จากกรณีท่อน้ำมันดิบใต้ทะเลบริเวณอ่าวมาบตาพุด จังหวัดระยอง เกิดการรั่วไหล บริเวณทุ่นผูกเรือน้ำลึกแบบทุ่นเดี่ยวกลางทะเล หรือจุดขนถ่ายน้ำมันในทะเล ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุดไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ประมาณ 20 กิโลเมตร ส่งผลให้มีคราบน้ำมันกระจายกลางอ่าวไทย ตั้งแต่คืนวันที่ 25 มกราคม 2565 นั้น
วานนี้ (27 มกราคม) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ใช้ภาพจากดาวเทียม TerraSAR-X ถ่ายภาพเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2565 เวลา 18.23 น. ติดตามคราบน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดพบคราบน้ำมันลอยแผ่เป็นบริเวณกว้างกว่าเดิม (กรอบสีแดง) คิดเป็นพื้นที่ 47 ตารางกิโลเมตร (29,506 ไร่) หรือกว่า 9 เท่าของเกาะเสม็ด และมีทิศทางเคลื่อนที่ไปทางทิศด้านตะวันออกเฉียงเหนือ (จากจุดเดิม) ซึ่งคราบน้ำมันดังกล่าวอยู่ห่างจากชายฝั่งทะเลของอำเภอเมืองระยอง ประมาณ 6.5 กิโลเมตร และห่างจากเกาะเสม็ด ประมาณ 12 กิโลเมตร และคาดว่าคราบน้ำมันจะขึ้นฝั่งในวันศุกร์ที่ 28 มกราคม 2565 (จุดสีน้ำเงิน และสีส้ม) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งเมืองระยอง ชายหาดแม่รำพึง และพื้นที่ชายหาดใกล้เคียง
โดยข้อมูลจากการวิเคราะห์ ทาง GISTDA จะส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้วางแผน ติดตาม ตรวจสอบในพื้นที่ต่อไป ทั้งนี้ การประเมินคราบน้ำมันจากภาพถ่ายดาวเทียมระบบ SAR (X-Band) เป็นการประมาณจากขอบเขตพื้นที่ ส่วนปริมาตรของน้ำมัน (ความหนาของชั้นน้ำมัน: Oil Thickness) อาจต้องใช้ข้อมูลจากการเก็บข้อมูลในพื้นที่จริง
ทั้งนี้ จากกรณีการพบคราบน้ำมันที่เริ่มเข้าใกล้ฝั่งทะเลเมืองระยอง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ประชาชนในพื้นที่อาจได้รับผลกระทบจากสารเคมีกลุ่มไฮโดรคาร์บอน ซึ่งมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบประสาทส่วนกลาง เมื่อสูดดมเข้าไปหรือสัมผัสทางผิวหนัง ส่งผลให้เกิดอาการระคายเคืองดวงตา ผิวหนัง แสบจมูก แสบคอ คลื่นไส้อาเจียน ปวดศีรษะ หากสูดดมเข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้หมดสติ และส่งผลกระทบในระยะยาวอาจก่อให้เกิดโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีรายงานผู้ที่ได้รับผลกระทบทางสุขภาพ
สำหรับข้อปฏิบัติกรณีน้ำมันรั่วไหลทางทางทะเลมีดังนี้
- หากมีการสัมผัสที่ผิวหนังหรือตา ให้รีบล้างออกด้วยน้ำสะอาด และหากมีการกลืนกินให้รีบดื่มน้ำตามในปริมาณมากๆ และรีบไปพบแพทย์
- ควรเฝ้าระวังและสังเกตอาการตนเองและบุคคลรอบข้าง หากมีอาการข้างต้น หรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์
- ไม่ควรรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนคราบน้ำมัน
- ห้ามนำปลาทะเลหรือสัตว์ทะเลที่ตายและถูกคลื่นซัดขึ้นมาที่ชายหาดมารับประทาน
นอกจากนี้ กรมควบคุมโรคได้ติดตามเฝ้าระวังสุขภาพทั้งกลุ่มเจ้าหน้าที่ คนทำงาน และประชาชนอย่างใกล้ชิด เตรียมความพร้อมลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ สนับสนุนอุปกรณ์ที่คุ้มครองความปลอดภัย และแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ระวังผลกระทบทางสุขภาพ โดยการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง