดกันบนดินแทนที่จะพูดใต้ดิน รวมถึงเรื่องความหลากหลายทางเพศ LGBTQ ก็เคยคุยแบบซุบซิบ แต่วันนี้ก็กลายเป็นประเด็นทางสังคมที่เริ่มพูดคุยกันแล้ว หรือหลายๆ เรื่องซึ่งเป็นปัญหาของผู้หญิง อย่างผ้าอนามัยฟรี มีคนเริ่มพูดจริงจัง อาจจะเปลี่ยนโลกของผู้หญิง เช่นเดียวกับโครงการ 30 บาทรักษาทุกโลก สามารถเปลี่ยนโลกของผู้ป่วย เรื่องราวต่างๆ มีวิวัฒนาการ นักการเมือง พรรคการเมือง หรือรัฐบาล ต้องส่งเสริมความหลากหลายเหล่านี้ ความหลากหลายจะนำมาสู่การสร้างความร่วมมือถ้าเรามีนโยบายที่ชัดเจน
หนังสือเล่มต่อไปที่กำลังแปลของหมอเจ็น กันเทอร์ คือ Menopause Manifesto คำประกาศของวัยทอง ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นวัยที่ยังรื่นรมย์อยู่ต่อไปได้อีกยาวนาน วัยทองต่อไปนี้อาจจะเป็นเพียงครึ่งแรกของชีวิต ยังมีอีกครึ่งหลังที่จะมีชีวิตต่อไป นโยบายของรัฐจะเป็นอย่างไร การจัดสรรบทบาทเป็นเรื่องต้องคิดนโยบายต่อไป
.
-
ทุบกะลามายาคติ
นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ กล่าวว่า เล่มนี้อ่านแล้วได้รู้ใหม่ มีศัพท์ทางการแพทย์เยอะ ขณะที่ส่วนตัวเป็นนักเรียนสายศิลป์ จึงแปลด้วยความตื่นเต้น ตอนหนังสือเล่มนี้ออกจำหน่ายเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แม้แต่โลกทวิตเตอร์ของสังคมอเมริกันก็ตบตีกันว่าคำว่า Vagina เป็นคำหยาบหรือไม่ แล้วหมอเจ็น กันเทอร์ ก็ต่อสู้มายาคติเรื่องเหล่านี้
หนังสือเล่มนี้ทุบกะลามยาคติทุกอย่าง หมอเจ็น กันเทอร์ ใช้คำว่า Vagina หมายถึง ช่องโยนี ไม่ใช้คำว่าช่องคลอด เพราะผู้หญิงบางคนไม่ได้ใช้มันคลอด จึงไม่ใช้คำว่าช่องคลอด Vagina มีหน้าที่หลายอย่างมากกว่าคลอด แต่ไม่บังคับให้คนอื่นเรียกตาม เพียงแต่บอกที่มา
หนังสือเล่มนี้เหมาะกับทุกเพศ แม้แต่ LGBTQ เป็นการทำความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ร่วมโลกที่มีอวัยวะเพศหญิง
เลือกใช้คำว่าโยนีและลึงค์ เพราะเป็นภาษาสุภาพตามสังคมส่วนใหญ่ ส่วนแต่ละคนอยากจะใช้คำว่าอะไรก็เป็นเสรีภาพ สำหรับสาเหตุที่บางคำกลายเป็นคำหยาบ เพราะคำนั้นถูกใช้เป็นคำด่า ซึ่งเป็นการลดคุณค่าของคำนั้น
อย่างไรก็ตามการใช้คำว่า ลึงค์ ไม่ใช้คำว่าองคชาติ เพราะคำว่าองคชาติเป็นการเชิดชูผู้ชายเกินเหตุ
หมอเจ็น กันเทอร์ เป็นนักต่อสู้ เป็นผู้หญิงเก่ง ทางสำนักพิมพ์กำลังทำเล่มที่ 2 เกี่ยวกับเรื่องวัยทอง Menopause Manifesto คำประกาศของวัยทอง เป็นอีกเล่มที่ดีมากๆ
หมอเจ็น กันเทอร์ ไม่ได้บอกว่าความรู้เปลี่ยนแปลงไม่ได้ หมอบอกไว้เลยว่าหลายอย่างอาจจะเปลี่ยนแปลงได้และหลายๆ อย่างเพิ่งจะเรียนรู้ เพราะฉะนั้นคนที่เป็นหมอก็คงจะรู้ว่าความรู้มันเปลี่ยนแปลงได้ พัฒนาได้ตลอดเวลา
.
-
อวัยวะลี้ลับถูกนำมาทำการตลาด
อินทิรา เจริญปุระ กล่าวว่า ข้อความสรุปท้ายบทแต่ละบท อ่านแล้วต้องกลับไปอ่านตอนต้น เพราะท้ายบทจูงใจคนอ่านมากๆ ทำไมจบแบบนี้ มีบางเรื่องที่การแพทย์ใช้ความกลัวความกังวลต่ออวัยวะที่เป็นพื้นที่ลี้ลับมาทำการตลาดได้สูงมากทางธุรกิจ
ในยุคหนึ่งบางเรื่องอาจจะเป็นความเชื่ออย่างจริงจังเท่าที่วิทยาศาสตร์สรีรศาสตร์ในขณะนั้นจะตอบได้ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว มีหลายๆ ความเชื่อที่ไม่จริง ข้อมูลบางอย่างขัดแย้งกับความเชื่อในยุคก่อน เราจำเป็นต้องเข้าถึงความรู้ที่อัปเดต ส่วนเราจะใช้หรือไม่ใช้สิ่งใดก็ตาม ขอให้เลือกใช้อย่างมีความรู้
ในพื้นที่ลี้ลับก็คงมีให้คนแสวงหาในมุมที่แตกต่างออกไป เชื่อว่าคุณหมอเจ็น กันเทอร์ คงมีคนไข้หลายคนที่มาหาด้วยความเจ็บช้ำจากความเชื่อแปลกๆ เหล่านี้
หนังสือเล่มนี้เขียนอย่างคนไข้เป็นมนุษย์ เข้าใจความรู้สึกที่อธิบายไม่ถูก คนบางคนไม่สามารถเลือกคำมาระบุความเจ็บ แต่คุณหมอต้องรู้และคนไข้ต้องรู้เพื่ออธิบาย ไม่ต้องรู้สึกผิดที่จะสงสัยอะไร คนเรามีชีวิตมาไม่เหมือนกัน สิ่งแวดล้อมก็ต่างกัน