นับตั้งแต่เริ่มมีการซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในรูปของงานศิลปะผ่าน NFT เมื่อปี 2017 ตัวเลขการเติบโตของตลาด NFT ก็พุ่งทะยานไม่หยุด อิงจากรายงานของ Reuters ระบุว่า ตลอดปี 2021 ตลาด NFT มียอดการขายพุ่งไปถึง 1.07 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 3.6 แสนล้านบาท ในขณะที่นักวิเคราะห์ทางการเงินของ Jefferies ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการลงทุนที่มีชื่อเสียงในอเมริกา คาดว่าตลาด NFT จะมีมูลค่าอย่างน้อย 8 หมื่นล้านดอลลาร์ภายในปี 2568 ถึงกับมีการคาดการณ์ว่า NFT จะกลายเป็นตลาดขนาดใหญ่สำหรับคริปโตเคอร์เรนซีก็เป็นได้
เหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาของ NFT ไม่เหวี่ยงเร็วและแรง อาจเพราะมูลค่าการซื้อขายขึ้นอยู่กับข้อตกลงและความพึงพอใจของนักสะสม และวัตถุประสงค์หลักๆ ในการซื้อผลงาน NFT ก็เป็นเรื่องของคุณค่าทางใจ อีกทั้งผลงาน NFT ก็ไม่จำกัดวงแค่งานศิลปะภาพวาดเท่านั้น เมื่อดนตรี เพลง งานกราฟิก วิดีโอ บทความ ฯลฯ ล้วนแปลงเป็นสินทรัพย์ NFT ได้ทั้งนั้น ยิ่งดึงดูดศิลปินทุกแขนงให้กระโดดเข้าร่วมวง ดูอย่างคนดังระดับโลก อาทิ Snoop Dogg, Lindsay Lohan, Eminem หรือนักสเกตบอร์ดชื่อดังก้องโลกอย่าง Tony Hawk ก็นำผลงานของตัวเองมาเปิดประมูล
ตลาด NFT ยังทำให้ค้นพบนักลงทุนและนักสะสมผลงานศิลปะหน้าใหม่มากขึ้น ข้อมูลจาก Sotheby’s บริษัทประมูลผลงานศิลปะที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกจากประเทศอังกฤษ เผยว่า ปี 2021 ยอดประมูลกว่า 1 ร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ มาจาก NFT ซึ่งผู้ประมูลส่วนใหญ่เป็นคนหน้าใหม่ อายุไม่ถึง 40 ปี ข้อมูลดังกล่าวยิ่งทำให้แนวโน้มการเติบโตของตลาด NFT ทั่วโลกแข็งแกร่งขึ้น
หันกลับมาที่ตลาด NFT ในเมืองไทย แม้จะเริ่มต้นได้ไม่นาน แต่ก็ถือว่าออกตัวเร็วและมีแนวโน้มเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ศิลปินไทยไม่น้อยสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำจากผลงาน NFT มองในมุมศิลปิน NFT คือประตูที่เปิดกว้างให้ทุกคนสร้างผลงานบนเวทีโลกได้อย่างเท่าเทียมและไร้ข้อจำกัด เป็นตลาดที่ให้คุณค่าและความสำคัญกับลิขสิทธิ์ และอาจสร้างรายได้ที่มากกว่าการขายงานในรูปแบบเดิมๆ ทำให้ศิลปินไทยกระโดดเข้ามาในตลาด NFT เพิ่มมากขึ้น และการที่ศิลปินไทยสามารถปิดประมูลผลงาน NFT ด้วยตัวเลขหลักล้าน ยังพิสูจน์ได้ว่าผลงานของศิลปินไทยได้รับการยอมรับในตลาดโลก
‘TDAF 2022’ ประตูแห่งโอกาสของศิลปินไทยที่จะพุ่งทะยานไปสู่ตลาด Global NFT
นี่อาจเป็นประตูแห่งโอกาสครั้งสำคัญของวงการศิลปะไทย เมื่อองค์กรยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด, บริษัท ไอคอนสยาม จำกัด, พิพิธภัณฑ์บ้านดำของ ดร.ถวัลย์ ดัชนี ศิลปินแห่งชาติ, KASIKORN X ผู้สร้างสรรค์ Coral แพลตฟอร์ม NFT Marketplace และบริษัท แพลน บี มีเดีย จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยศิลปินไทยชั้นนำที่มีชื่อเสียงระดับโลกอีกกว่า 130 ชีวิต ร่วมกันจัดงาน ‘Thailand Digital Arts Festival 2022’ หรือ TDAF 2022 มหาปรากฏการณ์ครั้งสำคัญกับการสร้างสรรค์งานดิจิทัลอาร์ตครั้งแรกของโลกที่จะนำศิลปะมาบรรจบกับเทคโนโลยี แปลงงานศิลป์กว่า 1,300 ชิ้น ให้กลายเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีมูลค่ามาจัดแสดงในรูปแบบผลงานจริงและรูปแบบไฟล์ดิจิทัล สร้างประเทศไทยให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัลอาร์ตแห่งแรกในภูมิภาคเอเชีย ส่งเสริมศิลปินไทยให้มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในเวทีระดับสากล เพื่อก้าวสู่ตลาด Global NFT
กุญแจสำคัญที่การเจาะตลาด Global NFT มีความเป็นไปได้คือ การรวมตัวกันของศิลปินชั้นนำของเมืองไทยทุกแขนงกว่า 130 ชีวิต ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มศิลปินแห่งชาติและศิลปินชั้นเยี่ยม อาทิ ดร.ถวัลย์ ดัชนี, อ.ประเทือง เอมเจริญ, ศ.เกียรติคุณ ประหยัด พงษ์ดำ ฯลฯ กลุ่มศิลปินชั้นยอดรุ่นใหญ่และศิลปินดาวรุ่ง อาทิ ศ.ถาวร โกอุดมวิทย์, ธงชัย ศรีสุขประเสริฐ, ศักดิ์วุฒิ วิเศษมณี ฯลฯ กลุ่มดาราและอินฟลูเอนเซอร์สาขาที่เกี่ยวข้อง อาทิ ก๊อต-จิรายุ ตันตระกูล, ยิปโซ-อริย์กันตา มหาพฤกษ์พงศ์, มัดหมี่-พิมดาว พานิชสมัย และ ป๊อด โมเดิร์นด็อก ฯลฯ ที่พร้อมใจกันสร้างสรรค์ผลงานมาสเตอร์พีชกว่า 1,300 ชิ้น ครบทุกมิติ ทั้งจิตรกรรม, ประติมากรรม, ภาพพิมพ์, ภาพถ่าย, ดิจิทัลอาร์ต, แอนิเมชัน, กราฟิกดีไซน์, สตรีทอาร์ต, อาร์ตทอย, แฟชั่น, ดนตรี และศิลปะการแสดง ที่มีความหลากหลายของศิลปะและเอกลักษณ์เฉพาะตัวของศิลปิน จะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้ที่สนใจงานศิลปะ นักสะสม นักลงทุนหน้าใหม่ รวมถึงผู้ที่ติดตามผลงานของศิลปินนั้นๆ มาร่วมชมงาน
แน่นอนว่าเราไม่ได้พูดถึงแค่กลุ่มคนในเมืองไทย เพราะคนที่สนใจศิลปะมีอยู่ทั่วโลก งาน TDAF 2022 จึงเปรียบได้กับงานเอ็กซ์โประดับโลกที่สร้างโอกาสใหม่ๆ ให้ศิลปินไทยได้แสดงศักยภาพ ผลักดันโอกาสการเติบโต ต่อยอดผลงานศิลปินไทยให้ได้เป็นที่รู้จักในตลาด Global NFT
เป้าหมายที่ไกลกว่านั้น หากการจัดงานครั้งนี้สามารถกระตุ้นให้ศิลปิน นักสร้างสรรค์ และผู้ที่สนใจเข้าสู่ตลาด NFT มากขึ้น ก็มีแนวโน้มว่าผลงาน NFT ของคนไทยจะเข้าสู่โลกดิจิทัลมากตามไปด้วย บรรดานักสะสมที่ชื่นชอบผลงานของศิลปินเป็นทุนเดิม หรือกลุ่มคนที่เติบโตมาจากการซื้อขายคริปโตก็อาจหันมาจริงจังกับการเป็นเจ้าของผลงาน NFT ก็เป็นได้
และหากมีตลาดกลางที่ช่วยให้การเชื่อมต่อระหว่างศิลปินและนักสะสมศิลปะง่ายขึ้น NFT ไทย คงเจาะตลาด Global NFT ได้ง่ายๆ แค่ไม่กี่คลิก!
Coral by KX แพลตฟอร์ม NFT Marketplace ที่จะมาปลดล็อกโลก NFT เพื่อค้นพบ Limitless Opportunities
อาวุธสำคัญที่จะสร้างโอกาสไร้ขีดจำกัดให้ NFT ไทย เติบโตได้อย่างรวดเร็วในตลาดโลก ยังอยู่ที่แพลตฟอร์มสำหรับซื้อขายสินทรัพย์ NFT อย่าง Coral by KX แพลตฟอร์ม Exclusive NFT Marketplace ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถซื้อขายงานดิจิทัลอาร์ตทั่วโลกแบบไร้ข้อจำกัด ง่าย สะดวก น่าเชื่อถือ และปลอดภัย
ธนะเมศฐ์ อาริยวัฒน์ Head of Venture Builder บริษัท กสิกร เอกซ์ จำกัด กล่าวในงานแถลงข่าว TDAF 2022 ถึงข้อแตกต่างของแพลตฟอร์ม Coral ที่จะมาตอบโจทย์ทุกมิติของวงการศิลปะในรูปแบบสินทรัพย์ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการซื้อขายบนแพลตฟอร์ม Coral นั้นง่ายเหมือนการช้อปปิ้งออนไลน์ เพราะไม่จำเป็นต้องมีกระเป๋าเงินคริปโตให้ยุ่งยากเหมือนแพลตฟอร์มอื่นๆ ตามความตั้งใจที่จะทำให้ Coral เป็นแพลตฟอร์มที่ ‘Super Simple Payment’ จึงสามารถจ่ายด้วยเงินบาทหรือดอลลาร์สหรัฐ หรือชำระผ่านบัตรเครดิต, เดบิต และ Mobile Payment ได้ทันที ถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางของโอกาสที่ไร้ขีดจำกัดให้ศิลปินเข้าถึงคนได้มหาศาล นักสะสมงานศิลปะไทยและต่างชาติก็เข้าถึง NFT ได้ง่ายด้วยเช่นกัน
อีกประเด็นที่ Coral ให้ความสำคัญคือ ความปลอดภัยและความน่าเชื่อถือ ด้วยการคัดกรองศิลปินที่นำงานเข้ามาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มว่าเป็นศิลปินตัวจริง เป็นฟันเฟืองที่จะปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพย์สินทางความสามารถในระยะยาว สร้างความอุ่นใจให้ Collector ว่างานที่ซื้อไปเป็นของแท้
จุดแข็งอีกอย่างของ Coral คือ การเลือกมาตรฐาน ETH ERC-1155 ซึ่งเป็น Global NFT Standard หนึ่งในมาตรฐานที่ใช้กันทั่วโลกสำหรับงานศิลปะชั้นครูและงานศิลปะที่เป็นมาสเตอร์พีซอย่างแท้จริง
ไฮไลต์ของงาน TDAF 2022 ในครั้งนี้ ยังพุ่งประเด็นไปที่การเข้าถึงกลุ่มนักสะสมรุ่นเก่าและใหม่ รวมทั้งการขยายกลุ่มที่คนสนใจ NFT ให้กว้างขึ้น ธนะเมศฐ์บอกว่า KX มองหาความเป็นไปได้ที่จะสร้างความสัมพันธ์ระหว่าง ศิลปิน ศิลปะ และผู้ชม ภายในงาน TDAF 2022 จึงจัด ‘Coral NFT Walls’ ให้ผู้เข้าชมร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโลก NFT ง่ายๆ ด้วยการสแกนดูว่างานศิลปะที่คุณสนใจนั้นคืออะไร ศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานคือใคร ถ้าชอบก็สามารถซื้อได้ทันที และยังสามารถซื้อผลงานทั้งสองรูปแบบได้ภายในงานเดียว
โดยผลงานทั้งหมดจะนำขึ้นบนแพลตฟอร์มของ Coral ภายหลัง เพื่อการันตีว่าผลงานที่นักสะสมซื้อไปเป็นผลงานของจริง ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานมีตัวตน มีบันทึกอยู่ในระบบที่เรียกว่า Blockchain ที่ทุกคนสามารถเข้าไปตรวจสอบได้
ถือได้ว่า Coral จะเป็นประตูสู่โอกาสไร้พรมแดนให้กับศิลปินและนักสะสม ปลดล็อกทุกข้อจำกัดและสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับศิลปินไทยทุกแขนง อีกทั้งยังเป็นแพลตฟอร์มสำคัญที่สนับสนุนศิลปินไทยและเอเชียให้เป็นที่รู้จักไปทั่วโลก
ผู้ที่สนใจอยากสัมผัสพลังแห่งการสร้างสรรค์และร่วมเป็นส่วนหนึ่งของโลก NFT กับงานดิจิทัลอาร์ตครั้งแรกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและในเอเชีย ‘Thailand Digital Arts Festival 2022’ สามารถเข้าร่วมชมงานได้ตั้งแต่วันที่ 5-20 มีนาคม 2565 เวลา 10.00-22.00 น. ณ เจริญนคร ฮอลล์ ชั้น M และ ICON Art and Culture Space ชั้น 8 ไอคอนสยาม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 1338 หรือ www.iconsiam.com
ดูผลงาน NFT ของ 130 ศิลปินได้ที่ https://coralworld.co/
อ้างอิง: