ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 2564 ที่ผ่านมาขยายตัวได้ 1.9% เทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันปีก่อนหน้า ทำให้เศรษฐกิจไทยทั้งปี 2564 ขยายตัวได้ 1.6% สูงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้าว่าจะขยายตัวได้ 1.2% และขยายได้มากกว่าปี 2563 ที่ผ่านมาที่ขยายตัวติดลบ 6.2%
เลขาฯ สศช. ระบุว่า การขยายตัวที่ดีกว่าคาดเป็นผลมาจากความต้องการสินค้าและบริการทั้งในประเทศและต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการผ่อนคลายมาตรการเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด รวมทั้งมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงปลายปี และมาตรการเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ส่งผลให้การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ปรับตัวดีขึ้น
โดยมูลค่าการส่งออกสินค้า การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน และการลงทุนรวมของไทยในปี 2564 ปรับเพิ่มขึ้น 18.8%, 0.3% และ 3.4% ตามลําดับ ส่วนการผลิตสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ และการประมง สาขาการผลิตอุตสาหกรรม และสาขาการขายส่งและการขายปลีก การซ่อมฯ ขยายตัว 1.4%, 4.9% และ 1.7% ตามลําดับ ขณะที่สาขาที่พักแรมและบริการด้านอาหาร และสาขาการขนส่งฯ ลดลง 14.4% และ 2.9% ตามลําดับ
ทำให้ภาพรวมในปี 2564 GDP ไทยมีมูลค่าอยู่ที่ 16.2 ล้านล้านบาท (5.06 แสนล้านดอลลาร์) GDP ต่อหัวของคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 232,176.0 บาท ต่อคนต่อปี (7,255.5 ดอลลาร์ต่อคนต่อปี) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 1.2% และดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุล 2.2% ของ GDP
สำหรับเศรษฐกิจปี 2565 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ค่ากลาง 4% หรือภายในกรอบ 3.5-4.5% โดยมีปัจจัยสนับสนุนสําคัญ ประกอบด้วย
- การปรับตัวดีขึ้นของอุปสงค์ภายในประเทศ
- การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 5.5 ล้านคน
- การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการส่งออกสินค้า
- แรงขับเคลื่อนจากการลงทุนภาครัฐ
ทั้งนี้ คาดว่าในปี 2565 มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์จะขยายตัว 4.9% การอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 4.5% และร้อยละ 3.8 ตามลําดับ ส่วนการลงทุนภาครัฐคาดว่าจะขยายตัว 4.6% ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.5-2.5% ปรับเพิ่มขึ้นจากเดิมที่เคยคาดไว้ที่ 0.9-1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.5% ของ GDP
“เท่าที่ดูดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจในเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรายังเชื่อว่าเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้จะยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากยังไม่พบปัจจัยที่จะมาฉุดรั้งการเติบโตในตอนนี้ แต่ยังต้องจับตาดูในช่วงปลายไตรมาสว่าจะมีปัจจัยอะไรมาดิสรัปชันเพิ่มเติมหรือไม่” ดนุชากล่าว
สำหรับปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตาในปี 2565 ประกอบด้วย
- ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาดของโรคโควิดที่ยังมีโอกาสเกิดการกลายพันธุ์ได้อีก
- การเพิ่มขึ้นของแรงกดดันเงินเฟ้อจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์
- หนี้ภาคครัวเรือนและหนี้ในภาคธุรกิจในภาวะที่เศรษฐกิจยังฟื้นตัวได้ไม่เต็มที่
- ความเสี่ยงที่จะเกิดการสะดุดในภาคการผลิตจากปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน
- ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเงินโลก จากการที่ธนาคารกลางของประเทศเศรษฐกิจหลักต้องดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้น
นอกจากนี้ สศช. ยังระบุว่า การบริหารนโยบายเศรษฐกิจในปี 2565 ของไทยควรให้ความสําคัญกับ 9 เรื่อง ได้แก่
- การป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจํากัด
- การสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ ควบคู่ไปกับการดูแลภาคเศรษฐกิจที่ยังมีข้อจํากัดในการฟื้นตัว
- การรักษาแรงขับเคลื่อนจากการใช้จ่ายภายในประเทศ
- การดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของครัวเรือน
- การขับเคลื่อนการส่งออกสินค้า
- การส่งเสริมการลงทุนภาคเอกชน
- การขับเคลื่อนการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ
- การติดตาม เฝ้าระวัง และเตรียมมาตรการรองรับความผันผวนของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศ
- การขับเคลื่อนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สนับสนุนการกระจายรายได้ และปรับตัวเข้าสู่สังคมคาร์บอนตำ่