จากกรณีที่มีข่าวอื้อฉาวกรณีพระสงฆ์ซุกสีกาที่กำลังเกิดขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผู้คนกำลังให้ความสนใจและเป็นที่ฮือฮาอย่างยิ่งในโลกออนไลน์ โดยเฉพาะวิธีการรักษาอาการปวดหัวของหลวงพ่อ ด้วยการใช้ยางรัดผมของผู้หญิงรัดหัวตัวเองโชว์ อย่างไรก็ตามหลวงพ่อก็ถูกจับสึกไป เพราะสุดท้ายก็พบว่ามีสีกาซุกซ่อนภายในกุฏิ
บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้จะกล่าวถึงกรณีอื้อฉาวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่อยากจะพาทุกท่านย้อนกลับไปสู่เรื่องราวอื้อฉาวกรณีพระรูปงามนามไพเราะ อดีต ‘พระยันตระ’ ที่ถูกจับสึกด้วยข้อกล่าวหาเดียวกันในปี 2537 ต้องถือว่ากรณีจับสึกพระยันตระเป็นเหตุการณ์สำคัญของยุคสมัยเลยก็ว่าได้
จริงๆ แล้วผู้เขียนได้เขียนเรื่องราวบางส่วนเกี่ยวกับการเติบโตขึ้นมามีชื่อเสียงของพระยันตระไว้แล้วในบทความเรื่อง ‘ปรากฏการณ์ ‘ยันตระ’ ว่าด้วยการเติบโตและร่วงโรยของอดีตพระผู้โด่งดังแห่งยุค: ภาคแรก’
ภาพ: ธัญลักษณ์ วรรณโคตร ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ข่าวสด
บมความก่อนหน้าผู้เขียนได้เล่าถึงที่มาที่ไปของการก้าวขึ้นมามีชื่อเสียงโด่งดังของพระยันตระ โดยมองทั้งปัจจัยทางสังคมและการเมือง รวมถึงมองในแง่มุมความเชื่อทางพุทธศาสนาของชาวพุทธไทย อันเป็นเหตุและปัจจัยสำคัญที่เป็นแรงผลักดันให้พระสงฆ์รูปหนึ่งขึ้นมามีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพบูชาของผู้คนจำนวนมากได้
ดังนั้นในบทความนี้ซึ่งพบดิบพอดีกับเรื่องอื้อฉาวของพระสงฆ์ซุกสีกาที่กำลังเกิดขึ้น ผู้เขียนเลยอยากจะกลับมาเล่าต่อให้จบว่า นอกจากความรุ่งเรืองของพระยันตระแล้ว อะไรเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พระยันตระถึง ‘การร่วงโรย’ ได้อย่างรวดเร็ว จนต้องหนีออกมานุ่งห่มครองตนเป็นนักพรตชุดเขียวและใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศนานหลายสิบปี
จากรุ่ง สู่ร่วง ของยันตระ
ความร่วงโรยของพระยันตระเกิดขึ้นหลังจากที่มีชื่อเสียงโด่งดังเป็นที่รู้จักของคนจำนวนมาก ในฐานะพระที่ปฏิบัติเคร่งครัด มีน้ำเสียงที่ไพเราะในการเทศนา มีชื่อเสียงในฐานะ ‘พระที่ดี’ ตามอุดมคติที่ชาวพุทธไทยและรัฐไทยคาดหวังและต้องการเป็นอย่างยิ่ง
แต่แล้วในปี 2537 พระยันตระกลับถูกฟ้องหลายข้อหา และถูกต้องอธิกรณ์ว่าล่วงละเมิดเมถุนธรรมปาราชิก ซึ่งเป็นหนึ่งในปาราชิก 4 ที่ทำให้ต้องขาดจากความเป็นพระสงฆ์ตามพระวินัย โดยมีกลุ่มสีกากลุ่มหนึ่งยื่นหนังสือร้องเรียนไปถึงสมเด็จพระสังฆราช (ในขณะนั้น) และอธิบดีกรมการศาสนา กล่าวหาว่ามีพฤติกรรมไม่สำรวมและไม่เหมาะสมต่อสุภาพสตรี มีหญิงสาวร้องเรียนว่าถูกอดีตพระยันตระล่อลวงเสพเมถุน ไม่เพียงเท่านั้น ยังกล่าวหาว่ามีเพศสัมพันธ์กับสตรีบนดาดฟ้าเรือเดินสมุทรระหว่างทางจากประเทศสวีเดนไปยังประเทศฟินแลนด์ ร่วมหลับนอนกับสตรี เป็นต้น อีกทั้งยังมีการเปิดเผยสลิปบัตรเครดิตที่มีโยมอุปัฏฐากบริจาคให้พระยันตระใช้นั้น ถูกนำไปใช้ในสถานบริการทางเพศในประเทศออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ รวมทั้งหลักฐานการเปิดโรงแรมและเช่ารถกับสตรีเพียงสองต่อสอง
ในช่วงแรกปรากฏว่าคนในสังคมยังไม่ค่อยเชื่อนักกับข้อกล่าวหาที่เกิดขึ้น จนมีการขุดคุ้ยอย่างจริงจัง ปรากฏหลักฐานต่างๆ ออกมาเรื่อยๆ ยิ่งกว่านั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งได้มาแสดงหลักฐานเป็นภาพถ่ายการใช้ชีวิตเยี่ยงสามี-ภรรยากับพระยันตระ และได้นำเด็กหญิงคนหนึ่งมาอ้างว่าเป็นบุตรสาวของอดีตพระยันตระมาแสดงตัวต่อสื่อ พร้อมทั้งท้าให้ตรวจดีเอ็นเอ จากกรณีดังกล่าวทำให้มหาเถรสมาคมมีมติให้พระยันตระพ้นจากความเป็นพระภิกษุ
อย่างไรก็ตามพระยันตระกลับไม่ยอมรับมติสงฆ์ พร้อมปฏิญาณตนว่ายังเป็นพระภิกษุก่อนเปลี่ยนไปนุ่งห่มจีวรสีเขียว จนทำให้ได้รับการขนานนามว่า ‘จิ้งเขียว’ ‘สมียันดะ’ และหนีออกออกประเทศ เป็นผู้ต้องหาในคดีก้าวล่วงสมเด็จพระสังฆราช ต้องหนีไปอาศัยอยู่ที่สหรัฐอเมริกากว่า 20 ปีจนหมดอายุความและกลับเข้ามาประเทศในช่วงไม่นานมานี้
ว่าด้วยแผนนารีพิฆาต
อย่างไรก็ตามเรื่องที่น่าสนใจมากไปกว่าเรื่องที่พระยันตระถูกจับและมีมติให้พ้นจากความเป็นพระ คือ เรื่องของการต่อสู้เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการกระทำของพระยันตระ โดยกลุ่มลูกศิษย์หรือผู้ที่ศรัทธาต่อพระยันตระนั้นกล่าวว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับพระยันตระนั้นเป็นแผนปฏิบัติการของฝ่ายที่จ้องจะทำลายพระพุทธศาสนา โดยเหล่าลูกศิษย์เรียกแผนเหล่านี้ว่า ‘แผนนารีพิฆาต’
แผนนารีพิฆาตเป็นที่รับรู้และกล่าวถึงกันอย่างมากในช่วงทศวรรษ 2530 อันเนื่องจากเชื่อกันว่ามีความพยายามของฝ่ายคอมมิวนิสต์หรือฝ่ายคนนอกศาสนาที่มีแผนบงการจะบ่อนทำลายความศรัทธาของผู้คนในสังคมต่อพระพุทธศาสนา โดยการใช้ผู้หญิงเข้ามาพัวพันกับพระสงฆ์ชื่อดัง โดยใช้ความเป็นหญิงเพื่อหลอกล่อให้พระสงฆ์รูปนั้นๆ เผลอในทางกามารมณ์ หรือให้เข้าใจง่ายๆ คือ เอาความเป็นหญิงมาล่อผู้ชายให้ใจแตก
โดยระบุกันว่าแผนการนี้จะเน้นทำลายความศรัทธาชาวพุทธไทย โดยเน้นภารกิจไปที่พระเกจิอาจารย์ที่เป็นที่เคารพนับถือ โดยการใช้ผู้หญิงเข้าไปมีปฏิสัมพันธ์จนนำไปสู่การเกิดอาบัติปาราชิก หรือกลั่นแกล้งให้เสียหายทั้งในเรื่องสตรีและสตางค์ และมองว่าการที่พระเกจิอาจารย์จำนวนมากในช่วงทศวรรษเดียวกันนั้นที่เกิดเรื่องอื้อฉาวจนถูกขับออกจากการเป็นสงฆ์ ก็ถูกบงการโดยแผนนารีพิฆาตนี้ เช่น กรณีสมีเจี๊ยบ ปี 2532, กรณีพระนิกร ปี 2534 กรณีพระยันตระ ปี 2537, กรณีพระภาวนาพุทโธ ปี 2538 เป็นต้น
อย่างไรก็ตามการกล่าวอ้างถึง ‘แผนนารีพิฆาต’ ซึ่งไม่แน่ใจว่ามีจริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงข้ออ้างเท่านั้น แต่ในมุมมองของผู้เขียนกลับมองว่าการกล่าวอ้างเพียงแค่นี้ ข้ออ้างนี้อาจจะเป็นการมองในมุมสังคมชายเป็นไทยมากเกิดไป พูดง่ายๆ คือ เป็นการโยนบาปให้ฝ่ายผู้หญิง
เช่นเดียวกับกรณีที่หลายคนมักจะโยนความผิดกรณีข่มขืนผู้หญิงว่าเกิดขึ้นเพราะผู้หญิงนุ่งน้อยห่มน้อย ทั้งที่ความผิดควรถูกพิจารณาอย่างเท่าเทียม
แต่ด้วยโลกทัศน์ในสังคมชายเป็นใหญ่ จึงทำให้จุดกำเนิดเหตุแห่งความผิดเกิดขึ้นจากผู้หญิง
ดังนั้นทั้งหมดนี้คือจุดร่วงโรยที่ไม่ใช่จุดจบของกรณีพระยันตระ เพราะชุดความคิดแบบชายเป็นใหญ่ การมองความผิดพลาดของพระสงฆ์เป็นแผนนารีพิฆาต จึงอาจจะกล่าวได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่แม้พระยันตระจะถูกดำเนินคดีหรือหลุดจากความเป็นสงฆ์ ถึงยุคร่วงโรยแล้วก็ตาม แต่ก็ยังคงมีผู้คนจำนวนมากที่พร้อมจะเคารพนับถือและพร้อมจะกราบไหว้บูชาอยู่จนถึงปัจจุบัน
กล่าวโดยสรุป ความร่วงโรยของพระยันตระที่อ้างกันว่าเกิดขึ้นจาก ‘แผนนารีพิฆาต’ ส่วนหนึ่งถือเป็นวิธีคิดแบบสังคมชายเป็นใหญ่ และมองว่าพุทธศาสนาเป็นโลกของความเป็นชาย
การกล่าวอ้างพฤติกรรมอันฉาวโฉ่ของพระสงฆ์ เป็นเพียงการตอกย้ำว่าผู้หญิงคือผู้บ่อนทำลายพุทธศาสนา แต่หากหันกลับมามองเหตุการณ์อื้อฉาวที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน สิ่งสำคัญที่เรามักจะพบเห็น คือ เหตุไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะผู้หญิง
ดังนั้นแม้เราจะ ‘ปวดหัว’ แค่ไหน เราก็อ้างได้ตลอดว่า ‘ยางรัดผม’ เป็นวิธีการรักษาอาการปวดหัว
ภาพ: เฟซบุ๊ก ยันตระ แห่งสุญญตาราม
อ้างอิง:
- ภิญญาพันธุ์ พจนะลาวัณย์, ไทยปิฎก ประวัติศาสตร์การเมืองสังคมร่วมสมัยของพุทธศาสนา, Illuminations Editions: กรุงเทพฯ, 2562.
- สรุปให้ ย้อนรอย ‘อดีตพระยันตระ’ จากพระชื่อดัง ถูกแฉ ล่วงละเมิดสีกา. Spring News. https://www.springnews.co.th/feature/817378