×

อ่านกันด่วน! สรรพากรคลอดแล้ว คู่มือคำนวณภาษีคริปโตยาว 32 หน้า แจงวิธีการละเอียดยิบทั้งสำหรับสายเทรด-สายขุด

31.01.2022
  • LOADING...
อ่านกันด่วน! สรรพากรคลอดแล้ว คู่มือคำนวณภาษีคริปโตยาว 32 หน้า แจงวิธีการละเอียดยิบทั้งสำหรับสายเทรด-สายขุด

วันนี้ (31 มกราคม) กรมสรรพากรเผยแพร่คู่มือคําแนะนําการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คริปโตเคอร์เรนซี โทเคนดิจิทัล ความยาว 32 หน้ากระดาษ บนเว็บไซต์ของกรมสรรพากร โดยคู่มือดังกล่าวมีการชี้แจงวิธีการคำนวณเงินได้ที่เกี่ยวข้องกับคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ เช่น 

 

  1. การจําหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล 

 

  1. การขุดคริปโตเคอร์เรนซี 

 

  1. ได้รับคริปโตเคอร์เรนซีเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง 

 

  1. การได้รับคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลจากการให้ หรือได้รับเป็นรางวัล

 

  1. การได้รับผลประโยชน์หรือผลตอบแทนจากการถือครองโทเคนดิจิทัลและคริปโตเคอร์เรนซี

 

ในส่วนของการจําหน่าย จ่าย โอน หรือแลกเปลี่ยนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล คู่มือดังกล่าวระบุว่า การคำนวณภาษีสามารถทำได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ วิธีเข้าก่อนออกก่อน (FIFO) หรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average Cost) และให้คํานวณต้นทุนแยกตามประเภทของเหรียญ ซึ่งหากเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งแล้วจะต้องใช้การคำนวณนั้นตลอดทั้งปี และจะสามารถเปลี่ยนวิธีการคำนวณรูปแบบใหม่ได้ในปีภาษีถัดไป 

 

สำหรับวิธีเข้าก่อนออกก่อน คือการคํานวณต้นทุนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล โดยคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่ซื้อมาก่อนจะขายออกไปก่อนตามลําดับ จึงเป็นผลให้รายการคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่เหลืออยู่ ณ วันสุดท้ายเป็นคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่ซื้อมาครั้งหลังสุด

 

เช่น

นายเอ ซื้อคริปโตเคอร์เรนซี 3 ครั้ง

 

  • วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2564 ปริมาณ 10 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 20 บาท
  • วันที่ 5 มิถุนายน 2564 ปริมาณ 5 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 8 บาท
  • วันที่ 15 ตุลาคม 2564 ปริมาณ 15 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 9 บาท 

 

และขายคริปโตเคอร์เรนซี 2 ครั้ง 

 

  • วันที่ 10 กรกฎาคม 2564 ปริมาณ 10 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 30 บาท 
  • วันที่ 16 พฤศจิกายน 2564 ปริมาณ 16 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 10 บาท 

 

นายเอ จะมีหน้าที่ต้องนําเงินได้จํานวน 121 บาท (100+21) ไปรวมคํานวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 ประเภทเงินได้ 40(4)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร และสําหรับยอดคงเหลือปริมาณ 4 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 9 บาท ยังไม่ถือเป็นรายได้ของปีภาษี 2564

 

ขณะที่วิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ คือการคํานวณต้นทุนคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล แต่ละประเภทจะกําหนดจากการถัวเฉลี่ยต้นทุนของคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลประเภทเดียวกัน ณ วันต้นปีกับต้นทุนของคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลที่ซื้อมาในระหว่างปี ซึ่งคํานวณทุกครั้งที่ซื้อคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัล เช่น 

 

(ต่อเนื่องจากตัวอย่างข้างต้น) ในปีภาษี 2565 นายเอ เปลี่ยนวิธีคํานวณต้นทุนจากวีธีเข้าก่อนออกก่อนมาเป็นวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่ โดยซื้อคริปโตเคอร์เรนซี 1 ครั้ง ในวันที่ 15 มกราคม 2565 ปริมาณ 10 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 16 บาท และขายคริปโตเคอร์เรนซี 1 ครั้ง ในวันที่ 20 มกราคม 2565 ปริมาณ 12 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 17 บาท 

 

นายเอ จะมีหน้าที่ต้องนําเงินได้จํานวน 36 บาท ไปรวมคํานวณเป็นเงินได้พึงประเมินเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภ.ง.ด.90 ประเภทเงินได้ 40(4)(ฌ) แห่งประมวลรัษฎากร และสําหรับยอดคงเหลือปริมาณ 2 เหรียญ มูลค่าเหรียญละ 14 บาท ยังไม่ถือเป็นรายได้ของปีภาษี 2565 

 

ส่วนการคำนวณภาษีจากการขุดนั้น คู่มือของกรมสรรพากรระบุว่า ให้ใช้วิธีเข้าก่อนออกก่อนหรือวิธีต้นทุนถัวเฉลี่ยเคลื่อนที่เช่นเดียวกัน แต่ผู้ยื่นแบบสามารถหักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามความจําเป็นและสมควร เช่น ค่าซ่อมบํารุงคอมพิวเตอร์ ค่าจ้างพนักงาน ค่านายหน้า ค่าไฟฟ้า ค่าอินเทอร์เน็ต ที่เกิดขึ้นจริงในปีภาษี 

 

นอกจากนี้คู่มือดังกล่าวยังได้รวบรวมคำตอบสำหรับคำถามที่พบบ่อยจำนวน 24 คำถาม เช่น

 

การเก็บภาษีจากมูลค่าคริปโตเคอร์เรนซีหรือโทเคนดิจิทัลที่ถืออยู่ หรือต้องเปลี่ยนเป็นเงินบาทก่อนหรือไม่? ในกรณีที่มีการซื้อขายคริปโตเคอร์เรนซี/โทเคนดิจิทัลในต่างประเทศจะต้องเสียภาษีและจะคํานวณอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร 

 

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดวิธีการคำนวณภาษีคริปโตเคอร์เรนซีและโทเคนดิจิทัลในรูปแบบต่างๆ ได้ที่ https://www.rd.go.th/fileadmin/user_upload/lorkhor/information/manual_crypto_310165.pdf

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X