เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา รศ.ดร.ธีระ สินเดชารักษ์ อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงอัตราการเกิดของเด็กไทยที่ลดต่ำลงตอนหนึ่งว่า อัตราเกิดหรือจำนวนเด็กแรกเกิดของประเทศไทยที่ลดลงนั้นเริ่มต้นและลดลงเรื่อยมาเป็นเวลากว่า 40 ปี นับตั้งแต่ช่วงที่มีประชากรเกิดมากกว่า 1 ล้านคนในแต่ละปีราว พ.ศ. 2506-2526 ซึ่งเราเรียกการเกิดเกิน 1 ล้านคนต่อปีในช่วงนั้นว่า ยุค Baby Boom จากนั้นก็เริ่มลดลงจนกระทั่ง พ.ศ. 2564 ซึ่งถือเป็นปีแรกที่มีจำนวนเด็กแรกเกิดต่ำกว่าจำนวนคนที่ตายไป
รศ.ดร.ธีระ กล่าวว่า อัตราการเกิดที่ลดต่ำจนน้อยกว่าอัตราการตายนั้นจะทำให้จำนวนประชากรไทยเริ่มลดลงเรื่อยๆ จนกว่าจะมีจำนวนเด็กแรกเกิดสูงกว่าหรือเท่ากับจำนวนประชากรที่ตายไปอีกครั้ง จึงจะทำให้จำนวนประชากรไทยมีโอกาสที่จะคงที่หรือเพิ่มจำนวนขึ้นได้บ้าง อย่างไรก็ดี จากข้อมูลสถิติผลการสำรวจศึกษาและวิจัยพบว่า แนวโน้มที่อัตราเกิดจะเพิ่มขึ้นในภาวการณ์เช่นปัจจุบันคงเป็นไปได้ยาก เพราะตัวเลขการเกิดที่ลดลง โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องและรวดเร็วเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนหน้า
“พ.ศ. 2554 เรายังมีตัวเลขการเกิดสูงเกือบ 8.5 แสนคน ในขณะที่ 10 ปีผ่านไป ตัวเลขการเกิดต่ำกว่า 5.5 แสนคน หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ตัวเลขการเกิดลดลงมากกว่า 1 ใน 3 โดยใช้เวลาเพียง 10 ปีเท่านั้น อีกทั้งยังมีการคาดการณ์กันอีกด้วยว่า จากจำนวนประชากรไทยในปัจจุบันที่มีไม่ถึง 70 ล้านคนนั้นจะลดลงมาเหลือเพียงครึ่งเดียวคือไม่เกิน 35 ล้านคน หรือคนไทยเราจะหายไปครึ่งหนึ่งเพราะเด็กเกิดใหม่น้อย ในขณะที่มีคนสูงอายุที่จะทยอยกันตายไปตามอายุขัยภายในเวลาไม่ถึง 100 ปี ซึ่งต้องกล่าวว่า ปรากฏการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย ในหลายประเทศก็อยู่ในภาวการณ์เช่นเดียวกัน” รศ.ดร.ธีระ กล่าว
รศ.ดร.ธีระ กล่าวต่อไปถึงผลกระทบระยะสั้นและระยะยาวว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอนจากตัวเลขการเกิดที่ลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง หรือที่ในทางประชากรเราเรียกว่า ภาวการณ์เจริญพันธุ์ที่อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราทดแทน กล่าวคือจำนวนเด็กที่เกิดใหม่ไม่ได้สัดส่วนที่จะทดแทนคนรุ่นพ่อและแม่ได้
สำหรับผลกระทบระยะสั้น
- คนจะลดลง ด้วยตัวเลขการเกิดต่ำกว่าตัวเลขการตาย จำนวนประชากรจึงลดลง ส่งผลให้อะไรก็ตามที่ตระเตรียมไว้สำหรับการรองรับคนจำนวนที่มากขึ้นหรือเพิ่มขึ้นก็จะไม่เป็นเช่นนั้น เช่น สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงมหาวิทยาลัย ธุรกิจร้านค้าและบริการต่างๆ ภาคอุตสาหกรรมรวมถึงเกษตรกรรมจะประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน การลงทุนไปกับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการใช้งานสำหรับคนจำนวนมากๆ จะเสียเปล่า
- ครอบครัวจะเปลี่ยนไป ครอบครัวขยายจะหายไป กลายเป็นครอบครัวเดี่ยวที่อยู่กันไม่กี่รุ่น การอยู่ลำพังและตายจากอย่างโดดเดี่ยวหรือมีแต่เพื่อนญาติห่างๆ จะมีมากขึ้น ตลอดจนความสัมพันธ์ของคนระหว่างรุ่นที่จะถูกถ่างขยายออกมากขึ้นด้วยสาเหตุจากการเลื่อนอายุสมรส การอยู่เป็นโสด หรือความไม่พร้อมในการมีบุตร รวมถึงความต้องการชีวิตส่วนตัวและมีอิสระที่มากขึ้น
- สังคมจะเปลี่ยนแปลง นอกจากความสำคัญของเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิตของผู้คนในสังคมแล้ว การที่คนลดน้อยลงจึงมีความเป็นไปได้ 2 ทาง คือ หากไม่เกิดการรวมกลุ่มใช้ชีวิตทางสังคมร่วมกันมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นการปฏิสัมพันธ์กันบนโลกเสมือนแทนกันมากยิ่งขึ้น สังคมของคนเราจะถูกผลักให้ออกห่างจากกันมากขึ้นด้วยความไม่มีส่วนที่เกี่ยวข้องใดๆ ต่อกันดังเช่นสังคมในอดีตที่ใกล้ชิดผูกพันในเชิงเครือญาติที่ยังพอสืบทราบที่มาได้บ้าง
ในส่วนของผลกระทบระยะยาวนั้นเป็นที่แน่ชัดว่าจะเกิดปัญหาและภาวการณ์หลายสิ่งอย่างที่จะต้องเตรียมการรับมือและพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ได้แก่ การขาดแคลนแรงงาน สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ ปัญหาความมั่นคง ขาดทรัพยากรมนุษย์ในการพัฒนาประเทศ ปัญหาทางเศรษฐกิจ เป็นต้น
“ผมเข้าใจว่ารัฐบาลทุกชุดรับทราบสถานการณ์นี้ดี แต่ยังไม่สู้จะมีนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนและต่อเนื่องเด็ดขาดในการแก้ไขหรือเตรียมพร้อมรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้น จนเมื่อได้เห็นตัวเลขการเกิดที่ลดลงและต่ำกว่าการตายจึงเริ่มที่จะเป็นกระแสอีกครั้ง สิ่งที่สามารถทำได้และหลายประเทศได้ดำเนินการไปก่อนหน้า เช่น การมีนโยบายส่งเสริมการเกิดผ่านมาตรการจูงใจทางภาษี การสนับสนุนให้มีบุตรโดยรัฐดูแลค่าใช้จ่ายในการคลอดและสงเคราะห์บุตร การให้ทุนการศึกษา การให้สิทธิ์การเลี้ยงดูบุตรโดยได้รับเงินเดือนทั้งพ่อและแม่ การส่งเสริมการสร้างสัมพันธ์ทำความรู้จักก่อนเข้าสู่การทำงาน เป็นต้น” รศ.ดร.ธีระ กล่าว
รศ.ดร.ธีระ กล่าวต่อไปอีกว่า การเลื่อนอายุเกษียณเพื่อชะลอการขาดแคลนแรงงาน ตลอดจนการเตรียมความพร้อมในการดูแลตนเองหรือช่วยดูแลในยามสูงอายุผ่านการออมเงิน การลงทุนในการทำประกัน กองทุน หรือรูปแบบอื่นใด เพื่อให้ใช้ชีวิตในยามสูงวัยอย่างมีอัตภาพและคุณภาพ สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นมาตรการหรือนโยบายรัฐที่ใช้กันโดยทั่วไปในต่างประเทศ บางเรื่องไทยเราก็นำมาใช้ภายใต้บริบท เงื่อนไข หลักเกณฑ์ และประโยชน์ที่คาดหวังได้แตกต่างกันออกไป
“แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดโดยส่วนตัวในการตั้งรับและเตรียมรุกสำหรับสถานการณ์นี้คือ กรอบความคิด (Mindset) ต่อการมีบุตร จำเป็นต้องทำให้เกิดความรับรู้และเข้าใจก่อนตัดสินใจจะมีคนรัก มีคู่ครอง จนกระทั่งเป็นคู่ชีวิตที่พร้อมจะสร้างครอบครัวให้เกิดกรอบคิดทางบวกและลบ เพื่อร่วมกันคิดอ่านก่อนการมีบุตร” รศ.ดร.ธีระ กล่าว
ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าทัศนคติต่อการมีบุตรหลายสิบปีที่ผ่านมาถูกป้อนความคิดในเชิงลบ ทั้งในเชิงมโนทัศน์และข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏผ่านสื่อหลักและสื่อสังคมออนไลน์ในปัจจุบัน ชี้ให้เห็นว่า การมีลูกนั้นเป็นทั้งภาระและขาดอิสระ ต้องมีห่วงทั้งหน้าคือเลี้ยงลูกอย่างไรให้เติบโตไปดีมีคุณภาพ และห่วงทั้งหลังคือยังมีพ่อแม่พี่น้องหนี้สินภาระที่ดูแลจะทำอย่างไร ซึ่งความกดดันบีบคั้นทางสังคมที่ถูกสร้างโดยคำว่า ลูกมากยากจน, ไม่มีคู่/ลูกเป็นลาภอันประเสริฐ, รักสนุกแต่ไม่ผูกพัน, มีลูกเหมือนเอาโซ่ตรวนมาคล้องคอ และอีกหลายวลีที่ยังติดตรึงอยู่ในการรับรู้ของคนยุคพ่อแม่ถ่ายทอดสู่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันยังไม่ได้สร่างซาไป
“การปรับเปลี่ยนกรอบความคิดเช่นนี้จึงมีความสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด ไม่เพียงเพื่อให้ประชากรกลับมาอยู่ในภาวะสมดุลหรืออยู่ในระดับภาวะทดแทนได้ หากแต่ยังช่วยให้เห็นสังคมขับเคลื่อนไปข้างหน้าด้วยประชากรที่เกิดมาใหม่นั้นเป็นพลังบวกและเป็นความหวังให้กับคนรุ่นก่อนหน้าได้อีกด้วย แม้ไม่อาจทำให้เปลี่ยนได้ในทันที แต่ต้องเริ่มในทันที” รศ.ดร.ธีระ กล่าว