สถานีโทรทัศน์ CNBC รายงานรวบรวมความเห็นของนักวิเคราะห์ที่ออกมาคาดการณ์ท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่ทางคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) กำลังหารือพูดคุยเกี่ยวกับทิศทางนโยบายการเงินเป็นครั้งแรกของปี 2022 โดยหัวข้อหลักย่อมหนีไม่พ้นการจัดเตรียมมาตรการสกัดกั้นกับภาวะเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ที่เพิ่งจะขยับทำสถิติสูงสุดในรอบหลายสิบปี
ทั้งนี้ ความเห็นของนักวิเคราะห์หลายสำนักล้วนเป็นไปในทิศทางทางเดียวกัน โดยเห็นว่า Fed น่าจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างเร็วที่สุดก็คือในเดือนมีนาคม และบอกใบ้ถึงการปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินที่จะคุมเข้ม รัดกุมมากยิ่งขึ้น สวนทางการใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินในช่วงวิกฤตการระบาดของโควิดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ
หลายฝ่ายมองว่าแถลงการณ์ปิดประชุมของ Fed จะแสดงให้เห็นความตั้งใจของ Fed ที่จะสกัดกั้นเงินเฟ้ออย่างจริงจัง และ Fed พร้อมแล้วที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจากระดับ 0 เปอร์เซ็นต์อย่างเร็วที่สุดภายในเดือนมีนาคม ขณะที่นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า Fed อาจจะไม่ได้แสดงท่าทีสายเหยี่ยวแบบแข็งกร้าว เพราะว่าสถานการณ์ตลาดหุ้นและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ก็ทำให้นักลงทุนและเศรษฐกิจโลกตึงเครียดมากพออยู่แล้ว กระนั้น Fed ก็ไม่มีทางที่จะแสดงท่าทีประนีประนอม อะลุ่มอล่วยแบบสายนกพิราบ เพราะจะไม่เพียงพอที่จะสยบความกังวลของนักลงทุนที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งก็แสดงความกังวลว่า การที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะส่งผลกระทบต่อตลาดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อย่างบราซิล เม็กซิโก แอฟริกาใต้ ตุรกี และอินโดนีเซีย เนื่องจากดอกเบี้ยขาขึ้นของ Fed จะทำให้นักลงทุนแห่ถอนทุนออกจากตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่ ซ้ำรอยเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตในช่วงปี 2013 ที่ Fed เริ่มปรับลดการใช้นโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) และส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย
โดยในครั้งนั้นการที่ Fed หันมาใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดรัดกุม บวกกับการที่ตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่มีปัญหาหนี้ท่วม ทำให้ตลาดกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ตัวอย่างเช่นกรณีของอินเดีย ทันทีที่ Fed ส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย นักลงทุนแห่ถอนทุนออกจากอินเดียมูลค่ารวมมหาศาล เพื่อวิ่งเข้าหาตลาดที่สร้างผลตอบแทนได้มากกว่า ซึ่งกระแสทุนที่ไหลออกราวน้ำรั่ว ทำให้ค่าเงินรูปีร่วงหนัก จนธนาคารกลางอินเดียต้องเร่งแก้เกมด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อป้องกันสภาวะช็อกในตลาด แต่ก็ขัดกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ต้องการแรงกระตุ้น และไม่เป็นผลดีต่อระดับหนี้ของประเทศ
โดยอินเดียไม่ได้เป็นเพียงประเทศเดียวที่ได้รับผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2013 เพราะรัสเซีย บราซิล ตุรกี อินโดนีเซีย และประเทศในกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ขนาดเล็ก ก็ได้รับผลกระทบจากกระแสทุนไหลออกเช่นกัน โดยมีการประมาณการว่าพันธบัตรและหุ้นในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่สูญมูลค่าถึง 10 เปอร์เซ็นต์ในปีดังกล่าว
หลายฝ่ายถามว่าการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในครั้งนี้จะทำให้เกิดภาพซ้ำรอยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตหรือไม่ จากการสอบถามความเห็นของสำนักข่าว Al Jazeera นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ระบุตรงกันว่ามีความเป็นไปได้สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสถานะของสหรัฐฯ ในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจและอิทธิพลเป็นอันดับหนึ่งของโลก รวมถึงการที่ค่าเงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินยอดนิยมในการสำรองเงินตราระหว่างประเทศ
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์อีกฝั่งหนึ่งก็แย้งว่า ตลาดกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่อาจไม่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed ในปี 2013 เพราะบทเรียนในอดีตทำให้หลายประเทศมีการเตรียมพร้อม อีกทั้งสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สถานะทางการเงิน มาตรการ และกฎระเบียบของประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็ปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ดังนั้นผลกระทบจากการขึ้นดอกเบี้ยในครั้งนี้ไม่น่าจะเกินความสามารถในการรับมือของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP