×

เปิดลิสต์รายชื่อแขกโอลิมปิกฤดูหนาวของสีจิ้นผิง กว่าครึ่งเป็นผู้นำเผด็จการ

โดย THE STANDARD TEAM
04.02.2022
  • LOADING...
Xi Jinping

ประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี ประมุขแห่งรัฐ และราชวงศ์ราว 20 คน ได้รับเชิญเข้าร่วมพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ณ นครปักกิ่ง ในวันศุกร์ที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งราวครึ่งหนึ่งของบุคคลสำคัญเหล่านี้มาจากประเทศที่ปกครองโดยผู้นำเผด็จการ และอีกหลายชาติที่ปกครองด้วย ‘ระบอบลูกผสม’ (Hybrid Regimes) หรือกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตย ตามที่มีการจัดกลุ่มโดยดัชนีประชาธิปไตยของ The Economist Intelligence Unit ประจำปี 2020

 

แม้ในรายชื่อผู้เข้าร่วมพิธีเปิดโอลิมปิกที่กระทรวงการต่างประเทศของจีนเปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีผู้นำจากประเทศประชาธิปไตยได้รับเชิญเข้าร่วมด้วย ซึ่งรวมถึงผู้นำสิงคโปร์ อาร์เจนตินา เอกวาดอร์ มองโกเลีย โปแลนด์ และเซอร์เบีย แต่กลับไม่ปรากฏรายชื่อผู้นำประเทศมหาอำนาจประชาธิปไตยของโลก นำโดย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย และแคนาดา เนื่องจากประเทศขั้วประชาธิปไตยเหล่านี้ประกาศคว่ำบาตรทางการทูตต่อมหกรรมโอลิมปิกครั้งนี้ โดยอ้างถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนของปักกิ่ง 

 

ขณะที่ผู้นำอีกหลายชาติ เช่น ผู้นำจากนิวซีแลนด์ เนเธอร์แลนด์ สวีเดน และออสเตรีย ได้ปฏิเสธคำเชิญเข้าร่วมพิธีเปิด โดยให้เหตุผลเรื่องมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวดของจีน

 

ในทางกลับกัน การที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีนจะถูกขนาบข้างด้วยผู้นำต่างชาติอย่าง วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย, เจ้าชายโมฮัมเหม็ด บิน ซัลมาน มกุฎราชกุมารแห่งซาอุดีอาระเบีย และประธานาธิบดีอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซิซี ของอียิปต์ ในระหว่างพิธีเปิดวันศุกร์นี้ ไม่เพียงตอกย้ำระยะห่างที่เพิ่มขึ้นระหว่างจีนกับชาติตะวันตกเท่านั้น แต่ยังเป็นการสะท้อนภาพกลุ่มผู้นำเผด็จการที่เป็นมิตรกับปักกิ่ง

 

ภาพดังกล่าวยิ่งเด่นชัดด้วยการที่สื่อของทางการจีนประโคมข่าวเกี่ยวกับการเยือนปักกิ่งของปูติน ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงเวลาอันตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับสหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ท่ามกลางความกังวลว่ารัสเซียอาจกำลังวางแผนบุกยูเครน

 

ปูติน ซึ่งมีกำหนดเข้าพบกับสีจิ้นผิงในวันศุกร์ (4 กุมภาพันธ์) ได้เผยแพร่จดหมายในสื่อทางการของจีนเมื่อวันพฤหัสบดี (3 กุมภาพันธ์) โดยยกย่อง ‘ยุคใหม่’ ของความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับรัสเซีย โดยชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและพลังงานที่เพิ่มขึ้นระหว่างสองประเทศ อีกทั้งยังกล่าวถึงแผนการหารือในประเด็นสำคัญระดับภูมิภาคและระดับโลกกับผู้นำจีน

 

นอกจากผู้นำประเทศต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้ว คาดว่าผู้นำจีนจะประชุมทวิภาคีและเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงให้แก่บุคคลสำคัญ ซึ่งรวมถึง อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (UN) และ ดร.ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO)

 

ในช่วงไม่กี่เดือนก่อน พิธีเปิดมหกรรมโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้กลายเป็นประเด็นถกเถียงระดับโลก เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศและกลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ ชี้ให้เห็นว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนของชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยมุสลิมอื่นๆ ในซินเจียง ตลอดจนการลิดรอนเสรีภาพในฮ่องกง และความพยายามของจีนที่จะข่มขู่ยึดครองไต้หวัน

 

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เครือข่ายพันธมิตรกว่า 200 องค์กรเรียกร้องให้นานาประเทศร่วมคว่ำบาตรทางการทูตต่อมหกรรมโอลิมปิกที่จีนกำลังจะเป็นเจ้าภาพ

 

“เป็นไปไม่ได้ที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกจะเป็น ‘พลังแห่งความดี’ ตามที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากลอ้าง ในเมื่อรัฐบาลเจ้าภาพกำลังก่ออาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ” โซฟี ริชาร์ดสัน ผู้อำนวยการ Human Rights Watch ประจำประเทศจีน กล่าวในแถลงการณ์

 

องค์กรสิทธิมนุษยชนซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนิวยอร์กยังได้เตือนนักกีฬาที่เดินทางไปเข้าร่วมการแข่งขันให้ระวังการพูดเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนในขณะที่อยู่ในประเทศจีน เนื่องจากเกรงว่าพวกเขาจะมีปัญหากับทางการจีน

 

ทั้งนี้ ปักกิ่งได้ตอบโต้อย่างรุนแรงต่อการคว่ำบาตรทางการทูต โดยระบุว่าเป็นการทำให้การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกกลายเป็นประเด็นทางการเมือง ขณะที่ หวังอี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าวเมื่อปลายปีที่แล้วว่า การคว่ำบาตรทางการทูตจะไม่ส่งผลกระทบต่อการจัดการแข่งขัน

 

“การแทรกแซงทางการเมืองโดยนักการเมืองตะวันตกไม่กี่คนจะไม่ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่ยอดเยี่ยมยิ่งใหญ่ แต่กลับจะเป็นการเปิดเผยเจตนาที่น่าเกลียดของพวกเขาเอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของจีนกล่าว

 

ภาพ: Kenzaburo Fukuhara – Pool / Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X