วันนี้ (15 กุมภาพันธ์) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวการเฝ้าระวังโควิดสายพันธุ์โอมิครอน โดยระบุว่าข้อมูลตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 – 11 กุมภาพันธ์ 2565 ตอนนี้สัดส่วนการระบาดของเชื้อโอมิครอนในประเทศไทยพบอยู่ที่ 97.2% จากการตรวจหาเชื้อทั้งในและต่างประเทศ ส่วนยอดผู้ติดเชื้อโอมิครอนอยู่ที่ 18,028 ราย โดยจำแนกเป็น 5 จังหวัดที่พบเชื้อโอมิครอนมากที่สุดดังนี้
- กรุงเทพมหานคร 6,641 ราย
- ภูเก็ต 1,286 ราย
- ชลบุรี 1,240 ราย
- ร้อยเอ็ด 670 ราย
- สมุทรปราการ 590 ราย
ส่วนผลการติดตามสายพันธุ์โอมิครอน BA.2 ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พบว่า ปัจจุบันตรวจพบ BA.2 ใน 57 ประเทศทั่วโลก เริ่มพบการระบาดแทนสายพันธุ์หลักในบางประเทศ เช่น อินเดีย, เดนมาร์ก และสวีเดน เป็นต้น ทั้งนี้ BA.2 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในหลายประเทศและอาจกลายเป็นสายพันธุ์หลักแทน BA.1 ภายใน 1-2 เดือน เพราะสามารถแพร่กระจายตัวได้เร็วกว่า
โดย Frederik Plesner Lyngse นักวิจัยและคณะ จากมหาวิทยาลัยโคเปนเฮเกน รายงานผลการศึกษาในเดนมาร์ก พบโอมิครอนสายพันธุ์ BA.2 สามารถติดต่อได้ง่ายกว่าสายพันธุ์ BA.1 แม้ว่า BA.2 จะมีคุณสมบัติในการหลบหลีกภูมิคุ้มกัน แต่จากข้อมูลที่มี ณ ขณะนี้ ความรุนแรงของโรคไม่ต่างจากสายพันธุ์หลัก และวัคซีนเข็มกระตุ้นยังคงสามารถป้องกันอาการป่วยหนักและรุนแรงได้
ทั้งนี้ ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ตรวจแยกสายพันธ์ุย่อยของโอมิครอน ระหว่างวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อแยกสายพันธ์ BA.1 และ BA.2 จากจำนวน 567 ตัวอย่าง พบเป็น BA.1 จำนวน 462 ราย (81.5%) และ BA.2 105 ราย (18.5%)
นพ.ศุภกิจกล่าวต่อไปว่า โดยสรุปการระบาดของสายพันธุ์โอมิครอนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในหลายประเทศทั่วโลก ทำให้มีโอกาสการกลายพันธุ์ได้มาก ทั้งการเกิดสายพันธุ์ย่อยในตัวโอมิครอนเอง รวมไปถึงการเกิดสายพันธุ์ใหม่ และการเฝ้าระวังสายพันธุ์ย่อยของโอมิครอนคือ BA.2 ด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว (WTS) พบว่าประมาณ 2% จากผู้ป่วยโอมิครอนทั้งหมด ซึ่งจะได้ทำการเฝ้าระวังต่อไป อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเท่าที่มียังบ่งชี้ว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นยังช่วยป้องกันสายพันธุ์ BA.2 และลดอาการป่วยหนักและเสียชีวิตได้