×

คุยกับ ‘ที่ปรึกษาฮุนเซน’ ปมเยือนเมียนมา สัมพันธ์ทักษิณถึงประยุทธ์ และคนรุ่นใหม่กัมพูชา

14.02.2022
  • LOADING...
Sok Sokrethya

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • THE STANDARD ได้รับเกียรติพูดคุยกับ ดร.ซก กรัดทะยา (H.E. Dr.Sok Sokrethya) ที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ที่ได้เดินทางเข้าพบผู้นำทางการเมืองทุกฟากฝ่าย
  • การเดินสายสานสัมพันธ์ในช่วงปีที่ผ่านมาของ ดร.ซก จึงเป็นย่างก้าวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อปีนี้ คือปีที่นายกฯ ฮุนเซน สวมหมวกเป็นประธานอาเซียนอีกตำแหน่งหนึ่ง ประเทศไทยจะมีบทบาทต่ออาเซียนภายใต้การนำของประธานอาเซียนที่ชื่อ ‘ฮุนเซน’ อย่างไร 

THE STANDARD ได้รับเกียรติพูดคุยกับ ดร.ซก กรัดทะยา (H.E. Dr.Sok Sokrethya) ที่ปรึกษาส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาและรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ที่ได้เดินทางเข้าพบผู้นำทางการเมืองทุกฟากฝ่าย ตั้งแต่ สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ขณะเป็นผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพูดคุยหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเกี่ยวกับการตรวจสอบและควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล  

 

สำหรับฟากฝั่งรัฐบาล ได้เข้าพบรัฐมนตรีหลายกระทรวง ทั้ง ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อหารือแนวทางสร้างความร่วมมือระหว่างทั้งสองประเทศในด้านดิจิทัล เช่น การส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กับ Cambodia Post เพื่อขายสินค้าท้องถิ่น, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่ได้หารือกันเรื่องการเร่งดำเนินการเปิดด่านหนองเอี่ยน จังหวัดสระแก้ว ที่จะเป็นประโยชน์ทางการค้าอย่างมาก, สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประเด็นความร่วมมือการดูแลแรงงานกัมพูชาในไทยและการส่งเสริมให้มีการจ้างแรงงาน, ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้เข้าหารือในประเด็นแลกเปลี่ยนความร่วมมือด้านการศึกษาระหว่าง 2 ประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอาชีวศึกษา ซึ่งที่ผ่านมามีโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชาด้านการศึกษา ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงพระราชทานเงินเพื่อก่อสร้างวิทยาลัยกำปงเฌอเตียล ที่จังหวัดกำปงธม (Kampong Thom), พิพัฒน์​ รัช​กิจ​ประการ​ รัฐมนตรี​ว่าการ​กระทรวง​การ​ท่องเที่ยว​และ​กีฬา ที่ได้ให้เข้าหารือด้านการพัฒนาความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ การขอให้ไทยสนับสนุนด้านการปฏิรูปด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชา เช่น การร่วมลงทุนทางการท่องเที่ยว และส่งเสริมการศึกษาด้านการท่องเที่ยวให้แก่บุคลากรด้านการท่องเที่ยวของกัมพูชา

 

กระทั่งในวงการอื่นๆ นอกไปจากแวดวงการเมือง ดร.ซก กรัดทะยา ก็ได้เข้าพบ มาดามแป้ง-นวลพรรณ ล่ำซำ ผู้จัดการทีมฟุตบอลทีมชาติไทยชุดใหญ่ และรุ่นอายุไม่เกิน 23 ปี ในการหารือและขอคำแนะนำในประเด็นการก่อตั้งทีมฟุตบอลหญิงทีมชาติกัมพูชา

 

การเดินสายสานสัมพันธ์ในช่วงปีที่ผ่านมาจึงเป็นย่างก้าวที่น่าสนใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเมื่อปีนี้ คือปีที่ นายกฯ ฮุนเซน สวมหมวกเป็นประธานอาเซียนอีกตำแหน่งหนึ่ง ประเทศไทยจะมีบทบาทต่ออาเซียนภายใต้การนำของประธานอาเซียนที่ชื่อ ฮุนเซน อย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบรรยากาศที่ประเด็นใหญ่ของอาเซียนนอกจากวิกฤตโควิด ยังมีเรื่องละเอียดอ่อนอย่างเรื่องท่าทีต่อการเมืองในพม่าอีกด้วย

 

Sok Sokrethya

 

การเดินทางข้ามาเมืองไทยครั้งนี้ กินเวลาหลายสัปดาห์ มาเพื่อเหตุใด

เป็นผู้แทนนายกฯ ฮุนเซน มาเชื่อมสัมพันธ์กับรัฐบาลไทย นักการเมือง ผู้นำไทยหลายๆ คน แล้วก็มีการร่วมมือที่ดี โดยส่วนใหญ่เน้นเรื่องการค้า การท่องเที่ยว และแนะนำประเทศว่ากัมพูชาตอนนี้มีการเปลี่ยนแปลง คนรุ่นใหม่เข้ามามีบทบาททางการเมืองในกัมพูชา 

 

ในกัมพูชา ฮุนเซนอยู่มานาน เห็นความเปลี่ยนแปลงประเทศมาเยอะ มองเห็นตัวตนนายกฯ ฮุนเซน แบบไหนที่เชื่อมกับคนรุ่นใหม่

ตอนนี้เป็นนายกฯ มา 37 ปี แล้ว 37 ปีที่ท่านอยู่ในอำนาจและได้ช่วยกัมพูชาให้มีสันติภาพ สงบสุข และเจริญเติบโต สำหรับคนกัมพูชานับถือท่านฮุนเซนเป็นคุนปู่ เป็นพ่อ และเป็นนักการเมืองที่ไม่เคยทิ้งชาวกัมพูชาไปไหน ลำบากก็ลำบากด้วยกัน มีกินก็กินด้วยกัน เป็นคนที่มีจริยธรรมพอ เป็นผู้อาวุโสทำงานการเมือง ช่วงโควิดแม้กัมพูชาไม่ใช่ประเทศร่ำรวย แต่ประเทศเล็กๆ ในอาเซียนมีปัญหาโควิด ท่านก็ช่วยเหลือทั้ง สปป.ลาว ทั้งเวียดนาม นี่คือการช่วยเหลือในฐานะเป็นประเทศในอาเซียนด้วยกัน และเป็นเหมือนญาติพี่น้อง 

 

Sok Sokrethya

 

กัมพูชาก็เจอโควิดและเจอปัญหาเศรษฐกิจมากอยู่เช่นกัน การดำเนินนโยบายของกัมพูชาได้ทำอะไรไปบ้าง

เราได้ดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากโควิดผ่านการให้สวัสดิการ แจกถุงยังชีพ มีเงินสวัสดิการให้ชาวกัมพูชาที่ได้รับผลกระทบจากโควิดทุกๆ คน ซึ่งตอนนี้เรื่องโควิดไม่ใช่ปัญหาสำหรับเราแล้ว เรากำลังกระตุ้นฉีดวัคซีนรอบที่ 4 แล้ว และเศรษฐกิจของกัมพูชาก็ยังประคองได้ เดินหน้าได้

 

ความร่วมมือที่มาคุยในวันนี้กับประเทศไทย จะมีอะไรที่ไทยและกัมพูชาจะเดินร่วมกันต่อได้

กัมพูชากับไทย ที่จริงแล้วมีสัมพันธ์มายาวนาน แลกเปลี่ยนการค้าเยอะพอสมควร ช่วงโควิดไม่ได้มีการปิดการค้าระหว่างไทยกับกัมพูชาโดยโตถึง 16-20 เปอร์เซ็นต์ ผมพูดได้เลยว่าผู้บริโภคกัมพูชาชอบสินค้าไทย และแม้มีปัญหาหลายเรื่อง ผมก็ได้พูดคุยกับท่านจุรินทร์ รมว.พาณิชย์ ถึงปัญหาต่างๆ เพื่อแก้ไข เช่นเรื่องสินค้าหน้าด่าน การเปิดด่านที่ยังเปิดใหม่ไม่ได้ ท่านจุรินทร์ก็จะได้ช่วยประสานให้ดำเนินการต่อได้ โดยเรื่องการค้าชายแดน ผมพูดมาตลอดว่ายังสามารถทำให้โตขึ้นอีกได้ อย่างสินค้า SMEs ไทย เครื่องสำอาง วัสดุก่อสร้าง ยังจำเป็นอยู่มากที่ต้องพึ่งพาจากไทย 

 

แล้วเรื่องที่ไทยต้องการแรงงานจากกัมพูชา มีการสนับสนุนอย่างไรบ้าง

เราได้พูดคุยกับ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ถึงความพร้อมของเรา เราสามารถส่งแรงงานกลับมาทำงานในประเทศไทย และเป็นคนงานที่ปลอดภัย ฉีดวัคซีนแล้วอย่างน้อย 2 เข็ม หรือกระทั่งช่วงที่โควิดระบาดหนัก สุชาติก็ไม่อยากให้คนงานกลับกัมพูชา เขาก็สนับสนุนช่วยจัดหาวัคซีนให้ในประเทศไทยได้เร็วขึ้น ก็แก้ปัญหาได้ดีขึ้น ผมก็ได้รายงานไปยังนายกฯ ฮุนเซน และทางกระทรวงแรงงานไทยก็จะเปิดโควตาให้แรงงานกัมพูชามาทำงานในประเทศไทยเพิ่มขึ้น และจะสนับสนุนให้แรงงานกัมพูชาที่เข้ามาทำงานอย่างผิดกฎหมายได้ขึ้นทะเบียนและทำงานอย่างถูกกฎหมายมากขึ้น 

 

Sok Sokrethya

 

แสดงว่ากัมพูชาก็มีการดำเนินนโยบายการต่างประเทศกับทุกประเทศไม่ใช่แค่ไทย

ที่จริงไทยกับกัมพูชามีความร่วมมือดีกว่าประเทศอื่นๆ มาก่อนอยู่แล้ว กัมพูชาขอบคุณรัฐบาลไทยมาตลอดที่ได้ร่วมมือกับกัมพูชาด้วยดีทุกด้าน จริงๆ ไม่เคยมีปัญหา แต่ที่ผมมารอบนี้ เพราะว่าตอนนี้การเมืองกัมพูชามีคนรุ่นใหม่เข้าไปมีบทบาทมากขึ้นรวมถึงบุตรชายท่านฮุนเซนด้วย เราจึงมาเพื่อแนะนำตัว และพูดคุยกับนักการเมืองไทย ผู้นำไทย เพื่อให้ทราบว่า นักการเมืองรุ่นใหม่ของกัมพูชาก็รับรู้ถึงความสัมพันธ์ ความเป็นมา ระหว่างกัมพูชากับไทย ว่าเป็นมาอย่างไร แล้วเราจะช่วยเหลือกันอย่างไร และทางเราก็ขอบคุณรัฐบาลไทยมาตลอดที่ได้ช่วยกัมพูชา โดยเฉพาะทางด้านการพัฒนาบุคลากร ซึ่งเรายังด้อยเรื่องนี้ โดยไทยก็ยังมีทุนการศึกษาด้านท่องเที่ยว การเกษตร ไอที เยอะมาก โดยเฉพาะทุนการศึกษาของสมเด็จพระเทพฯ ที่ให้ชาวกัมพูชาเข้ามาเรียนระดับปริญญาโทในประเทศไทย โดยตอนนี้คนที่จบการศึกษาจากเมืองไทยก็กลับมาประเทศกัมพูชากว่าพันคน มีบทบาทในหลายภาคส่วน ในกระทรวงต่างๆ และปัจจุบันก็ยังมีผู้ได้รับทุนการศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ที่ประเทศไทยอีก 800 กว่าคน นอกจากนี้พระองค์ยังได้สร้างโรงเรียนฝึกอาชีพอีก

 

นอกจากความสัมพันธ์กับรัฐบาลไทยในยุค พล.อ. ประยุทธ์ นายกฯ ฮุนเซนก็ใกล้ชิด เป็นเพื่อนกับทักษิณ วันนี้ความสัมพันธ์ ความไว้วางใจกันกับรัฐบาลไทย ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง

 

รัฐบาลฮุนเซน นโยบายตรงไปตรงมากับทุกรัฐบาลอยู่แล้ว เราไม่ได้พูดเรื่องความสัมพันธ์ของท่านแบบส่วนตัว สำหรับรัฐบาล คือการเปิดใจตรงไปตรงมา ทั้งรัฐบาลคุณทักษิณ รัฐบาลคุณประยุทธ์ ถือว่าเป็นรัฐบาลของประเทศไทย ฉะนั้นความสัมพันธ์ต้องเหมือนกัน

 

ผมมองอย่างนั้น ไม่ได้มีเรื่องส่วนตัวเข้ามาเกี่ยว ดังนั้นตรงนี้ผมก็เข้ามาเชื่อมสัมพันธ์ ไม่อยากให้ระแวงต่อกัน ท่านฮุนเซนเป็นมิตรอยู่แล้ว และนโยบายต่างประเทศ ท่านฮุนเซนก็เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ ท่านรู้ว่าจะต้องเดินอย่างไร ท่านอยากให้ประเทศอาเซียนสงบสุข พึ่งพากัน ไม่ทะเลาะเบาะแว้งกัน 

 

Sok Sokrethya

 

จากที่ได้มาเชื่อมสัมพันธ์ ผลตอบรับเป็นอย่างไรบ้าง 

จริงๆ แล้ว ผู้อาวุโส นักการเมือง ผู้นำไทย ให้การต้อนรับผมอย่างดี รู้สึกมีเกียรติ ผมขอขอบคุณทุกคนที่ให้โอกาส เปิดโอกาสให้ผมได้เข้าพบหารือ และปัญหาประเด็นต่างๆ ที่ผมเสนอไปก็ได้รับการพิจารณาแก้ไขให้ทันทีโดยตลอด ตรงนี้จุดประสงค์ของผมก็คืออยากพบปะกับท่านนายกฯ ถ้ามีโอกาส และก็เหลือรัฐมนตรีอีกไม่กี่คนที่เรายังไม่มีโอกาสพูดคุย 

 

คือคนรุ่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาททางการเมืองตอนนี้ของกัมพูชาส่วนใหญ่ก็จบจากต่างประเทศ และก็อยากเอาไอเดียใหม่ๆ มาใช้กับประเทศ ด้วยความอยากเห็นประเทศเจริญรุ่งเรือง ไม่อยากให้มีการฆ่าล้างกัน อาเซียนมีความเจริญ ซึ่งก็เป็นความตั้งใจของท่านนายกฯ ฮุนเซนด้วย ดังที่ท่านเดินทางไปเมียนมา ก็เป็นความตั้งใจที่ท่านอยากให้อาเซียนเป็นหนึ่งเดียว แล้วจากประสบการณ์ของท่านที่เคยเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศและเป็นนายกรัฐมนตรีมา 37 ปี ผมว่าท่านทำได้ กัมพูชาสงบสุขมาได้เพราะมีท่าน อยากบอกว่าถ้าเราอยากช่วยประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือถ้าเราอยากให้ประเทศใดมีสันติภาพ เราต้องเริ่มจากการพูดคุยกับรัฐบาลที่ครองประเทศและมีอำนาจตัดสินใจมากกว่ากลุ่มอื่น 

 

ก็เหมือนกัมพูชาสมัยก่อนเจ้าสีหนุ ถ้าไม่พูดคุยกับท่านฮุนเซน กับท่านเฮง สัมริน คงไม่มีวันนี้ ถ้าเจ้าสีหนุไปพูดกับเขมรแดง พูดไปแล้วได้อะไร พูดกับกลุ่มอื่นที่ต่อสู้อยู่ในป่าก็ไม่ได้อะไร เขาก็ต้องพูดกับรัฐบาลที่ครองประเทศ 80 เปอร์เซ็นต์ สมัยนั้น แล้วสมัยนั้นรัฐบาลท่านฮุนเซน ท่านเฮง สัมริน ตอนนั้นไม่มีเก้าอี้ในสหประชาชาติ ไม่มีใครสนใจกัมพูชาเลยตอนนั้น ขนาดเขมรแดงฆ่าล้างชาวกัมพูชาไปถึง 3 ล้านคน เขาก็มีเก้าอี้อยู่ในสหประชาชาติ รัฐบาลท่านฮุนเซน ท่านเฮง สัมริน ไม่มีบทบาทในสหประชาชาติเลย แต่ทำไมเจ้าสีหนุพูดคุยกับท่านฮุนเซน กับรัฐบาลของเฮง สัมริน เพราะเขาเห็นว่าถ้าไม่พูดคุยกับรัฐบาลที่ครองอำนาจก็จะหาสันติภาพไม่เจอ

 

อย่างกรณีเมียนมา ถ้าท่านฮุนเซนพูดกับชนกลุ่มน้อยได้อะไร เพราะอำนาจทางการเมืองอยู่กับรัฐบาล ถึงแม้ว่านานาชาติไม่ยอมรับรัฐบาลแต่ถือว่ามีอำนาจอยู่ในประเทศ

 

Sok Sokrethya

 

สิ่งที่ท่านฮุนเซนพูดกับผม คือเราสามารถไกล่เกลี่ยให้หยุดยิงได้ แต่เราไม่สนับสนุนอาวุธให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง การขายอาวุธให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเป็นชนวน เป็นข้ออ้างให้รัฐบาลสู้รบกับกลุ่มนั้นๆ และให้ชนกลุ่มน้อย ก็ให้ใจเย็น อดทนอดกลั้น สัญญาว่าจะพยายามให้มีข้อตกลงหยุดยิงให้ได้ โดยการเดินทางไปเมียนมารอบนี้ก็เป็นการพยายามมุ่งให้เกิดการดำเนินการตามฉันทามติ 5 ข้อ คือ

 

  1. ต้องมีการยุติความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมียนมาทันที โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะต้องใช้ความอดทนอดกลั้นอย่างที่สุด

 

  1. ต้องมีการหารือที่สร้างสรรค์ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเกิดขึ้น เพื่อหาทางออกโดยสันติวิธีเพื่อผลประโยชน์ของประชาชน

 

  1. ผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนจะทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ในการเป็นสื่อกลางของกระบวนการหารือภายใต้การช่วยเหลือของเลขาธิการอาเซียน

 

  1. อาเซียนจะให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมผ่านศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน (AHA Center)

 

  1. ผู้แทนพิเศษรวมถึงคณะผู้แทนจะเดินทางเยือนเมียนมาเพื่อพบกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

 

ซึ่งฉันทามติ 5 ข้อนี้ เป็นเรื่องที่กัมพูชาในฐานะที่เป็นประธานอาเซียนต้องนำไปทำให้เป็นรูปธรรมต่อให้ได้

 

Sok Sokrethya

 

แต่ก็มีอีกเสียงสะท้อนที่ค้านว่าการไปเมียนมาจะเป็นการไปรับรองความชอบธรรมให้รัฐบาล มิน อ่อง หล่าย ซึ่งเหมือนว่ากระทั่งรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศ มาเลเซีย ก็ออกมาแสดงท่าทีด้วย 

คือจริงๆ เราก็มีความกังวล แต่ผมคิดว่า NGO หรือว่ารัฐบาลอาเซียนชาติที่เห็นต่าง สุดท้ายคงเข้าใจจุดประสงค์ที่ตรงไปตรงมา ไม่มีแอบแฝง ของท่านฮุนเซน ที่อยากเห็นอาเซียนเป็นปึกแผ่น แม้ว่าการเยือนครั้งนี้จะเกิดภาพที่กลุ่มผู้ประท้วงออกมาชุมนุมต่อต้าน มีกลุ่มผู้ประท้วงจุดไฟเผารูปของนายกฯ ฮุนเซนก็ตาม ซึ่งท่านนายกฯ ฮุนเซนก็ยังมีความหวังว่าวันหนึ่งคนเหล่านั้นจะเข้าใจถึงการเดินทางมาเจรจาเพื่อเดินหน้าให้เกิดรูปธรรมของฉันทามติ 5 ข้อที่มีขึ้นมา ซึ่งมีหลายประเทศให้การสนับสนุน

 

ส่วนตัวผมก็เห็นว่ารัฐบาลประเทศอาเซียนอื่นๆ ที่ไม่เห็นด้วยนั้น ด้านหนึ่งอาจเพราะไม่เคยมีประสบการณ์หรืออยู่ในอำนาจในประเทศยาวนานอย่างท่านฮุนเซน

 

นอกจากนี้ผมอยากบอกว่า แม้ภาพที่เราเห็นการเปิดโต๊ะเจรจาระหว่างท่านฮุนเซนกับรัฐบาลเมียนมาอาจออกมาดูไม่ดี แต่ผมว่าท่านฮุนเซนก็พูดมาตลอดว่าการเจรจาบนโต๊ะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ แต่การเจรจาในทางหลังฉากจะประสบความสำเร็จ ซึ่งผมก็อยากให้ประเทศในอาเซียนติดตามผลเรื่องนี้ ช่วงที่กัมพูชาเป็นประธานอาเซียน ผมคิดว่าท่านฮุนเซนจะแสดงให้ทุกคนเห็นว่าท่านสามารถคลี่คลายปัญหาของเมียนมาได้โดยไม่ต้องมีประเทศมหาอำนาจเข้ามายุ่งเกี่ยว 

 

ผมมั่นใจว่า ท่านฮุนเซนมีประสบการณ์เจรจามากกว่าผู้นำประเทศอื่นทั้งในอาเซียนและนอกอาเซียน

 

Sok Sokrethya

 

คิดว่า จุดแข็ง จุดอ่อน ของนายกฯ ฮุนเซน จากการครองอำนาจมา 37 ปี คืออะไร 

ความประนีประนอม เป็นจุดแข็งของท่าน ทั้งในพรรค นอกพรรค ในรัฐบาลของท่าน หรือกับพรรคฝ่ายค้าน ก็มีการพูดคุยประนีประนอม อย่างช่วงเลือกตั้งล่าสุด พรรคเล็กไม่ได้ที่นั่งในสภาเลย แต่ท่านก็อยากให้พรรคเล็กได้มีบทบาทเข้ามาชี้แนะรัฐบาล ท่านก็ตั้งเป็นหน่วยงานหนึ่งขึ้นมา ให้พรรคเล็กเข้าไปอยู่ในหน่วยงานนั้น มีหน้าที่ดูการทำงานของรัฐบาล แล้วสามารถทำเรื่องชี้แนะรัฐบาลได้ ซึ่งก็ทำงานด้วยดี มีกว่า 20 พรรคเล็กอยู่ในนั้น ในสายตาต่างประเทศอาจมองว่าท่านฮุนเซนแข็ง แต่ความเป็นจริง ท่านแข็งกับต่างประเทศ ไม่ยอมให้ต่างชาติมาทำลายกัมพูชา ที่กัมพูชามีสงครามภายใน ไม่ใช่คนกัมพูชาเป็นคนทำ แต่คือต่างชาติมาทำลายกัมพูชา ตอนนี้ก็เห็นอยู่ว่ากัมพูชาเดินหน้าได้ สงบสุขได้ นักท่องเที่ยวไปได้ทุกที่ในกัมพูชา ในป่าก็ไปได้ 

 

แล้วในส่วนของคนรุ่นใหม่ของกัมพูชา ตอนนี้เขาสนใจ เขาคิด เรื่องอะไร 

ความจริงแล้วคนรุ่นใหม่ที่โตมา เขาเห็นกัมพูชามีสันติภาพ เห็นกัมพูชามีผู้นำที่รักชาติ ที่แข็งแรง เขาไม่ได้ไปสนใจเรื่องการเมืองมาก แต่สนใจการทำให้ชาวโลกรู้จักกัมพูชา ถ้าพูดถึงเรื่องความเจริญและเทรนด์ใหม่ๆ ของโลก กัมพูชา ก็มีเรื่องบล็อกเชน ฟินเทค AI ก็มีความก้าวหน้า รัฐบาลกัมพูชาตอนนี้ก็กำลังทำเรื่อง Big Data และกำลังศึกษา e-Government

 

การเติบโตของกัมพูชาตอนนี้ก็เรียกได้ว่าไวเกิน จนเราขาดบุคลากรที่ตามทัน ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และตามหน่วยงานของรัฐ ก็จะมีการฝึกฝนทักษะบุคลากรด้านดิจิทัล ในด้านกฎหมายเราก็ยังไม่มีกฎหมายมากำกับดูแลกิจการด้านดิจิทัล บล็อกเชนต่าง ๆ ซึ่งเราก็ได้มาพูดคุยกับบิทคับ เพื่อศึกษาแนวทางกฎเกณฑ์ด้วย โดยเราคงต้องทำให้ชัดเจน ให้เกิดการยอมรับจากคนรุ่นใหม่ 

 

Sok Sokrethya

 

คนทั้งโลกจะแสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจ การลงทุน ในกัมพูชา ได้อย่างไร

ที่ผ่านมาไม่นานนี้ กฎหมายการลงทุนของกัมพูชาได้ปรับปรุง มีการคุ้มครองนักลงทุนต่างชาติ มีการเปิดศูนย์ประสานการลงทุนระหว่างไทยกับกัมพูชาอีกด้วย สำหรับการลงทุนที่แนะนำ อยากแนะนำด้านสินค้า SMEs ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดที่โตทุกปี ซึ่งยังโตได้อีก และการท่องเที่ยวก็ยังเป็นการลงทุนที่น่าสนใจ เพราะกัมพูชามีบุคลากรด้านการท่องเที่ยวจำกัด ประเทศไทยมีบุคลากรที่เชี่ยวชาญ มีทรัพยากรที่พร้อมไปลงทุนได้ 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising