สวยงาม อิ่มเอมหัวใจ และมอบมุมมองใหม่ให้กับผู้ชม นี่คือนิยามสั้นๆ ที่ผู้เขียนขอยกให้กับความดีงามของละครเรื่อง ‘จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี’ ละครพีเรียดจาก Thai PBS ที่ว่าด้วยเรื่องราวของคนตัวเล็กๆ ที่แทบไม่ได้ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ นั่นคือคนไทยจากอโยธยาที่ถูกกวาดต้อนไปอยู่ที่อังวะ ประเทศพม่า ในช่วงเสียกรุงครั้งที่ 2 อย่างที่หนึ่งในตัวละครของเรื่องกล่าวเอาไว้ว่า “คนในอนาคตข้างหน้าเขาก็ไม่รู้ว่าพวกคุณอยู่ที่นี่เหมือนกัน”
จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ว่าด้วยเรื่องราวของนุชนาฏ (ตังตัง-นัฐรุจี วิศวนารถ) หญิงสาวจากจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เดินทางไปทำงานเป็นผู้ช่วยเชฟที่ย่างกุ้ง ทำให้เธอได้พบกับ ปกรณ์ (ก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล) เชฟหนุ่มเจ้าระเบียบแต่แฝงอารมณ์ละมุนเอาไว้ในท่าทีขึงขัง นุชนาฏมีอาการประหลาด คือ ทุกครั้งที่ร่ายรำ เธอจะหมดสติและเห็นภาพในอดีต ซึ่งเชื่อมโยงกับอาการเนื้องอกในสมองที่เธอเป็นอยู่ อาการนี้เริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ และทำให้เธอเห็นภาพในอดีตชัดเจนขึ้น เธอเข้าไปอยู่ในร่างของปิ่น สาวใช้ผู้ใฝ่ฝันจะเป็นนางรำในตำหนักของเจ้าหญิงจากอโยธยา ที่ถูกกวาดต้อนมาเมื่อครั้งเสียกรุงครั้งที่ 2 ที่อังวะ และได้พบกับหม่องสะ (เดาง์) กวีเอกของราชสำนักอังวะ ผู้ปลุกปั้นให้เธอเป็นนางรำในโรงละครหลวง นำมาสู่การถ่ายทอดบทประพันธ์และการการร่ายรำแบบอโยธยา รวมทั้งนำปัญหามาสู่ตัวปิ่นที่อาจจะต้องแลกด้วยชีวิต
ปกรณ์ (ก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล)
ภาพจาก ‘จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี’
เราอาจคุ้นเคยกับละครพีเรียดที่ว่าด้วยเรื่องของเจ้าขุนมูลนาย หรือพระมหากษัตริย์ที่มีปมประเด็นความขัดแย้งระหว่างไทยกับพม่าจนฝังภาพความเป็น ‘ศัตรู’ แต่ละครเรื่องนี้กลับพูดถึงชีวิตผู้คนตัวเล็กๆ ที่อยู่ร่วมกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ และเชื่อมโยงถึงกันผ่านศิลปะวัฒนธรรม แม้แต่การปฏิบัติของราชสำนักอังวะต่อเจ้าหญิงจากอโยธยาก็ดูเคารพให้เกียรติ ผู้เขียนชอบการวางคาแรกเตอร์ของ ‘ปิ่น’ คือ เป็นชนชั้นล่าง ท้องก่อนแต่ง ตรงนี้ค่อนข้างผิดแผกจากขนบนางเอกละครพีเรียดที่ผ่านมา แต่เอาเข้าจริงผู้หญิงชาวบ้านในยุคโบราณก็อาจอยู่กินก่อนแต่งงาน เรื่องความรักนวลสงวนตัวอาจเข้ามาในสยามก็ช่วงยุควิกตอเรียนี่เอง
ความโดดเด่นของจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี คือการเอาประเด็นประวัติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ บุญกรรม สิทธิสตรี และ LGBTQ ให้เข้ามาอยู่รวมกันได้อย่างลงตัว โดยเฉพาะข้อมูลทางประวัติศาสตร์ สมกับที่ แน็ต-ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับ เคยทำสารคดี โยเดีย ที่คิด(ไม่)ถึง ทำให้เราเห็นภาพชีวิตผู้คนชาวโยเดียหรือโยดะยา (คำเรียกคนภาคกลาง ภาคใต้ และอาณาจักรอยุธยาในภาษาพม่า) ที่ยังคงดำรงเผ่าพันธุ์บนแผ่นดินพม่าจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งการนำบุคคลที่มีตัวตนในประวัติศาสตร์ที่น้อยคนจะรู้จักมาเรียงร้อยเข้ากับเรื่องราวให้มีความกลมกล่อม ไม่ว่าจะเป็นเจ้าฟ้ามงกุฎ และเจ้าฟ้ากุณฑล พระราชธิดาในพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ เจ้านายสตรีผู้นิพนธ์บทละครเรื่องอิเหนาใหญ่ และอิเหนาเล็ก แม้จะต้องไปอยู่ที่อังวะก็ยังทรงงานศิลปะเผยแพร่นาฏศิลป์แบบอโยธยา, เจ้าฟ้าอุทุมพร หรือขุนหลวงหาวัด อดีตกษัตริย์ผู้ครองเพศบรรพชิตจนกลายเป็นพระที่คนพม่าเลื่อมใสศรัทธา, หม่องสะ หรือ เมียวดี มินจี อูสะ กวีเอกและนักปราชญ์ของพม่า ผู้แปลอิเหนาเป็นภาษาพม่า และอุบากอง หรือบากอง ทหารเอกของพม่าเชื้อสายไทย ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูฤกษ์ยาม ที่ถูกแต่งเติมเสริมเรื่องราวให้เป็นพระเอกในอดีตชาติ
อีกทั้งยังใส่เกร็ดความรู้ทางประวัติศาสตร์เข้าไปในบทสนทนาได้แบบไม่ดูประดักประเดิด จุดประกายให้อยากหาข้อมูลเพิ่มเติม ผู้เขียนยอมรับว่านี่คือละครที่ทำให้ต้องเปิดดู Google ไปด้วย เพื่อต่อยอดความรู้ที่ต้วเองมี อย่างเรื่องราวของพระเจ้าปดุงแห่งอังวะ (โกวิท วัฒนกุล) ที่กลับมาเกิดเป็นมหาเศรษฐีในชาตินี้แต่ก็เป็นเด็กกำพร้ามาก่อน ซึ่งถ้าลองสืบค้นประวัติก็พอจะรู้ว่าการขึ้นมาครองบัลลังก์ของพระเจ้าปดุงนั้นเป็นอย่างไร และทำไมเมื่อเกิดในภพชาติใหม่จึงไร้ญาติขาดมิตรแบบนั้น ส่วนในแง่วิทยาศาสตร์ในเรื่องไม่ได้นำเสนอภาพการย้อนเวลาเป็นเรื่องอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ แต่มันอาจจะเกิดจากภาพหลอนเพราะความผิดปกติของสมอง หรือแม้กระทั่งเรื่องทฤษฎีของเวลา อย่างในฉากที่ปกรณ์อธิบายว่าแสงของดวงดาวคือแสงจากอดีตดวงดาวที่ดับสูญไปแล้ว รวมทั้งมิติเวลาที่แตกต่างกันเมื่อนุชนาฏเดินทางข้ามไปสู่อดีต
ถึงจะอัดแน่นด้วยข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แต่จากเจ้าพระยาสู่อิรวดีก็ไม่บกพร่องในแง่การเล่าเรื่องทางละคร ยังคงมีเรื่องราวรักโรแมนติกผสมดราม่า ให้เราได้เข้าใจว่าทุกข์ของคนเป็นบ่าวและความทุกข์ของคนเป็นเจ้าก็มีไม่ต่างกัน รวมถึงการดีไซน์ตัวละครให้มีเสน่ห์ อย่างตัวนุชนาฏหรือปิ่น ที่มีความน่ารักสดใสแบบเด็กสาวยุคใหม่, ปกรณ์ หรือบากอง ที่ก๊อต จิรายุดีไซน์ให้บุคลิกของทั้งสองตัวแตกต่างกัน และที่แจ้งเกิดไปเต็มๆ ต้องยกให้กับสองนักแสดงจากพม่า อย่างเดาง์ กับพลังความอบอุ่นไม่แพ้โอปป้าเกาหลี และ นีน ตเว ยูออง อดีตมิสยูนิเวิร์สเมียนมา 2018 ผู้มารับบทสนมมาลา เจ้าหญิงไทใหญ่ผู้ทุกข์ทนอยู่ในราชสำนักอังวะ ที่ทำออกมาได้ดีทีเดียวสำหรับละครเรื่องแรกของเธอ
ถ้าครั้งหนึ่งนาฏศิลป์แบบอโยธยาคือ Soft Power ที่เชื่อมโยงคนต่างชาติต่างภาษาเข้าไว้ด้วยกัน ละครเรื่องจากเจ้าพระยาสู่อิรวดีก็กำลังทำหน้าที่นั้นด้วยการสร้างความเข้าใจใหม่ต่อเพื่อนบ้านอย่างเป็นมิตร รับรองว่าเวลา 12 ชั่วโมง กับ 12 ตอนของละครเรื่องนี้จะให้ทั้งอรรถรสและความรู้อย่างคุ้มค่าเลยทีเดียว ติดตามละครจากเจ้าพระยาสู่อิรวดี ครบทุกตอนได้ทาง www.VIPA.me และ Mobile Application: https://bit.ly/3rJQ7HA
ภาพ: ละครเรื่อง จากเจ้าพระยาสู่อิรวดี