×

ปัญหา ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ยังคุกรุ่น! ล่าสุดดันราคาข้าวสาลีพุ่ง 7% ส่วนน้ำมันยังคงแพงต่อเนื่องกดดันปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น

01.02.2022
  • LOADING...
ปัญหา ‘รัสเซีย-ยูเครน’ ยังคุกรุ่น! ล่าสุดดันราคาข้าวสาลีพุ่ง 7% ส่วนน้ำมันยังคงแพงต่อเนื่องกดดันปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงขึ้น

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซีย รวมทั้งสหรัฐฯ ที่เข้ามามีบทบาท ล่าสุดยังคงมีความตึงเครียดต่อเนื่อง โดยการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2565 ตัวแทนจากทางรัสเซียและสหรัฐฯ ต่างกล่าวโทษว่าอีกฝ่ายมีส่วนทำให้สถานการณ์ตึงเครียดยิ่งขึ้น 

 

ความกังวลต่อปัญหาความขัดแย้งดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ลงทุนหลายอย่างทั่วโลก โดยหนึ่งในนั้นคือราคาข้าวสาลี ซึ่งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกหลักในสัดส่วนรวมกัน 29% ของโลก 

 

The Wall Street Journal รายงานว่า ช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาข้าวสาลีที่ซื้อขายกันในตลาด Chicago เพิ่มขึ้น 7% มาเป็นเกือบ 8 ดอลลาร์ต่อบุชเชล เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับราคาข้าวสาลีที่ซื้อขายกันที่กรุงปารีสที่เพิ่มขึ้นเกือบ 6% ในช่วงเวลาเดียวกัน 

 

Andrey Sizov กรรมการผู้จัดการ SovEcon บริษัทวิจัยสัญชาติรัสเซีย กล่าวว่า แม้จะเป็นเพียงความขัดแย้งที่ส่งผลกระทบจำกัดก็อาจจะหนุนให้ราคาเพิ่มขึ้นได้ 10-20% 

 

ยูเครนมีชื่อเสียงในฐานะตะกร้าขนมปังของยุโรป แต่แหล่งเพาะปลูกข้าวสาลีที่สำคัญนั้นอยู่ทางใต้และตะวันออก ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ใกล้กับชายแดนรัสเซีย

 

จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน ฝ่ายกลยุทธ์และพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุน สายพัฒนาธุรกิจ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ยูโอบี (ประเทศไทย) มองว่า ความขัดแย้งในขณะนี้อาจจะไม่ลุกลามไปจนถึงขั้นเกิดสงคราม ขณะที่ความกังวลในครั้งนี้เทียบกับเมื่อครั้งความคัดแย้งบนคาบสมุทรไครเมียก็ดูจะรุนแรงน้อยกว่า ขณะที่ผู้คนในพื้นที่ก็พอจะคาดเดาสถานการณ์กันได้บ้าง 

 

แต่ปัญหาหนึ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือเรื่องของเงินเฟ้อสูง กดดันราคาสินค้าด้านพลังงาน ซึ่งเริ่มเห็นสัญญาณมาตั้งแต่ปลายปีก่อนที่ราคาก๊าซในยุโรปเพิ่มขึ้น 20% จากปีก่อนหน้า ภายในเวลาแค่ 1 สัปดาห์ โดยเป็นผลจากการที่รัสเซียและเยอรมนีไม่สามารถเจรจาเรื่องการเปิดท่อส่งก๊าซกันได้ 

 

“หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น หุ้นฝั่งยุโรปก็อาจจะปรับฐานได้อีกสัก 1 รอบ แต่สิ่งที่น่าจะเกิดขึ้นคือ โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่มีแผนจะหารือร่วมกับ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ในสัปดาห์หน้า ซึ่งอาจจะมีข้อเสนอบางอย่างให้กับรัสเซียเพื่อจบปัญหาความขัดแย้ง” 

 

นอกจากนี้ ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนยังเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลต่อราคาน้ำมันและราคาก๊าซให้ปรับขึ้นมาก่อนหน้านี้ หากปัญหานี้จบลงก็มีโอกาสที่ราคาน้ำมันจะลดลงไปได้อย่างน้อย 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบ WTI ยังคงอยู่ในระดับ 88 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 17% จากปลายปีที่ผ่านมา 

 

สำหรับนักลงทุนที่อาจจะพิจารณาเข้าซื้อหุ้นยุโรปที่ปรับฐานลงมาก่อนหน้านี้ และหวังอัปไซด์ระยะสั้น อาจจะมี 2 กลุ่มที่น่าสนใจคือ พลังงานและธนาคาร 

 

“พลังงานเป็นกลุ่มเดียวที่ Outperformed ในปีนี้ แม้จะมีโอกาสขึ้นต่อ แต่ถ้าผิดทางก็มีโอกาสจะถูกขายทำกำไรได้ง่าย ส่วนกลุ่มธนาคารยังเป็นกลุ่มที่ราคาถูก และมีสตอรีคล้ายกับหุ้นธนาคารของสหรัฐฯ ที่วิ่งขึ้นไปก่อน เพราะธนาคารกลางสหรัฐฯ มีทีท่าจะขึ้นดอกเบี้ยแล้ว แต่ธนาคารกลางยุโรปยังไม่ขึ้น หากเศรษฐกิจยุโรปฟื้นตัวและธนาคารกลางมีแนวโน้มจะปลดนโยบายดอกเบี้ยติดลบก็มีโอกาสที่หุ้นธนาคารจะฟื้นได้ในครึ่งปีหลัง” 

 

ด้าน กรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บล.โนมูระ พัฒนสิน มองว่า ปัญหาระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อราคาน้ำมัน และเป็นความเสี่ยงในประเทศแหล่งผู้ผลิตน้ำมัน สะท้อนจากน้ำมันที่ยังสูงขึ้น แต่สถานการณ์ในขณะนี้ยังไม่ได้มีสัญญาณว่าจะรุนแรงไปถึงขั้นสงคราม 

 

ในแง่ผลกระทบต่อตลาดหุ้น โดยเฉพาะตลาดหุ้นยุโรปที่น่าจะได้รับผลกระทบมากสุดหากปัญหาลุกลาม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาต่อการนำเข้าส่งออกพลังงานหรือสินค้าอื่นๆ ซึ่งหากเกิดปัญหาขึ้นจริงก็จะกระทบต่อการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง

 

“ส่วนตัวมองว่ายังไม่ถึงขนาดจะต้องลดสัดส่วนในหุ้นยุโรป เพราะที่ตลาดหุ้นยุโรปยังมีแนวโน้มจะฟื้นตัวได้ดีหลังจากนี้ เทียบกับตลาดหุ้นของประเทศพัฒนาแล้วด้วยกัน แต่สำหรับนักลงทุนที่กังวลต่อภาพระยะสั้นอาจจะลดพอร์ตลงมาบางส่วน” 

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X