กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไป เดือนธันวาคม 2564 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 2.17% (YoY) แต่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 0.38% จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่สูงน้อยกว่าที่ควรจะเป็น เนื่องจากมาตรการตรึงราคาน้ำมันของภาครัฐ ขณะที่สินค้าในกลุ่มอาหารสด อาทิ ราคาผักสดยังอยู่ในระดับสูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน เนื้อสุกรและไข่ไก่ปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการเลี้ยง โดยเฉพาะราคาเนื้อสุกรปรับเพิ่มตามค่าบริหารจัดการโรคระบาดในสุกร
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของกระทรวงพาณิชย์พบว่า โรคระบาดในสุกรขณะนี้คือโรคอหิวาต์แอฟริกา (African swine fever) ซึ่งไม่มีวัคซีนและยารักษา ทำให้ฟาร์มเลี้ยงต้องใช้วิธีฆ่าสุกรเพื่อควบคุมโรคเท่านั้น ส่งผลให้ผลผลิตของฟาร์มขนาดเล็กได้รับความเสียหาย 40-50% ขณะที่ฟาร์มขนาดใหญ่ได้รับความเสียหายราว 30% ทำให้ราคาขายเนื้อสุกรในตลาดปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก
นอกจากสินค้าข้างต้น กระทรวงยังพบว่าน้ำมันพืช กับข้าวสำเร็จรูปและข้าวราดแกง ก็มีราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนและวัตถุดิบ อย่างไรก็ตาม ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว ผลไม้สด เสื้อผ้า ค่าเช่าบ้าน ค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมการศึกษายังคงปรับลดลง ส่วนสินค้าอื่นๆ อาทิ เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด และของใช้ส่วนบุคคลยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่ปกติ สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจและปริมาณผลผลิต
รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุว่า เงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนธันวาคม สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจสำคัญหลายตัว ด้านอุปสงค์ ได้แก่ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ทั้งการจัดเก็บจากการใช้จ่ายภายในประเทศและจากการนำเข้า รวมทั้งการส่งออกสินค้าที่ยังคงขยายตัวได้ดีและต่อเนื่อง ด้านอุปทาน ได้แก่ อัตราการใช้กำลังการผลิต และดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่ยังคงขยายตัวได้ดี
ด้านเงินเฟ้อพื้นฐาน เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก ในเดือนธันวาคมทรงตัวที่ 0.29% (YoY) เท่ากับเดือนก่อน ขณะที่เงินเฟ้อทั่วไป เมื่อเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2564 ลดลง 0.38% (MoM) เฉลี่ยทั้งปี 2564 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้น 1.23% (AoA)
สำหรับภาพรวมเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยทั้งปี 2564 สูงขึ้น 1.23% ใกล้เคียงกับที่กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าจะขยายตัวในช่วง 0.8-1.2% และเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมอาหารสดและพลังงาน) สูงขึ้น 0.23% ซึ่งขยายตัวเท่ากับปีก่อน โดยปัจจัยบวกที่ส่งผลต่อเงินเฟ้อในปี 2564 ได้แก่
- น้ำมันเชื้อเพลิง จากอุปทานที่ไม่สมดุลกับอุปสงค์ของโลกที่เริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันสูงขึ้น
- ราคาผักสดเพิ่มสูงขึ้น จากปริมาณผลผลิตลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และผลผลิตที่ต่ำกว่าปีก่อน
- เครื่องประกอบอาหาร อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน ราคาปรับสูงขึ้นตามต้นทุนวัตถุดิบ
ส่วนปัจจัยลบ ได้แก่ ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว และผลไม้สด จากการแพร่ระบาดของโควิด ส่งผลให้อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศชะลอตัวลง รวมถึงผลผลิตมีปริมาณมากเมื่อเทียบกับปีก่อน
นอกจากนี้ มาตรการช่วยเหลือของภาครัฐส่งผลให้ค่าสาธารณูปโภค ค่าเล่าเรียน และค่าธรรมเนียมการศึกษาลดลง ส่วนหมวดอื่นๆ เคลื่อนไหวในทิศทางปกติ
สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยด้านอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศจะได้รับแรงสนับสนุนจากการท่องเที่ยว การส่งออกสินค้า การผลิต และอุปสงค์ด้านพลังงาน รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ส่งผลดีต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชน
โดยอุปทานที่จะส่งผลต่อเงินเฟ้อ ได้แก่ แนวโน้มการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิต การขนส่ง เงินบาทที่อ่อนค่าลง และการขาดแคลนแรงงาน ส่งผลต่อภาคการผลิตและสินค้าในหมวดอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยและแนวโน้มเหล่านี้ยังมีความเสี่ยงและมีโอกาสผันผวน รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของไทยอาจจะได้รับแรงกดดันจากโควิด ซึ่งจะกดดันให้เงินเฟ้อของไทยขยายตัวได้อย่างจำกัด
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 จะเคลื่อนไหวในกรอบ 0.7-2.4% โดยมีค่ากลางที่ 1.5% ซึ่งเป็นอัตราที่น่าจะสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ และช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างเหมาะสม
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP