มีคนเปรียบเปรยการที่สหรัฐอเมริกานำพาตัวเองเข้าไปเกี่ยวข้องกับการสู้รบในสงครามเวียดนามช่วงต้นทศวรรษ 1960 ได้อย่างรวบยอดและชวนให้เห็นภาพมากๆ ว่า “(สงคราม) เวียดนามก็เหมือนการสร้างภาพยนตร์ที่ทุกอย่างระส่ำระสายเกินกว่าจะควบคุม ตั้งแต่งบสร้างมหาศาลบานปลาย คิวการถ่ายทำที่ยุ่งเหยิงวุ่นวาย สถานการณ์ในกองถ่ายเต็มไปด้วยปัญหา ผู้คนในกองถ่ายทะเลาะเบาะแว้ง ขณะที่ในส่วนของสตูดิโอ ผู้กำกับคนแรกเสียชีวิตกะทันหันพร้อมกับสคริปต์ส่วนใหญ่ที่เขารู้อยู่คนเดียวในหัว ผู้กำกับคนที่สองขอเลิกงานกลางคันด้วยภาวะเต็มตื้นและสะอิดสะเอียน ส่วนผู้กำกับคนที่สามยืนยันว่าหนังสร้างเสร็จแล้ว แต่จนแล้วจนรอดก็ยังไม่วายแอบกลับไปถ่ายทำบางฉากเพิ่มเติม”
ส่วนที่ยิ่งฟังดูแย่มากไปกว่านั้นอีก (หากจะช่วยให้การเปรียบเทียบข้างต้นครบถ้วน) ก็ตรงที่ ‘หนังเรื่องนี้’ เมื่อเข้าฉายก็ได้กลายเป็นผลงานแห่งความน่าอัปยศอดสู ทหารผ่านศึกชาวอเมริกันคนหนึ่งพูดทำนองว่า เวียดนามเป็นทั้งบาดแผลและเรื่องน่าขื่นขม ไม่มีใครอยากจะนึกถึงและจดจำความน่าอับอายขายหน้าเมื่อครั้งกระนั้น “เหมือนกับเราอยู่ในครอบครัวที่พ่อเป็นคนติดเหล้า นี่เป็นเรื่องที่เราไม่พูดคุยกัน”
แต่ขณะที่คนอเมริกันในระดับปัจเจกไม่พูดคุยกัน สงครามเวียดนามกลับเป็นเรื่องที่ถูกนำมาถ่ายทอดและบอกเล่าในรูปแบบของการสื่อสารลักษณะต่างๆ นับไม่ถ้วน (หนัง เพลง บทกวี วรรณกรรม ภาพเขียน ฯลฯ) พูดเฉพาะหนังเพียงอย่างเดียว ผลงานทั้งในรูปแบบบันเทิงคดีและสารคดีปรากฏให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และดูประหนึ่งว่าไม่น่าจะหลงเหลือแง่มุมอะไรที่ตกสำรวจหรือไม่ได้รับการกล่าวถึงอีกแล้ว
จนกระทั่งการมาถึงของหนังสารคดีขนาดความยาว 10 ตอน กินเวลาฉายราวๆ 17 ชั่วโมงเรื่อง The Vietnam War (2017) ของนักทำหนังสารคดีชั้นครู เคน เบิร์นส์ (The Civil War, The War) ที่ได้รับการเผยแพร่ทางช่อง PBS ในอเมริกาช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านพ้นไป อย่างไม่มีข้อโต้แย้งหรือสงสัย การเข้าฉายของหนังสารคดีเรื่อง The Vietnam War ซึ่งใช้เวลาในการผลิตยาวนานถึง 10 ปี โดยเห็นได้ชัดว่าการต้องใช้ความบากบั่นอย่างแสนสาหัสในการค้นคว้าข้อมูลก็กลายเป็นเหตุการณ์สำคัญในตัวมันเอง และคุณค่าของตัวผลงานก็จำกัดความเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากบอกว่า นี่เป็นหนังสารคดีระดับมาสเตอร์พีซ
กระนั้นก็ตาม เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าหลายคนคงรู้สึกเหมือนๆ กันว่าเคน เบิร์นส์ และลินน์ โนวิก ในฐานะผู้กำกับร่วม มาทำอะไรเกี่ยวกับสงครามเวียดนามเอาป่านนี้ เมื่อสงครามจบไปแล้วกว่า 4 ทศวรรษ
แต่หากจะย้อนไปอ้างถึงประโยคของทหารผ่านศึกข้างต้น นี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการเปิดโอกาสให้แต่ละคนที่เกี่ยวข้องได้พูดถึง ‘พ่อขี้เมา’ เนื่องเพราะกาลเวลาที่ผ่านพ้นไปน่าจะช่วยทำให้ความอักเสบกลัดหนองของบาดแผลเจือจาง แต่ก็อีกนั่นแหละ น่าเชื่อว่าสิ่งที่ผู้ชมจะค้นพบและเรียนรู้เป็นลำดับแรกๆ ก็เป็นอย่างเดียวกับที่ วิลเลียม ฟอล์กเนอร์ นักเขียนนามอุโฆษเคยเขียนไว้ นั่นคือนอกจากอดีตไม่ได้ตายไปแล้ว อดีตก็ยังไม่แม้กระทั่งผ่านพ้น (The past is never dead, it’s not even past.) หรืออีกนัยหนึ่ง มรดกของความขัดแย้งและบาดหมางจากเหตุการณ์ครั้งกระนั้นก็ยังคงตกทอดและสืบเนื่องจนถึงปัจจุบัน พูดง่ายๆ ว่าอเมริกาที่ถูกแบ่งออกเป็นสองฝักสองฝ่ายในเวลานี้ก็เสมือนมีเหตุการณ์เมื่อครั้งกระนั้นเป็นเชื้อเพลิงหล่อเลี้ยง
ในแง่ของกรอบการเล่าเรื่อง หนังสารคดีของเบิร์นส์และโนวิกจับความตั้งแต่เมื่อครั้งที่เวียดนามตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสช่วงศตวรรษที่ 19 และแทนที่ความพ่ายแพ้ของฝ่ายหลัง ณ สมรภูมิเดียนเบียนฟูช่วงกลางทศวรรษที่ 1950 อันถือเป็นจุดสิ้นสุดของยุคล่าอาณานิคมจะทำให้เวียดนามได้รับอิสรภาพ ประเทศกลับถูกผ่าออกเป็นสองท่อน อันได้แก่ ฝ่ายเหนือ และฝ่ายใต้ ในท่ามกลางบรรยากาศของสงครามเย็นที่ตลบอบอวลซึ่งเป็นความขัดแย้งรอบใหม่ของการเมืองโลกตอนนั้น และตรงไหนสักแห่งแถวนี้เองที่อเมริกาในฐานะประเทศมหาอำนาจใหม่ก็ยื่นจมูกมาเกี่ยวข้อง
จริงๆ แล้วเหตุการณ์น้อยใหญ่ตามที่ได้รับการบันทึกในประวัติศาสตร์ของสงครามเวียดนามก็เป็นอะไรที่ผู้ชมสามารถกูเกิลได้ในอินเทอร์เน็ต หรือหาคลิปดูได้ในยูทูบ ซึ่งก็มีอยู่อย่างดาษดื่น และพวกเราไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงติดตามสารคดีที่อาจจะต้องอดตาหลับขับตานอนถึงเพียงนี้ แต่ความสำคัญและจำเป็นของหนังสารคดีเรื่องนี้อยู่ตรงที่ ในบรรดาจิ๊กซอว์น้อยใหญ่ที่เรียงร้อยอยู่ในหนังอย่างเป็นระบบระเบียบล้วนแล้วแต่มีที่มาที่ไปและตื้นลึกหนาบาง อีกทั้งเมื่อประกอบเข้าเป็นภาพใหญ่แล้วก็ยิ่งช่วยทำให้เรามองเห็นและเข้าใจประวัติศาสตร์หน้านี้ด้วยสายตาที่แจ่มกระจ่างมากขึ้น ว่าไปแล้ว ความกว้างและความลึกของหนังสารคดีเรื่องนี้เทียบเคียงได้กับสารานุกรม และเนื้อหาที่อัดแน่นซึ่งสามารถช่วยให้ผู้ชมที่รู้เรื่องสงครามเวียดนามและการเมืองช่วงนั้นอย่างงูๆ ปลาๆ กลายเป็นผู้ที่ได้รับการเปิดหูเปิดตาอย่างกว้างไกล
แต่ส่วนที่ทำให้หนังสารคดีของเบิร์นส์มีสัมผัสที่พิเศษและไม่เหมือนกับหนังสารคดีในแนวทางคล้ายคลึง หรืออย่างน้อยก็เป็นแง่มุมที่ช่วยให้ตัวหนังหลุดพ้นจากการเป็นสารคดีที่ดูแห้งแล้งและไกลตัว ได้แก่ การที่มันไม่ได้โฟกัสไปที่การสู้รบในสมรภูมิเพียงอย่างเดียว หรือเน้นหนักแต่เรื่องของการวางหมากในเชิงยุทธวิธีของเหล่าผู้นำ และผู้ชมรับรู้ความเป็นมาเป็นไปของสงครามผ่านเรื่องราวส่วนบุคคลของใครต่อใครที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบโดยตรง แน่นอนว่าจำนวนหนึ่งได้แก่บรรดาทหารผ่านศึกหลายต่อหลายคน ผู้ซึ่งดูเหมือนว่ากาลเวลาที่ผ่านพ้นไปแล้วแสนนานไม่ได้กำราบปีศาจร้ายในห้วงคำนึงที่ยังคงตามหลอกหลอนทุกจังหวะและโอกาสที่เอื้ออำนวย สามารถพูดได้เต็มปากว่าไม่มีใครกลับจากสงครามในสภาพที่ครบถ้วนสมบูรณ์ ทั้งหมดล้วนบอบช้ำและบุบสลายทั้งในทางร่างกาย และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทางจิตใจ อย่างชนิดที่พวกเขาต้องอยู่กับมันไปจนวันตาย
อีกส่วนหนึ่งที่ทำให้หนังสารคดีเรื่องนี้ผิดแผกแตกต่าง ไม่มีใครเหมือน และไม่เหมือนใครก็ตรงที่ ‘เรื่องเล่าส่วนบุคคล’ มาจากแทบทุกสารทิศของความขัดแย้ง ไม่จำกัดแต่เฉพาะของฝ่ายอเมริกันเพียงอย่างเดียว ซึ่งจริงๆ แล้วก็แบ่งออกเป็นหลายขั้ว (ทั้งฝ่ายสนับสนุนและต่อต้านสงคราม) และแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาที่ผู้ชมจะได้ยินได้ฟังทัศนะและมุมมองความคิดของฝ่ายเวียดนามเหนือ รวมไปถึงเวียดกง หนึ่งในผู้ถูกสัมภาษณ์ที่เป็นอดีตทหารเวียดกงซึ่งปรากฏตัวในตอนที่ 2 น่าจะสร้างความอึดอัดคับข้องให้กับผู้ชมโดยเฉพาะชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อย เมื่อเขาเล่าชัยชนะในสมรภูมิแห่งหนึ่งด้วยอารมณ์สะใจและลิงโลด (ที่ได้ฆ่าศัตรู) และนั่นเป็นความรู้สึกที่ขัดแย้งกับอดีตทหารอเมริกันซึ่งอยู่ในสมรภูมิเดียวกันที่พูดถึงการต้องสูญเสียเพื่อนรักอย่างน่าเวทนา
แต่หนังของเบิร์นส์และโนวิกก็ไม่ได้มองความขัดแย้งด้วยสายตาที่ตื้นเขินหรือต้องการประโคมแง่มุมทางด้านดราม่าอย่างฉาบฉวย และสิ่งที่ผู้ชมสรุปได้จากเรื่องเล่าส่วนบุคคลของทุกฝ่ายก็เป็นสิ่งที่อนุมานสันนิษฐานได้ไม่ยากเย็น สงครามอาจจะลงเอยด้วยชัยชนะของกองทัพเวียดนามเหนือ พวกเขาสามารถรวมประเทศได้สำเร็จลุล่วง และความพ่ายแพ้อย่างหมดรูปตกเป็นของประเทศยักษ์ใหญ่อย่างอเมริกา แต่จนแล้วจนรอด ไม่มีใครเป็นผู้ชนะที่แท้จริง กองทัพเวียดนามเหนือเผชิญกับความสูญเสียอย่างแสนสาหัสพอกัน (ข้อมูลระบุว่ามีคนตายในความขัดแย้งสิริแล้ว 3 ล้านคน) หนึ่งในทหารที่รอดชีวิตกลับบ้านทั้งๆ ที่แม่ของเขานึกว่าเขาตายไปแล้วเล่าว่า เขาและครอบครัวไม่กล้าเฉลิมฉลอง เพราะคนหนุ่มรุ่นราวคราวเดียวกันอีก 6 คนที่อาศัยอยู่ในห้องพักใกล้กันล้วนเสียชีวิตในสงคราม
มีประเด็นทางเทคนิคเกี่ยวกับหนังสารคดีเรื่องนี้ที่ควรกล่าวถึง นั่นคือปกติแล้ว บรรดาฟุตเทจหรือภาพเหตุการณ์ที่หนังสารคดีทำนองนี้เลือกใช้มักจะเป็นภาพที่พร่ามัว สีสันเลอะเลือน เกรนภาพหยาบกระด้าง ระดับแสงไม่สม่ำเสมอ และมีรอยขีดข่วนมากมาย ข้อน่าสังเกตก็คือภาพเคลื่อนไหวและภาพนิ่งเกินกว่าครึ่งค่อนในหนังสารคดีเรื่องนี้เหมือนกับได้รับการซ่อมแซมและบูรณะก่อนที่จะนำมาใช้งาน ในหลายๆ กรณีมีทั้งการแก้สีและเติมเสียงบรรยากาศ (เสียงปืน เสียงระเบิด เสียงเฮลิคอปเตอร์ ฯลฯ) ผลลัพธ์ก็คือแท็กติกเหล่านี้สร้างความรู้สึกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ดำรงอยู่ในอีกมิติหนึ่งของกาลเวลา ความสดใส สว่างไสว และคมชัดของ ‘เอกสารทางประวัติศาสตร์เหล่านั้น’ ทำให้เส้นแบ่งระหว่างการเป็นเหตุการณ์ในอดีตอันไกลโพ้นกับโลกปัจจุบันของผู้ชมเลอะเลือน และคงต้องบอกกล่าวอย่างเป็นกิจจะลักษณะว่าหนังเต็มไปด้วยภาพที่รุนแรง และความละเอียดของภาพในระดับหลายล้านพิกเซลก็ยิ่งทำให้สิ่งที่ได้เห็นทั้งหนักหน่วงและกัดกร่อนความรู้สึกอย่างแสนสาหัส
กล่าวในที่สุดแล้ว พวกเราในฐานะผู้ชมเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและจากสิ่งที่หนังบอกเล่า คำตอบก็คือมากมายมหาศาล อย่างหนึ่งที่แน่ๆ นี่เป็นสงครามแห่งความดื้อรั้นและดันทุรัง เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าการบาดเจ็บล้มตายคงจะไม่พุ่งสูงขนาดนี้ หากผู้นำมีความกล้าหาญที่จะตัดไฟตั้งแต่ต้นลม ไม่ใช่ปล่อยให้มันวุ่นวายยุ่งเหยิงมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหมายความโดยอ้อมว่าพวกเขาไม่ได้คำนึงถึงสวัสดิภาพของคนที่มีสถานะเป็นเบี้ยบนกระดาน สิ่งที่ชวนให้เศร้าหนักขึ้นก็คือการบาดเจ็บล้มตายของคนจำนวนมากเป็นผลพวงมาจากการไม่พูดความจริง หรือการโป้ปดมดเท็จของนักการเมืองที่มุ่งหวังให้ตัวเองได้รับการเลือกตั้งครั้งถัดไป เหนืออื่นใด นี่เป็นสงครามแห่งการตัดสินใจที่ผิดพลาด พูดเฉพาะฝ่ายของอเมริกัน ความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นตั้งแต่การนำตัวเองมายุ่งเกี่ยวกับสงครามอย่างถลำลึกในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960 จนกระทั่งถึงวาระสุดท้ายที่เฮลิคอปเตอร์นำนาวิกโยธินอเมริกันกลุ่มหลังสุดออกจากสถานทูตในเดือนเมษายน ปี 1975
ว่าไปแล้ว ความผิดพลาดนี้ป้องกันได้ หากพวกอเมริกันจะถามพวกฝรั่งเศสสักหน่อยว่าเป็นมาอย่างไรพวกเขาถึงได้ถอนตัวออกจากเวียดนามในช่วงทศวรรษที่ 1950 หรืออีกนัยหนึ่ง หายนะที่เกิดขึ้นอาจสรุปได้ด้วยข้อความสุดท้ายของหัวหน้าซีไอเอในไซง่อนที่ส่งไปถึงกรุงวอชิงตัน ก่อนประเทศเวียดนามใต้จะล่มสลายในอีกไม่กี่ชั่วโมง
“การไม่เรียนรู้จากประวัติศาสตร์ย่อมจะนำไปสู่การเกิดซ้ำรอย”
ไม่มากไม่น้อย นี่เป็นหนังสารคดีที่ผู้ชมสามารถอาศัยเป็นอุทาหรณ์และบทเรียน
The Vietnam War (2017)
กำกับ: เคน เบิร์นส์, ลินน์ โนวิก
เสียงบรรยาย: ปีเตอร์ ไคโยตี