กลายเป็นข่าวสะเทือนเลือนลั่นไปทั่วโลก เมื่อประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ประกาศรับรองเอกราชสองดินแดนในภูมิภาคยูเครนตะวันออก หรือที่รู้จักกันในชื่อภูมิภาคดอนบาส พร้อมทั้งสั่งการให้กองทัพส่งทหารรัสเซียไปประจำการในภูมิภาคดังกล่าว ในแถลงการณ์สำคัญผ่านทางโทรทัศน์เมื่อคืนวันจันทร์ (21 กุมภาพันธ์) ตามเวลาท้องถิ่น
เป็นเวลาเกือบแปดปีแล้วที่ภูมิภาคที่แตกแยกแห่งนี้กลายเป็นสมรภูมิการต่อสู้ขนาดย่อมระหว่างกองกำลังของยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่รัสเซียหนุนหลัง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 14,000 คน
แต่การตัดสินใจของปูตินในการส่งทหารรัสเซียเข้าไปยังพื้นที่ดังกล่าวได้สร้างความหวาดกลัวว่าการสู้รบในพื้นที่จะลุกลามกลายเป็นสงครามที่ขยายวงกว้างไปทั่วยูเครน …ก่อนถึงวันนั้นที่โลกไม่อยากให้เกิด เรามาย้อนดูชนวนเหตุความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่มีดอนบาสเป็นศูนย์กลางของวิกฤต
– ประวัติศาสตร์ช่วงหลังในดอนบาส
สงครามปะทุขึ้นในปี 2014 หลังกลุ่มกบฏที่ได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียเข้ายึดอาคารสถานที่ราชการในเมืองต่างๆ ทั่วยูเครนตะวันออก การสู้รบที่รุนแรงทำให้บางส่วนของลูฮันสก์และโดเนตสก์ในภูมิภาคดอนบาสตกอยู่ในมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยในปีเดียวกันนั้นเอง รัสเซียยังได้ผนวกไครเมียจากยูเครน ซึ่งก่อให้เกิดเสียงประณามจากนานาประเทศ
สองพื้นที่ขัดแย้งในดอนบาสประกาศใช้ชื่อสาธารณรัฐประชาชนลูฮันสก์และสาธารณรัฐประชาชนโดเนตสก์ ขณะที่รัฐบาลยูเครนในกรุงเคียฟยืนกรานว่าทั้งสองดินแดนเป็นเพียงดินแดนที่ถูกรัสเซียยึดครอง โดยดินแดนที่ประกาศสถาปนาตนเองเป็นสาธารณรัฐจะไม่ได้รับการยอมรับจากรัฐบาลทั่วโลก ยกเว้นรัสเซีย ทั้งนี้ รัฐบาลยูเครนปฏิเสธที่จะพูดคุยโดยตรงกับสาธารณรัฐแบ่งแยกดินแดน
ข้อตกลงมินสก์ที่ 2 (Minsk II Agreement) ในปี 2015 นำไปสู่ข้อตกลงหยุดยิงที่ดูเหมือนจะไม่มีความหมายอะไร เมื่อการสู้รบตามแนวปะทะ (Line of Contact) ระหว่างรัฐบาลยูเครนกับกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลายเป็นเรื่องปกติ แม้ว่าข้อตกลงมินสก์ห้ามใช้อาวุธหนักใกล้แนวปะทะดังกล่าวก็ตาม
– รัสเซียเติมเชื้อเพลิงให้ความขัดแย้งยิ่งลุกโชน
กลุ่มแบ่งแยกดินแดนในดอนบาสได้รับการหนุนหลังจากมอสโก แม้ที่ผ่านมารัสเซียยืนกรานโดยตลอดว่าไม่มีทหารรัสเซียประจำการอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว แต่ยูเครน สหรัฐฯ และ NATO เชื่อว่ารัฐบาลรัสเซียเป็นผู้สนับสนุนหลักของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน โดยให้คำปรึกษาและข่าวกรอง ทั้งยังส่งเจ้าหน้าที่และนายทหารแฝงตัวดำรงตำแหน่งต่างๆ ในภูมิภาค
นอกจากนี้มอสโกยังได้แจกหนังสือเดินทางรัสเซียหลายแสนเล่มให้แก่ประชาชนในดอนบาสในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ขณะที่เจ้าหน้าที่และผู้สังเกตการณ์จากชาติตะวันตกกล่าวว่า ประธานาธิบดีปูตินพยายามสร้างสถานการณ์โดยการแปลงสัญชาติชาวยูเครนเป็นพลเมืองรัสเซีย ซึ่งเป็นวิธีโดยพฤตินัยในการให้การรับรองรัฐที่แยกตัวออกมา แถมยังทำให้ผู้นำรัสเซียมีข้ออ้างในการแทรกแซงยูเครนอีกด้วย
ภาพ: Pierre Crom / Getty Images
อ้างอิง: