ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการจัดเก็บสถิติกิจกรรมทางเศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคมของ ธปท. โดยวัดจากเครื่องชี้เร็ว Google Mobility พบว่า กิจกรรมการค้าและบริการของกลุ่มธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ขนส่งผู้โดยสาร มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
ขณะที่กำลังซื้อของผู้บริโภคก็เริ่มชะลอตัวลงตามมาตรการกระตุ้นของภาครัฐที่หมดลงและราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนและปัจจัยทางฤดูกาล
ขณะเดียวกันผลสำรวจความกังวลของผู้ประกอบการถึงอุปสรรคที่ทำให้ธุรกิจยังไม่สามารถฟื้นกลับมาเท่ากับช่วงก่อนโควิดได้นั้น พบว่า 52.4% ยังกังวลเรื่องกำลังซื้อที่อ่อนแอ, 42.3% กังวลเรื่องปัญหาการขนส่ง, 33.3% กังวลเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด และ 30.1% กังวลเรื่องคู่ค้าปิดโรงงาน ทำให้ในภาพรวม ธปท. มองว่าปัญหาเรื่องเงินเฟ้อสูง ห่วงโซ่การผลิต และโควิด ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูอย่างต่อเนื่อง
สำหรับตัวเลขเศรษฐกิจไทยในเดือนธันวาคม 2564 พบว่าปรับดีขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน โดยการส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาการหยุดชะงักของภาคการผลิตที่ปรับดีขึ้น ประกอบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเร่งขึ้นหลังการเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน 2564 ขณะที่การใช้จ่ายในประเทศของภาคเอกชนปรับดีขึ้นทั้งการบริโภคและการลงทุน ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมและกิจกรรมในภาคบริการปรับดีขึ้น อย่างไรก็ดี การใช้จ่ายภาครัฐหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปชะลอลงจากราคาพลังงานที่ลดลงตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานทรงตัวจากเดือนก่อน ด้านตลาดแรงงานทยอยปรับดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดกลับมาขาดดุลจากดุลการค้าที่เกินดุลน้อยลงจากการนำเข้าทองคำที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับดุลรายได้ บริการ และเงินโอนขาดดุลมากขึ้น ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์อ่อนค่าลง จากแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นในประเทศอุตสาหกรรมหลัก ประกอบกับมีความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศ
โดยสรุปเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/64 ยังฟื้นตัวจากไตรมาสก่อน โดยเครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ขณะที่การส่งออกสินค้าเพิ่มขึ้นจากทั้งอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัว และปัญหาซัพพลายดิสรัปชันที่ทยอยคลี่คลายลง ซึ่งมีส่วนทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปรับเพิ่มขึ้นหลังเปิดรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
ส่วนทางด้านเครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นตามภาวะอุปสงค์และความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่ฟื้นตัว ขณะที่การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานและราคาอาหารสดเป็นสำคัญ ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่โดยรวมยังคงเปราะบาง ขณะที่ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลน้อยกว่าไตรมาสก่อน
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP