วันนี้ (18 มกราคม) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า ตามที่มีข่าวเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย เรื่อง การเกิดโรคตุ่มน้ำพองใสหลังได้รับการฉีดวัคซีนโควิดนั้น ขอชี้แจงว่า ‘โรคตุ่มน้ำพองใส’ เป็นกลุ่มโรคผิวหนังที่พบไม่บ่อย แบ่งออกเป็น 2 โรค คือ โรคเพมฟิกัส มีอุบัติการณ์ 0.5-3.2 รายต่อประชากรแสนคน และโรคเพมฟิกอยด์ อุบัติการณ์ 2-22 รายต่อประชากรล้านคน ทั้งสองโรคมีอาการคล้ายคลึงกันคือ มีตุ่มน้ำพองเกิดขึ้นที่ผิวหนังและเยื่อบุ เมื่อตุ่มน้ำพองแตกจะกลายเป็นแผลถลอกตามร่างกาย อาการของโรคจะเป็นเรื้อรัง มีช่วงที่โรคกำเริบและโรคสงบได้
ทั้งนี้ การเกิดโรคตุ่มน้ำพองใสมีความเป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากผลข้างเคียงหลังได้รับการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งจะพบได้น้อย ในต่างประเทศเคยมีรายงานข้อมูลอาการข้างเคียงทางผิวหนัง ในช่วงเดือนธันวาคม 2563 ถึงเดือนเมษายน 2564 หลังได้รับวัคซีนโควิด พบว่าการเกิดตุ่มน้ำพองใสหลังจากฉีดวัคซีนโควิดชนิด mRNA มี 12 ราย โดย 7 รายหายในระยะเวลาเฉลี่ย 3 สัปดาห์ และอีก 5 รายมีการดำเนินโรคต่อเนื่องต้องเข้ารับการรักษา นอกจากนี้ ยังมีรายงานผู้ป่วยเป็นโรคตุ่มน้ำพองใสหลังฉีดวัคซีนชนิดไวรัสเวกเตอร์ด้วยเช่นกัน
“ปัจจุบันนี้ยังไม่มีข้อมูลทางการแพทย์เพียงพอที่จะสามารถระบุได้ว่า การเกิดโรคตุ่มน้ำพองใสหลังฉีดวัคซีน เป็นเหตุการณ์ที่เกิดร่วมกัน หรือเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากวัคซีน โดยอาจเป็นไปได้ว่าการออกฤทธิ์ของวัคซีนที่กระตุ้นให้เกิดภูมิต้านทานต่อไวรัส เกี่ยวข้องกับการทำงานของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดทีเซลล์ ซึ่งเป็นเซลล์สำคัญในการเกิดโรคผิวหนังหลายชนิด หรือโปรตีนบางอย่างที่เป็นส่วนประกอบของวัคซีน อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาแพ้ภูมิตัวเอง โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัจจัยทางพันธุกรรมในการเกิดโรคอยู่ก่อนแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังส่วนใหญ่มีความคิดเห็นว่า การได้รับวัคซีนโรคโควิดนั้นมีผลดีมากกว่าผลเสีย” นพ.สมศักดิ์กล่าว
ด้าน พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า โรคนี้วินิจฉัยจากประวัติและอาการทางผิวหนัง ร่วมกับการตรวจชิ้นเนื้อทางพยาธิวิทยา ซึ่งมีลักษณะเฉพาะโรค คือการพบการแยกตัวออกจากกันของชั้นผิวหนัง ยาที่ใช้รักษาหลักคือ ยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคมาก หรือมีผื่นในบริเวณกว้างก็จำเป็นต้องได้รับยากดภูมิคุ้มกันชนิดอื่นๆ เช่น ยา Cyclophosphamide หรือยา Azathioprine ร่วมด้วย ในปัจจุบันมีความก้าวหน้าในการรักษาด้วยยาฉีดกลุ่มชีวะโมเลกุล ซึ่งควบคุมโรคได้ดี และมีผลให้โรคสงบได้นาน
พญ.มิ่งขวัญกล่าวเพิ่มเติมว่า การรักษาโรคตุ่มน้ำพองใส ควรรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา และเพื่อช่วยให้การหายของโรคเร็วขึ้น หากสงสัยว่าเป็นโรคตุ่มน้ำพองใส แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนัง และค่ารักษาพยาบาลสามารถครอบคลุมค่ารักษาในระบบสาธารณสุขทั้งประกันสังคม และ 30 บาทรักษาทุกโรค
หากต้องการทราบข้อมูลเกี่ยวกับโรคตุ่มน้ำพองใส สามารถเข้าไปศึกษารายละเอียดได้ที่ www.iod.go.th/category/info