วันนี้ (19 มกราคม) นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ในช่วงที่เนื้อหมูราคาเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคบางกลุ่มหันมาให้ความสนใจบริโภคเนื้อจระเข้ เพื่อเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกมากขึ้น ซึ่งเนื้อจระเข้ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการเพาะเลี้ยงจระเข้นั้นทำได้โดยไม่ต้องสัมผัสกับสารเคมีอันตราย แต่เนื่องจากจระเข้จัดอยู่ในประเภทสัตว์เลื้อยคลาน อาจมีแบคทีเรียปนเปื้อน เช่น เชื้อซัลโมเนลลาทำให้เกิดโรค เช่น ไทฟอยด์ ท้องร่วง และความผิดปกติของระบบย่อยอาหาร จึงควรล้างมือและอุปกรณ์ทุกครั้งก่อนแปรรูปเนื้อสัตว์ เพื่อหลีกเลี่ยงการปนเปื้อนของแบคทีเรีย และปรุงสุกในทุกเมนู งดการกินสุกๆ ดิบๆ
“สำหรับการเลือกซื้อเนื้อจระเข้ที่มีขายตามท้องตลาดควรเลือกเนื้อจากส่วนหาง (บ้องตัน) ถือเป็นส่วนที่ดีที่สุด เนื้อที่ดีควรสด มีสีทึบ ไม่มีกลิ่นเหม็น และควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เมื่อต้องจัดเก็บควรเก็บในช่องแช่แข็งหรือตู้เย็น โดยตู้เย็นรักษาอุณหภูมิตั้งแต่ 5 ถึง 0 องศาเซลเซียส เก็บได้นาน 24 ชั่วโมง แต่ถ้าจัดเก็บที่อุณหภูมิ -4 ถึง 0 องศาเซลเซียสจะสามารถเก็บได้นานเพิ่มขึ้น หากต้องการเก็บไว้นานกว่านั้นควรเก็บในช่องแช่แข็งที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ -12 ถึง -8 องศาเซลเซียส เก็บรักษาได้ 2-4 เดือน ถ้าแช่แข็งตั้งแต่ -24 ถึง -18 องศาเซลเซียส เก็บรักษาได้ 10-12 เดือน การแช่แข็งผลิตภัณฑ์อย่างถูกต้อง เนื้อสดจะต้องถูกตัดเป็นส่วนๆ ห่อด้วยกระดาษฟอยล์ฟิล์มยืดหรือกระดาษพาร์ชเมนต์ เนื้อห่อใส่ถุงแล้วนำไปแช่ตู้เย็น ไม่ควรล้างเนื้อสัตว์ก่อนนำไปแช่แข็ง เพราะจะทำให้อายุการเก็บสั้นลง แต่หากต้องการยืดระยะเวลาออกไปหลายวัน ให้ห่อด้วยกระดาษพาร์ชเมนต์เคลือบด้วยน้ำมันพืช และเมื่อต้องการละลายเนื้อสัตว์ควรใช้วิธีธรรมชาติเพื่อคงสารอาหารไว้ หลีกเลี่ยงการละลายเนื้อในน้ำเดือดร้อน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
ด้าน ดร.พญ.สายพิณ โชติวิเชียร ผู้อำนวยการสำนักโภชนาการ กล่าวเสริมว่า ด้านคุณค่าทางอาหาร เนื้อจระเข้มีพลังงานต่ำ ไขมันน้อย สามารถนำมาปรุงได้หลากหลายวิธี ตั้งแต่การต้มหรือเคี่ยวในน้ำซุป ไปจนถึงปิ้ง ย่าง ทอด และผัด การเลือกบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อเป็นแหล่งโปรตีน ผู้บริโภคควรเลือกบริโภคให้เหมาะกับตัวเอง เพราะเนื้อจระเข้กับสัตว์ประเภทอื่นนั้นมีคุณค่าทางโภชนาการและราคาไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเนื้อจระเข้ 100 กรัม มีพลังงาน 99 กิโลแคลอรี โปรตีน 21.5 กรัม ไขมัน 2.9 กรัม และคอเลสเตอรอล 65 มิลลิกรัม เมื่อนำมาเปรียบเทียบ กับเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ ในปริมาณ 100 กรัม พบว่า
- เนื้อหมู: มีพลังงาน 107 กิโลแคลอรี โปรตีน 22 กรัม ไขมัน 2 กรัม และคอเลสเตอรอล 55 มิลลิกรัม
- เนื้อไก่: มีพลังงาน 145 กิโลแคลอรี โปรตีน 22.2 กรัม ไขมัน 6.2 กรัม และคอเลสเตอรอล 62 มิลลิกรัม
- เนื้อวัว: มีพลังงาน 121 กิโลแคลอรี โปรตีน 21.2 กรัม ไขมัน 4 กรัม และคอเลสเตอรอล 51 มิลลิกรัม
ดังนั้นช่วงที่เนื้อหมูมีราคาแพงนั้น ผู้บริโภคอาจเลือกบริโภคอาหารที่เป็นแหล่งโปรตีนชนิดอื่น เช่น ปลา ไข่ หรือถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ สับเปลี่ยนหมุนเวียนกัน และเพิ่มการบริโภคผักและผลไม้หลากสี ดื่มนมเหมาะสมตามวัย เพื่อให้ได้รับอาหารครบหมู่