×

สรุปประเด็นร้อน ประกันโควิด ‘เจอ จ่าย จบ’ กลุ่มธุรกิจเจ้าสัวเจริญ ยื่นฟ้อง คปภ. หวังให้บอกเลิกกรมธรรม์ได้

16.01.2022
  • LOADING...
ประกันโควิด ‘เจอ จ่าย จบ’

ดูเหมือนว่าประเด็นข่าวกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ชนิด ‘เจอ จ่าย จบ’ จะยังไม่จบลงง่ายๆ เพราะล่าสุดสองบริษัทประกันภัย คือ บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ที่อยู่ภายใต้ เครือไทย โฮลดิ้งส์ กรุ๊ป (TGH) กลุ่มบริษัทประกันของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ยื่นฟ้อง สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในข้อหา กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

 

ประเด็นการฟ้องร้องครั้งนี้สืบเนื่องจากการที่สุทธิพล ในฐานะเลขาธิการ คปภ. ได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งสรุปแบบเข้าใจง่ายๆ ก็คือ คำสั่งฉบับนี้ ได้สั่งห้ามบริษัทประกันวินาศภัยบอกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 ที่ได้ออกขายไปในช่วงก่อนหน้านี้จำนวนมาก โดยเฉพาะกรมธรรม์ชนิด ‘เจอ จ่าย จบ’ เพราะเกรงว่าจะกระทบต่อผู้ซื้อกรมธรรม์จำนวนมาก

 

ปัญหาดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่กลางปี 2564 หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มทวีความรุนแรง โดยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุหลักหมื่นรายต่อวัน ส่งผลให้ยอดเคลมกรมธรรม์โควิด-19 โดยเฉพาะชนิด เจอ จ่าย จบ พุ่งสูงขึ้นมาก จนบริษัทประกันวินาศภัยบางแห่งที่ออกขายกรมธรรม์ดังกล่าว เริ่มไปต่อไม่ไหวเพราะต้องแบกรับภาระค่าสินไหมทดแทนจำนวนมาก 

 

‘สินมั่นคงประกันภัย’ จุดประเด็นยกเลิกกรมธรรม์เจอ จ่าย จบ

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นจาก เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 บมจ.สินมั่นคงประกันภัย(SMK) ออกมาใช้สิทธิ ‘บอกเลิกกรมธรรม์’ ประกันภัยการติดเชื้อโควิด-19 ชนิด เจอ จ่าย จบ ซึ่งเป็นไปตามแบบและข้อความ หมวดที่ 2 เงื่อนไขทั่วไป และข้อกำหนด ข้อ 2.4.3 และข้อ 2.5.1 โดยให้กรมธรรม์ประกันภัยข้างต้นสิ้นสุดความคุ้มครองทั้งฉบับ เมื่อล่วงพ้นกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่ผู้เอาประกันได้รับหนังสือเป็นต้นไป โดยที่สินมั่นคงฯ จะคืนค่าเบี้ยประกันภัยให้ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์สิ้นผลบังคับใช้

 

การออกมาใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์โควิด-19 ของ สินมั่นคงฯ ทำให้ คปภ. ต้องเรียกประชุมผู้บริหารอย่างเร่งด่วนเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว เนื่องจากมีผลกระทบต่อผู้ซื้อกรมธรรม์จำนวนมาก ซึ่งนำมาสู่การออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น จนในที่สุด สินมั่นคงฯ ต้องแจ้งยกเลิกการบอกเลิกกรมธรรม์ดังกล่าวไปในที่สุด

 

คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 นับว่าส่งผลดีต่อผู้ซื้อกรรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 จำนวนมาก เพราะทำให้มั่นใจได้ว่าจะไม่ถูกบริษัทประกันภัยลอยแพตราบใดที่บริษัทเหล่านี้ยังไม่เจ๊งหรือต้องปิดกิจการไป 

 

แต่สำหรับในมุมของบริษัทประกันภัยแล้ว คำสั่งนี้ถือเป็นเสี้ยนหนามสำคัญที่ทำให้หลายๆ บริษัทเผชิญกับภาวะขาดทุนและปัญหาสภาพคล่อง เพราะต้องหาเงินจำนวนมากมาจ่ายค่าสินไหม จนในที่สุดเริ่มมีบางบริษัทไปต่อไหม่ไหวต้องขอรับการช่วยเหลือจาก คปภ. ขณะที่บางบริษัทเองยอมยกธงขาวปิดกิจการไปในท้ายที่สุด

 

สำหรับบริษัทประกันภัยที่เผชิญผลกระทบอย่างหนักจากกรมธรรม์โควิด-19 ชนิด ‘เจอ จ่าย จบ’ จนไม่สามารถไปต่อได้และต้องปิดกิจการไปมีทั้งสิ้น 2 ราย คือ บมจ.เอเชียประกันภัย 1950 และ บมจ.เดอะวัน ประกันภัย ส่วนบริษัทที่ขอรับมาตรการเสริมสภาพคล่องจาก คปภ. มี 2 บริษัท คือ บมจ.สินมั่นคงประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย 

 

‘โอมิครอน’ ซ้ำเติมธุรกิจประกันภัย

แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงปลายปี 2564 จะเริ่มลดลงจากหลักหมื่นรายต่อวันลงมาเหลือราวๆ 2-5 พันรายต่อวัน แต่ทว่าการเข้ามาของสายพันธุ์โอมิครอนซึ่งแพร่ระบาดได้เร็วกว่าสายพันธุ์เดลตา เริ่มทำให้ผู้ประกอบการบริษัทประกันภัยกลับมาเป็นกังวลอีกครั้ง และนี่อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้ สมาคมประกันวินาศภัย ต้องยื่นอุทธรณ์ไปยังคณะกรรมการ คปภ. เพื่อขอพิจารณายกเลิกคำสั่งนายทะเบียน 38/2564 และ คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 

 

โดยคำสั่งนายทะเบียน 38/2564 ลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2564 เรื่องให้ยกเลิกเงื่อนไขการใช้สิทธิบอกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 เนื่องจาก สมาคมมองว่าผิดหลักการที่เคยปฏิบัติกันมา เพราะการออกคำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัยที่นายทะเบียนเคยให้ความเห็นชอบไว้แล้วก่อนหน้า จะบังคับใช้เฉพาะการออกกรมธรรม์ประกันภัยฉบับใหม่หลังวันที่คำสั่งเปลี่ยนแปลงแก้ไขมีผลบังคับแล้วเท่านั้น 

 

นอกจากนี้ เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้วางบรรทัดฐานไว้ว่า ฝ่ายปกครองไม่มีอำนาจออกกฎหรือคำสั่งทางปกครอง ให้มีผลย้อนหลังที่เป็นโทษหรือเป็นผลร้ายต่อผู้อยู่ภายใต้ปกครอง การให้คำสั่งมีผลบังคับย้อนหลังดังกล่าว ยังถือว่าเป็นการทำลายหลักการบริหารความเสี่ยงของบริษัทประกันวินาศภัย เพราะจะทำให้ภาพความเสี่ยงโดยรวมนั้นต่างไปจากภาพความเสี่ยง ณ วันที่บริษัทประกันภัยได้ยื่นขอรับความเห็นชอบจากนายทะเบียน และจะทำให้อัตราเบี้ยประกันภัยที่ได้กำหนดไว้เดิมไม่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เปลี่ยนไป เนื่องจากเงื่อนไขในการรับประกันภัยได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ และอาจเป็นเหตุให้บริษัทประกันภัยตัดสินใจไม่รับประกันภัยตั้งแต่ต้นหากไม่มีการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวไว้ในกรมธรรม์

 

ส่วนการอุทธรณ์คำสั่งนายทะเบียนที่ 17/2564 ลงวันที่ 12 เมษายน 2564 เรื่อง การรักษาพยาบาลตามกรมธรร์ประกันภัยหรือเอกสารแนบท้าย เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย ซึ่งการอุทธรณ์คำสั่งนี้มีประเด็นสำคัญจากการออกคำสั่งซึ่งได้ขยายความคุ้มครองในกรมธรรม์ประกันภัยที่เคยได้รับความเห็นชอบทั้งเงื่อนไขและอัตราเบี้ยประกันภัยจากนายทะเบียนไปแล้ว ส่งผลให้บริษัทประกันภัยต้องรับผิดชอบความคุ้มครองเพิ่มเติม โดยไม่ได้มีการคำนวณเบี้ยประกันภัยรองรับไว้ตั้งแต่ต้น 

 

ทางด้าน สุทธิพล เลขาธิการ คปภ. ออกมาตอกย้ำในเรื่องดังกล่าวว่า ข้ออุทธรณ์ของสมาคมฯ อยู่ระหว่างพิจารณาโดย คปภ. ซึ่งมีกรอบเวลาพิจารณา 30 วัน ก่อนที่จะเสนอบอร์ด คปภ. เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งทีมกฎหมายได้ดูข้อมูลแล้ว ยืนยันว่า เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ได้มีการย้อนหลังเป็นโทษต่อบริษัทประกันภัยแต่อย่างใด

 

ทั้งนี้ แม้จะมีข้อความที่ให้สิทธิคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดบอกเลิกโดยต้องแจ้งล่วงหน้าเป็นเวลา 30 วัน ก็ไม่ได้หมายความว่าบริษัทจะสามารถบอกเลิกได้ โดยไปอ้างว่ามีความเสี่ยงเปลี่ยนไปหรือจะขาดทุน แล้วบอกเลิกแบบเหมาเข่ง แทนที่จะเลือกวิธีการอื่นที่ไม่เป็นการรอนสิทธิ เนื่องจากแนวทางเช่นนี้ จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคที่บริสุทธิ์เป็นจำนวนมาก 

 

วิบากกรรมของ คปภ. ซึ่งพยายามทำหน้าที่ปกป้องผู้ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยไม่ได้จบเพียงแค่นี้ เพราะล่าสุดสองบริษัทประกันภัยใน ‘เครือไทยโฮลดิ้ง’ กลุ่มบริษัทประกันของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี ได้ยื่นฟ้อง สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ในข้อหา กระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากกรณีออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 

 

โดยเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2565 ศาลปกครองกลางได้รับคำฟ้องคดีปกครอง หมายเลขดำที่ 44/2564 ซึ่งมี บมจ.อาคเนย์ประกันภัย และ บมจ.ไทยประกันภัย ได้ยื่นฟ้อง สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. และต่อมาเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2565 ทั้งสองฝ่ายได้มารับฟังศาลพิจารณาว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ โดยเรื่องนี้ยังคงอยู่ระหว่างรอศาลพิจารณา 

 

‘เครือไทยโฮลดิ้ง’ ของเจ้าสัวเจริญขาดทุนหนักจากกรมธรรม์โควิด-19

สำหรับ เครือไทยโฮลดิ้ง ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสองบริษัทประกันภัยที่ยื่นฟ้อง คปภ. นับเป็นหนึ่งในกลุ่มบริษัทประกันภัยที่โดนผลกระทบจากกรมธรรม์โควิด-19 อย่างหนัก สะท้อนผ่านผลดำเนินงานงวดไตรมาส 3 ปี 2564 ที่ขาดทุนสุทธิกว่า 662 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 89.86 ล้านบาท หรือคิดเป็นผลการดำเนินงานที่แย่ลงถึง 836% ซึ่งเป็นการขาดทุนครั้งแรกในรอบหลายปี โดยสาเหตุสำคัญมาจากกรมธรรม์ประกันภัยโควิดเป็นหลัก 

 

จากการตรวจสอบงบการเงินของเครือไทยโฮลดิ้งพบว่า ในไตรมาส 3 ปี 2564 บริษัทมีรายได้จากธุรกิจประกันภัยรวม 2,499 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 371 ล้านบาท หรือ 17.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน โดยมาจากเบี้ยประกันภัยที่ถือเป็นรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 342 ล้านบาท จากการเพิ่มขึ้นของเบี้ยประกันภัยอุบัติเหตุและสุขภาพ และการปรับสัดส่วนการรับประกันภัยอัคคีภัยรายย่อย โดยรับเสี่ยงภัยไว้เองมากขึ้น 

 

ส่วนค่าใช้จ่ายการรับประกันภัยในไตรมาส 3 ปี 2564 ของกลุ่มธุรกิจประกันภัย เครือไทยโฮลดิ้งพบว่า เพิ่มขึ้น 8,770 ล้านบาท เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของค่าสินไหมทดแทนสุทธิจำนวน 8,150 ล้านบาท และสำรองความเสี่ยงภัยที่ยังไม่สิ้นสุดเพิ่มขึ้น 860 ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าสินไหมทดแทนของการประกันโควิด-19 เป็นส่วนใหญ่ 

 

สำหรับผลดำเนินงานย้อนหลังของเครือไทยโฮลดิ้งส์ พบว่ามีกำไรสุทธิต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 2561-2563

 

ปี 2561 กำไรสุทธิ 998.10 ล้านบาท

ปี 2562 กำไรสุทธิ 304.92 ล้านบาท

ปี 2563 กำไรสุทธิ  728.45 ล้านบาท

 

การยื่นฟ้องศาลปกครองโดยสองบริษัทประกันภัยในเครือไทยโฮลดิ้งส์ ถือเป็นประเด็นที่ผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจ เพราะมีผลกับผู้ถือกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมีรวมกันเกือบ 10 ล้านกรมธรรม์ หากศาลตัดสินว่า คำสั่งนายทะเบียนที่ 38/2564 ของ คปภ. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีโอกาสสูงที่ผู้ถือกรมธรรม์เหล่านี้จะถูกลอยแพ 

 

อ้างอิง:

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X